ในอดีตซีพีหรือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นบริษัทที่รู้จักกันดี เป็นยักษ์ใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร
ซีพีสร้างอาณาจักรของตนเองให้ยิ่งใหญ่มาด้วยพื้นฐานทางสินค้าเกษตรจนเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก
วันนี้ซีพีแผ่อาณาจักรออกรอบด้าน ไม่เจาะจงเฉพาะสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว
อุตสาหกรรมใดก็ตามที่สามารถเชื่อมโยงพื้นฐานเดิม และสามารถสร้างความแข็งแกร่งพร้อมทั้งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่เพียงพอ
ซีพีจะโดดลงร่วมวงไพบูลย์ด้วยทันที
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ซีพีจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในธุรกิจโทรคมนาคมที่มีอนาคตไกล
และธุรกิจค้าปลีกที่มีฐานเดิมของตนเองอยู่แล้ว กอรปกับศักยภาพของธุรกิจชนิดนี้นับวันจะเติบโต
"ไม่ว่าจะเข้าสู่ธุรกิจใดก็ตาม ธุรกิจนั้นเราจะต้องทำให้ดีที่สุด ใหญ่ที่สุด
และเป็นผู้นำ" เป็นคำกล่าวของผู้นำซีพี
คำกล่าวนี้ได้กลายเป็นปรัชญาในการทำงานของคนซีพ ีซึ่งหมายความว่าการเข้าสู่ธุรกิจใดก็ตาม
นั่นย่อมหมายถึงความยิ่งใหญ่ที่มีศักยภาพจนสามารถเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ
ได้ในอนาคต
การมองการณ์ไกลเช่นนี้จึงทำให้เมื่อ 5 ปีก่อนซีพีตัดสินใจลงรากในธุรกิจค้าปลีกโดยการสร้างชื่อ
"เซเว่น-อีเลฟเวน" (7-11) เปิดฉากการเป็นผู้นำด้านคอนวีเนียนสโตร์
ณ วันนี้มีแฟรนไชส์ถึง 400 แห่งทั่วประเทศและกำลังจะขยายเป็น 550 แห่งภายในปี
2538 นี้
4 ปีที่แล้วซีพีสร้างชื่อ "แมคโคร" ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่งที่ยิ่งใหญ่
ปัจจุบันขยายสาขาทั่วมุมเมืองในกรุงเทพ และคืบคลานออกสู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะในเขตจังหวัดใหญ่
อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น
3 ปีที่ผ่านมาซีพีสร้างชื่อ "ซันนี่" ซึ่งเป็นซูปเปอร์สโตร์ขนาดกลางที่ศรีนครินทร์ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง
และเมื่อ 2 เดือนที่แล้วซีพีก็เริ่มสร้างชื่อ "โลตัส" ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกประเภทดิสเคาน์สโตร์เพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง
การขยับตัวแต่ละครั้งของซีพีต่างเป็นที่จับตามองของวงการ พร้อมทั้งสร้างความเคลื่อนไหวในตลาดบริโภคได้ไม่ใช่น้อย
เพราะไม่ว่าซีพีจะเปิดดำเนินการธุรกิจประเภทใดก็ตาม มักได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคทันที
จึงดูเหมือนว่าซีพีมีความสามารถในการจับจุดผู้บริโภคได้ถูกต้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งโลตัส
ดิสเคาน์สโตร์แม้มิใช่เป็นของใหม่ในวงการและได้รับการสนองตอบอย่างแน่นหนาได้อีกเช่นกัน
เซเว่น-อีเลฟเว่น ขายบริการ ความสะดวก เข้าถึงผู้ซื้อ เข้าถึงชุมชน ซันนี่ขายอาหารทะเลสด
และมีความสะดวกต่อผู้ซื้อเพราะไม่ได้เข้าไปอยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ทำให้สะดวกต่อการจอดรถรีบซื้อรีบกลับได้
แมโครเป็นร้านขายส่งจำนวนมากๆ ให้ผู้ซื้อนำไปค้าปลีกได้อีกต่อหนึ่ง ส่วนโลตัสขายสินค้า
7-8 หมื่นรายการแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ได้ แต่ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับห้างที่ยึดติดสินค้ายี่ห้อดังๆ
เป็นหลักในการดึงดูดผู้ซื้อ สิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างที่ซีพีสร้างให้เกิดขึ้นในแต่ละสาขาธุรกิจค้าปลีก
