กองทุนผวาต่างชาติทุบหม้อข้าวสูบเงินนักลงทุนสถาบันลุยตปท.


ผู้จัดการรายวัน(5 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต.แบะท่าเปิดทางโบรกฯต่างชาติสูบเงินนักลงทุนสถาบันอย่าง “กบข.-สปส.”ที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้สบายใจเฉิบ วงการกองทุนรวมจวกยับถือเป็นการทุบหม้อข้าวบลจ.ในประเทศ และทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากบลจ.ในประเทศยังไม่มีความพร้อมในการเปิดเสรีธุรกิจกองทุนรวม

แหล่งข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งหนังสือเวียนถึงบลจ. กองทุนส่วนบุคคล กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนประกันสังคม (สปส.) เพื่อขอให้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องการกำหนดลักษณะของการจัดการลงทุนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนสถาบันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดสรรวงเงินหรืออนุญาตให้นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ สามารถกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความคล่องตัวในการลงทุน

ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ IOSCO สามารถเข้ามาติดต่อชักชวนกับผู้ลงทุนสถาบันให้มอบหมายให้จัดการลงทุนด้วยการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ โดยผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

“ก.ล.ต.กำลังแง้มประตูให้โบรกเกอร์ต่างชาติ เข้ามาบุกธุรกิจกองทุนในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานในประเทศไทย หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต. ซึ่งจุดนี้ทำให้บลจ.ในประเทศมีความเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญในการออกไปรุกธุรกิจในต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่โบรกเกอร์ต่างประเทศเข้ามาบุกธุรกิจในประเทศไทย”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากการทำเฮียริ่งครั้งนี้ของก.ล.ต.ผ่าน และเปิดทางให้โบรกเกอร์ต่างประเทศ เข้ามาตั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และนำเงินของนักลงทุนสถาบันอย่าง กบข. หรือสปส. ไปลงทุนต่างประเทศ โดยตรงแทนที่จะผ่านบลจ.ในประเทศ จุดนี้จะสร้างความเสียเปรียบให้บลจ.ในประเทศเป็นอย่างมาก และเป็นการขัดกับนโยบายของก.ล.ต.ที่ต้องการส่งเสริมให้บลจ.ในประเทศ มีการร่วมมือกับโบรกเกอร์ต่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีในการบริหารสินทรัพย์ เพราะต้องยอมรับว่าในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่ ธปท. ได้อนุมัติวงเงินกองทุน FIF ให้บลจ.ทั้งระบบสามารถนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้ผ่านวงเงินกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในปีที่ผ่านมา บลจ.ทั้งระบบมีการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศแล้วประมาณ 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือวงเงินที่อนุมัติจัดสรรปีนี้ 245 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก.ล.ต.ได้อนุมัติไปแล้วก่อนหน้า และวงเงินจะหมดในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำไปรวมกับวงเงินกองทุน FIF ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุญาตธปท. เพื่ออนุมัติวงเงินในปี 2549 ซึ่งสมาคมบลจ.ขออนุมัติวงเงินในส่วนของกองทุนรวมเพิ่มเป็น 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ความคืบหน้าล่าสุดในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล คณะทำงานของสมาคมบลจ.ได้ หารือกับเลขาธิการก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติวงเงินกองทุนส่วนบุคคลไปลงทุนต่างประเทศ ได้เช่นเดียวกับกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อกระจายความเสี่ยงการลงทุนให้กับนักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนสถาบันที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนที่กำหนดให้กองทุนที่จัดตั้งมีผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ไม่เกิน 1/3 เป็นข้อจำกัด ในการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนสถาบันที่ต้องการโยกเงินลงทุนผ่านกองทุน FIF ซึ่งปัจจุบันก.ล.ต.อนุมัติครั้งละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ธปท.ได้อนุมัติให้สปส.นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศในวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยสปส.ได้มอบหมายให้บลจ.เอ็มเอฟซี และบลจ.บัวหลวง เป็นผู้จัดการกองทุน เพื่อนำเงินไปลงทุนต่างรประเทศ รายละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่รายงานข่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 กบข.ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ (ผ่านกองทุนรวม) เท่ากับ 2.83% และตราสารหนี้ต่างประเทศทั่วไปเท่ากับ 5.19% นอกจากนี้ยังมีการลงทุนตราสารทุนต่างประเทศเท่ากับ 0.92% จาก มูลค่าสินทรัพย์ปัจจุบันอยู่ที่ 294,498 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.