ขาดดุลเดินสะพัดอีก 3 ปี เงินเฟ้อเดือน พ.ค.พุ่ง 6.2%


ผู้จัดการรายวัน(2 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยอมรับขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีก 2-3 ปี เซอร์ไพรส์ปี 49 เพิ่งมาขาดดุลในเดือน เม.ย. มองแง่ดีราคาน้ำมันใกล้จุดสูงสุดแล้ว ด้านพาณิชย์เผยเงินเฟ้อ พ.ค.พุ่ง 6.2% “การุณ” เผยสูงผิดปกติเพราะเป็นช่วงจ่ายค่าเทอมและการขึ้นค่าธรรมเนียมรถไฟ ลั่นถ้าน้ำมันหยุดราคาพุ่งเงินเฟ้อจะลดลง เผยปรับเป้าอีกครั้งหลังได้ตัวเลขเดือน มิ.ย.

จากกรณีดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเมษายน 2549 ขาดดุลถึง 283 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 485 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการขาดดุลเดือนแรกของปีและในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2548 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลและจะขาดดุลต่อเนื่องอีก 2-3 ปีข้างหน้า

"ไม่เหนือความคาดหมาย จึงยังไม่น่าเป็นห่วงอะไร แต่ที่ผมแปลกใจคือ ช่วง 3 เดือนแรกของปี ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลได้อย่างไร" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ธปท.แถลงตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนเมษายนขาดดุล 283 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 11,037 ล้านบาท เกิดจากการส่งออกขยายตัวในอัตราชะลอลง และการเกินดุลบริการโดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงขณะที่คนไทยหันไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจเดือนเมษายนก็ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะให้ด้านอุปสงค์ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน

ผู้ว่าฯ ธปท.ยังเปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.2%และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.7%ในเดือนพฤษภาคมว่า ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงกว่าที่ธปท.คาดการณ์ไว้ ซึ่งจากเดิมคาดไว้แค่ 6% แต่เป็นเรื่องปกติ เพราะปัจจัยราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างเดียว และแม้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้รวมปัจจัยราคาน้ำมันยังสูงไม่มากนัก และหากมองไปในระยะต่อไป ราคาน้ำมันใกล้จะสูงสุดแล้ว "การสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ก็ต้องรอการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้"

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพ.ค.2549 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2549 สูงขึ้น 0.7% และเทียบกับเดือนพ.ค.2548 สูงขึ้น 6.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบปี หลังจากที่เคยสูงสุดในเดือนต.ค.2548 แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนต่อๆ ไป จะมีแนวโน้มลดลง เพราะในเดือนพ.ค.นี้ มีปัจจัยหลายตัวที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยที่เกิดเฉพาะเดือนนี้เดือนเดียว

เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2549 นั้น เป็นเพราะดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 0.9% โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น 2.8% ส่งผลให้มีการปรับค่าธรรมเนียมรถไฟ ทำให้ดัชนีรายการนี้สูงขึ้น 40% ขณะที่ค่าโดยสารประเภทอื่นๆ ก็มีการปรับราคาขึ้น เช่น รถเมล์เล็กในท้องถิ่น รถจักรยานยนต์รับจ้าง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในเดือนนี้ก็สูงขึ้นถึง 0.6% ค่าใช้จ่ายของใช้ส่วนบุคคลสูงขึ้น 0.5% จากการสูงขึ้นของราคาครีมนวดผม สบู่ถูตัว ครีมบำรุงผิว และผ้าอนามัย

ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.3% เป็นอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนเม.ย.ค่อยข้างมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจากราคาผักสดลดลง 1.7% เนื่องจากฝนตก อากาศเริ่มเย็นทำให้ผลผลิตผักต่างๆ มีมากขึ้น แต่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลไม้สด น้ำอัดลม ปลาและสัตว์น้ำ ข้าวสารเหนียว และขนมปังปอนด์

ส่วนเงินเฟ้อเมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่สูงขึ้นถึง 6.2% เป็นเพราะ การสูงขึ้นของสินค้าบางตัวที่สูงกว่าปกติ คือ น้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้น 32% สินค้าและบริการอื่น เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา น้ำตาลทราย น้ำอัดลม และผักสด

“เงินเฟ้อในเดือนพ.ค.ที่สูงขึ้น เป็นเพราะเดือนนี้มีปัจจัยผิดปกติเข้ามา แต่ก็เป็นปัจจัยหลักเฉพาะเดือนนี้เดือนเดียว ก็คือ การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมรถไฟ และค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา โดยค่าธรรมเนียม ก็ขึ้นครั้งนี้ และต่อไปไม่ขึ้นอีก ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม ดังนั้น เชื่อว่าเงินเฟ้อในเดือนต่อๆ ไป มีแนวโน้มที่จะลดลง และถ้าเทียบเดือนต่อเดือน ไม่น่าจะถึง 6% แล้ว เว้นแต่ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด”

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศ ที่ได้หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็น 24% ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกไป เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.สูงขึ้น 0.6% และเมื่อเทียบเดือนพ.ค.2548 สูงขึ้น 2.7%

นายการุณกล่าวว่า เงินเฟ้อทั้งปียังคงมั่นใจว่าจะอยู่ในระดับ 4-4.5% โดยอยู่บนสมมุตฐานที่ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4-4.5% อัตราแลกเปลี่ยน 39-40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 190 บาทต่อวัน น้ำมันดิบดูไบ 58-62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 27.53 บาทต่อลิตร แต่จะมีการประเมินอัตราการขยาวตัวของเงินเฟ้ออีกครั้งหลังได้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.แล้ว

“ที่มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะไม่เกิน 4-4.5% นั้น เพราะขณะนี้ผ่านมา 5 เดือนเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ถ้าครึ่งปีคงอยู่ราวๆ 6% แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง เงินเฟ้อจะเริ่มลดต่ำลง เพราะฐานของปีที่แล้ว เป็นฐานที่สูง เพราะรัฐบาลได้ลอยตัวน้ำมันแล้ว อัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จึงไม่น่าจะสูงมาก เว้นแต่น้ำมันมีความผันผวนหนัก ก็อาจจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ” นายการุณกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.