"โลตัสไม่ได้เป็นแฟรนไชส์เหมือนค้าปลีกที่ผ่านมาของซีพี แต่เป็นเทคโนโลยีซูเปอร์สโตร์ของเราเอง"
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์
ผู้ที่ ธนินท์ เจียรวนนท์มอบหมายให้เป็นแม่ทัพนำธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งของซีพีกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
การค้าปลีกแบบดิสเคาน์สโตร์นี้หมายถึง การจัดร้านให้ผู้ซื้อสามารถบริการตัวเองและนำไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์
ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก็เหมือนๆ กันกับซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วๆ ไป
ก่อศักดิ์บอกว่า มันเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไปได้มาก แถมยังเป็นการลดด้านบริการได้อีกด้วย
ซึ่งเขามองว่าเป็นผลดีกับผู้ซื้อที่ไม่ต้องอึดอัดกับการถูกพนักงานขายคอยซักคอยถามอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้การเป็นดิสเคาน์สโตร์นั้นไม่ได้หมายความว่าโลตัสจะขายแต่ของถูกแต่ไม่มีคุณภาพ
ของถูกของโลตัสเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเกรดดี แต่ไม่ได้ติดยี่ห้อที่มีชื่อเสียงให้ผู้ซื้อต้องเสียค่ายี่ห้อ
นอกจากนี้การใช้พื้นที่ได้ประสทธิภาพสูงกว่าห้างทั่วไป เพราะไม่มีเคาน์เตอร์กับที่ยืนของพนักงานจึงประหวัดการลงทุนเกี่ยวกับสถานที่บวกกับการตกแต่งที่ไม่ใช้วัสดุแพง
นโยบายของก่อศักดิ์ในตอนนี้คือ ต้องขยายเป้าหมายของเขาเกี่ยวกับโลตัสคือ
จะต้องเปิดอีก 3 แห่ง ที่มหาชัย นครปฐม และราษฎร์บูรณะ และจะขยายออกไปเรื่อยๆ
จนครบทุกจังหวัด ในกทม.จะมีแถวชานเมืองอีกหลายมุมเมือง เขาคาดว่าในเวลา 5
ปี อาจเปิดได้ถึง 25 แห่ง โดยประเมินจากความนิยมที่ได้รับจากผู้ซื้อในช่วงเวลาเพียงแค่
2-3 เดือนที่เปิดห้าง
"เรานำเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาช่วยในด้านบริการ เรามีออโต้วอล์คเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
มีรถเข็นล๊อคได้ระหว่างขึ้นทางชันและลงโดยคนเข็นไม่ต้องจับรถ มีวิธีเก็บเงินแบบสแกนเนอร์ที่ส่งข้อมูลเข้าสมองกลคอมพิวเตอร์
สรุปตัวเลขได้เสร็จเรียบร้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาท"
ก่อศักดิ์เชื่อว่า ตลาดค้าปลีกยังมีโอกาสขยายตัวไปอีกมาก ซึ่งที่ผ่านมา
10 ปีคนในวงการมักพูดกันว่าน่าจะเต็มแล้ว น่าจะแข่งขันกันสูงๆ แต่ในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น
มีแต่จะขยายไปเรื่อยๆ จนถึงวันนี้เขาเพิ่งรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว การค้าปลีกของตลาดเมืองไทยเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นและยังจะสามารถขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ
เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือผู้ซื้ออีกมาก ซึ่งผู้ค้าปลีกจะยืนหยัดอยู่ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีสายตายาวไกล
วงการต่างจับตามองซีพีมาตลอดไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรก็ตาม คาดว่าในความเชื่อมั่นของก่อศักดิ์ที่จะเป็ผู้นำเทคโนโลยีในด้านนี้เข้ามาสร้างความเจริญให้กับธุรกิจค้าปลีก
เช่นคำกล่าวของเขาก็คงไม่พ้นสายตาทุกคู่ที่ต้องจับตามองเพื่อพิสูจน์ความจริง
แม้จะเป็นเวลาถึง 5 ปีก็ตาม หรืออาจเป็นได้ว่าจะมีคู่แข่งชิงความเป็นผู้นำในด้านนี้ไปก่อนถึงเวลาของซีพีก้ได้
ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธาน กลุ่มซีพี เคยกล่าวไว้ว่า "เราจะไปทำอะไรก็ตาม
เราศึกษามานานแล้วเพียงแต่รอจังหวะเวลา" เป็นคำกล่าวที่ ณ วันนี้ไม่รู้ว่าการรอเวลามันจะสายเกินไปหรือไม่