ต่างชาติชะลอลงทุนไทยฉุดยอดขายนิคมฯปี49ลดวูบ


ผู้จัดการรายวัน(5 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมนิคมฯร้องจ้าก คาดยอดขายที่ดินในนิคมฯปีนี้หดเหลือ 3,500 ไร่ ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มียอดขายถึง 4,000ไร่ ผลพวงต่างชาติแตะเบรกลงทุนในไทย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง เตือนรัฐเร่งส่งทีมชี้แจงนักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อดึงความเชื่อมั่นก่อนเสียให้ประเทศคู่แข่ง

นายทวิช เตชะนาวากุล เลขาธิการ สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯได้ปรับลดตัวเลขประมาณการณ์ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปีนี้ไว้ที่ 3,500 ไร่ ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะนิคมอุตสาหกรรมจะขายที่ดินได้เพิ่มขึ้นเแตะ 4,500 ไร่ และต่ำกว่าตัวเลขยอดขายที่ดินในนิคมฯเมื่อปี 2548 ที่สูงถึง 4,000 ไร่ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่านักลงทุนต่างชาติได้ชะลอการลงทุนในไทย สืบเนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากกว่านักลงทุนชาติอื่นๆ

โดยปลายปี 2548 ญี่ปุ่นมีสัญญาณจะลดการลงทุนในจีนมายังประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่น แต่สถานการณ์การเมืองไทยอยู่ในช่วงสูญญากาศ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นก็รอมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และไม่สามารถรอต่อไปได้อีกเพราะไม่รู้สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งจะมีทิศทางอย่างไร จึงได้หันไปลงทุนที่เวียดนามหรืออินเดียแทน จึงเป็นเรื่องที่เสียโอกาส และน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่นก็ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะยานยนต์เป็นระบบคลัสเตอร์ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบ แต่การลงทุนที่อาจจะหดหายไปบ้าง คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของต่างชาติค่อนข้างมาก ดังนั้นหากการลงทุนซบเซา ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเดิมการลงทุนต่างชาติจะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนในภาครัฐ เช่นเมกะโปรเจ็กต์ได้ชะลอไป รวมทั้งมีปัญหาเงินทุนต่างชาติไหลออกทำให้ตลาดหุ้นถดถอย

"ในช่วงครึ่งปีแรกยอดขายนิคมฯไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังน่าจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเร่งจัดทีมงานไปชักชวนญี่ปุ่นและชาติต่างๆเข้ามาลงทุนในไทย โดยชี้แจงปัญหาทางการเมืองไทยให้แยกออกจากการลงทุน และหาทางแก้ไขให้ชัดเจนยิ่งขึ้น "

นายทวิช กล่าวต่อไปว่า จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาขายที่ดินในนิคมฯคงเกิดขึ้นได้ยากนับจากนี้ไป เพราะผู้ประกอบการนิคมฯต่างต้องการดันยอดขายให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการลดราคาหรือยืดเวลาชำระค่าที่ดินให้กับลูกค้าจะเป็นตัวหนึ่งที่จูงใจนักลงทุนได้

"ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาที่ดินเปล่าจะลดลง เพราะไม่มีใครอยากแบกที่ดินจำนวนมาก เหตุต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจ่ายมากตามไปด้วย ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ผู้ประกอบการนิคมฯต้องการที่ขายที่ดินออกไป เพื่อถือเงินสดเอาไว้"นายทวิชกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.