คาดศก.ครึ่งปีหลังโต3.5-4%กสิกรฯชี้ลงทุน-บริโภคชะลอ


ผู้จัดการรายวัน(2 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วิจัยกสิกรไทยย้ำเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังปี 49 ชะลอคาดโตแค่ 3.5-4.0% รับผลจากการใช้จ่ายทั้งภาครัฐ-เอกชนที่ลดลง พร้อมปรับประมาณเศรษฐกิจทั้งปี โต 4.0-4.5% จากเดิม 4.0-5.0% ขณะที่แนวโน้มปี 50 มีปัจจัยเสี่ยงด้านภาคการส่งออกที่ขยายตัวมากตามภาวะเศรษฐกิจโลก

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ได้มีการปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2549 ลงเป็น 4.0-4.5% จากเดิมที่ 4.0-5.0% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.5-4.7% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวประมาณ 5.3% ในไตรมาสแรก และประมาณ 3.7-4.0% ในไตรมาสที่สอง ทั้งนี้ อัตราการขยายตัว 5.3% ในไตรมาสแรกนั้น เป็นผลส่วนใหญ่มาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำ ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวในไตรมาสที่สอง ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.7-4.0% นั้น เป็นผลมาจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดตอกย้ำโดยตัวเลขเดือนเมษายนของธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)ที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวในวงกว้าง ทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน การผลิต รวมทั้งการส่งออก

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงเป็น 3.5-4.0% จากที่ขยายตัว 4.5-4.7% ในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากการขาดปัจจัยหนุนในเรื่องของฐานที่ต่ำดังเช่นในไตรมาสแรก รวมทั้งจากปัจจัยลบต่างๆที่จะทยอยส่งผลต่อการใช้จ่ายทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี โดยแนวโน้มการชะลอของเศรษฐกิจไทยดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ของทั้งปี 2549 นี้ อยู่ที่ประมาณ 4.0-4.5% ลดลงจากอัตราการขยายตัว 4.5% ในปี 2548 และลดลงจากประมาณการเดิมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 4.0-5.0%

ขณะเดียวกัน คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเป็น 3.7-5.0%เมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.9%ในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 นั้น เป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และในปี 2550 นั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 2.5-3.5% ปรับลดลงจากปี 2549 ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 4.8-5.5%อันเป็นผลเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง จากในปี 2549 ที่ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30% แต่ในปี 2550 นั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.0-7.0% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่ต่ำมาก

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงและราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2550 ดังกล่าว น่าจะเป็นผลดีต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน โดยเฉพาะในด้านการบริโภค หลังจากที่การใช้จ่ายดังกล่าวถูกกดดันจากปัจจัยลบต่าง ๆ ในปี 2549 แต่อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐ ยังคงจะต้องรอการผ่านร่าง พรบ.งบประมาณปี 2550 ซึ่งยังคงต้องรอความชัดเจนในการเลือกตั้งก่อน ส่วนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ในส่วนที่ต้องอาศัยเงินทุนนอกวงเงินงบประมาณนั้น คาดว่า คงจะยังต้องรอกระบวนการพิจารณาคัดเลือกนักลงทุนที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งกว่าจะมีการลงทุนที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นได้ในส่วนนี้ ก็อาจจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ไปแล้ว

ด้านการส่งออกของไทยในปี 2550 นั้น คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 9.0-12.0% ชะลอตัวลงจากปี 49 ที่อยู่ในระดับ 12.0-15.0% โดยเป็นผลจาก แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก หลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯหรือเฟด เสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว รวมถึงการที่ราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะในหมวดโภคภัณฑ์ทางการเกษตร มีแนวโน้มที่จะทรงตัวหรือเพิ่มในอัตราที่น้อยลงกว่าปี 2549 ที่ผ่านมา และ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯและการแข็งค่าของเงินบาท ตามค่าเงินในภูมิภาค โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทคงจะปิดระดับ ณ ปลายปี 2549 และ 2550 ที่ประมาณ 37.7 และ 37.0 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น สืบเนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2550 ทำให้คาดว่า เฟดคงจะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย fed funds เพื่อประคับประคองมิให้เกิดความเสี่ยงด้านภาวะเงินฝืด (Deflation) ในสหรัฐฯ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงประมาณ 0.50-1.00% จากระดับ peak ที่ 5.25% ณ กลางปี 2549 ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น คาดว่า แนวโน้มการปรับลดของอัตราเงินเฟ้อในปี 2550 น่าจะเปิดโอกาสให้ ธปท.มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า ธปท.คงจะรอพิจารณาชั่งน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน รวมไปถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2550 ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการนโยบายด้านดอกเบี้ยต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.