|

"บัณฑูร"แนะสู้ทุน - "ธีรยุทธ"สับรัฐ ทรท. ชูตุลาการภิวัฒน์
ผู้จัดการรายวัน(1 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"บัณฑูร ล่ำซำ" ชี้คนไทยต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับระบบทุนนิยมที่เข้ามาครอบงำระบบเศรษฐกิจไทยที่จ้องเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และเปิดโอกาสให้ทุนขนาดใหญ่-ต่างชาติทำลายกลุ่มทุนขนาดเล็ก พร้อมย้อนอดีตกรณี "ปรส." ขายหนี้เสีย ที่ทำให้ต่างชาติรับผลประโยชน์ก้อนใหญ่ แนะนักธุรกิจไทยใช้ 4 วิธีสยบทุนนิยม ด้าน "ธีรยุทธ บุญมี" ตอกย้ำระบบทุนนิยมกุมอำนาจรัฐ ก่อนให้เกิดการคอร์รัปชัน จนประเทศชาติเสียหายมหาศาล ระบุเหลือเพียงอำนาจตุลาการ ที่จะสร้างดุลยภาพให้กับการเมืองไทย หลังจากอารยะขัดขืนไม่เพียงพอล้มล้างรัฐสภานิยมทรท.ได้
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาพิเศษครบรอบ 30 ปี หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ หัวข้อ "วิกฤติประเทศไทย ยุคทุนนิยมไล่ล่า" ว่า ระบบทุนนิยมได้อยู่กับประเทศไทยและคนไทยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และนับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากทุกคนไม่มีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับอาจจะอยู่ในระบบทุนนิยมไม่ได้
"ทุนนิยมควรที่จะเข้าไปอยู่ในใจของคนไทย เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนทำงาน ทำให้มีความหวังกับสังคมและวัตถุที่ดีขึ้น ขณะที่การบริโภควัตถุที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้น จะเชื่อมโยงเข้าสู่การแข่งขัน"
ด้านธุรกิจเอง ได้ถูกระบบทุนนิยมเข้ามาครอบงำเช่นกัน โดยเริ่มจากการทำธุรกิจเล็กๆ และขยายกิจการแข่งขันเพื่อให้เติบโต ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือเมื่อธุรกิจเติบโตแล้ว หากไม่มีคุณธรรมจะกลายเป็นอสูรกายที่ร้ายกาจที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบดังกล่าว ระบบจะปรับเปลี่ยนธุรกิจไปโดยปริยาย เพราะหลังจากที่ธุรกิจเติบโตแล้วทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวทคนเดียว และจะต้องมีการระดมทุนด้วยการหาผู้ถือหุ้น มีการแบ่งความเป็นเจ้าของ ซึ่งกันในปัจจุบันว่า บริษัทมหาชน
หลังจากการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้ว ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวคนเดียวได้ และตัววัดการประสบความสำเร็จหรือการตัดสินทุกๆ อย่างในระบบทุนนิยมคือ ผลตอบแทน หากใครสามารถทำผลตอบแทนได้มากที่สุดคนนั้นจะสามารถอยู่ต่อไปได้ ซึ่งจะแตกต่างจากระบบเถ้าแก่ในอดีต โดยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะเป็นตัวบอกหรือเป็นบทเรียนให้กับธุรกิจหรือประชาชนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
"ธุรกิจที่เหี้ยมที่สุดคือ ธุรกิจการลงทุน เพราะตัวตัดสิน คือ ผลตอบแทน ใครที่เก่งสามารถอยู่ต่อไปได้ แต่หากใครไม่เก่งก็ไปไม่รอด ทำให้เกิดการแข่งขัน หากเป็นการแข่งขันทางธุรกิจจะทำให้ธุรกิจพัฒนาขึ้น แต่การแข่งขันทำให้เกิดความขัดแย้ง ในยุคนี้ คนที่ดีที่น่านับถือมากที่สุดคือ คนที่มีทรัพย์ ซึ่งเป็นความโหดร้ายของระบบทุนนิยม" นายบัณฑูร กล่าว
สำหรับผลกระทบที่เกิดจากระบบทุนนิยม คือ การแบ่งไม่เท่ากัน ผลผลิตในยุคทุนนิยม มีมากขึ้น แต่ไม่สามารถแบ่งผลประโยชน์ให้เท่าเทียมกันทุกคนได้ ซึ่งเป็นทฤษฎีของโลกการเปิดเสรี ที่เปิดกว้างให้ทุกคนดีขึ้น โดยส่วนตัวแล้วกลับมองกันข้าม ในโลกของการเปิดเสรี ใครที่มีอำนาจหรือมีเงินมีกำลังที่เหนือกว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่ดี ที่เกิดจากคนไทยทั้งนั้นที่ทำตัวเอง ซึ่งเป็นผลพวงที่จะต้องรับผิดชอบกันจนถึงปัจจุบันและในอนาคต โดยเป็นการชดเชยความเสียหายที่ประชาชนที่เสียภาษีเข้ามารับภาระ
"ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากวิกฤตหรือความเสียหายของประเทศไทย คือ ผู้ที่รับอาสาเข้ามาแก้ไขหรือจัดการกับหนี้เสียที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคนไทยไม่ได้เตรียมตัวหรือเกิดขึ้นเร็วมาก แก้ไขปัญหาไม่ทันแล้ว ซึ่งทุกคนแก้ไขเฉพาะหน้าไปก่อนเท่านั้น เพราะเป็นปัญหาครั้งแรกในชีวิตที่หนักมาก"
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. เป็นหน่วยงานที่ไห้บทเรียนมากที่สุด โดยการนำหนี้ในราคา 100 บาท ขายให้กับต่างชาติในราคา 20 บาท และเมื่อระยะเวลาได้ผ่านไป จึงมีข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนมากที่สุดว่า มูลค่าของทรัพย์สินที่ปรส.ขายให้กับต่างชาติในราคาที่ต่ำมาก ปัจจุบันสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยประมาร 60% ดังนั้นในส่วนต่าง 40% จึงตกเป็นของต่างชาติแน่นอน ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า "ทุนนิยม ไม่สร้างสรรค์ แต่เป็นการระบุชัดเจนยิ่งขึ้นว่า คนตัวใหญ่ได้เปรียบคนตัวเล็ก"
ส่วนทฤษฎีของเปิดเสรี โดยมีโจทย์ของการเจรจาสำหรับผู้มีอำนาจอยู่แล้ว เป็นคำตอบในใจว่า ทรัพย์สินที่มีอยู่ในโลกนี้ ต้องการอะไรบ้าง และที่เหลือจะเป็นส่วนแบ่งของคนที่ด้อยกว่าอย่างผิวสีเหลืองหรือผิวดำ ในอดีตจะเป็นที่ยอมรับกันได้ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการคัดค้าน หลายๆ ประเทศทั่วโลกที่เริ่มเห็นรวมตัวกันค้าน เพื่อต่อรองและให้ได้ในสิทธิที่เท่าเทียมกัน
"ระบบทุนนิยมไม่ใช่การแก้ไขปัญหาของมนุษย์ แต่ทุนนิยมได้สนองความต้องการของคนมีเงินมากกว่าสนองความต้องการของมนุษย์ทั่วไป เช่น ประเทศจีน มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีมาก แต่ภายในประเทศเองเริ่มมีความแตกต่างมากขึ้น อาจจะลามไปสู่ความตึงเครียดตามมาในอนาคต"
สำหรับข้อเสนอแนะของประเทศไทยในระบบทุนนิยมคือ
1. ต้องเรียนรู้ให้เร็วขึ้น ใครที่ไม่มีความรู้จะเสียผลประโยชน์ไปให้กับคนที่มีความรู้มากกว่า ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยอยู่
2.อย่าทำเกินตัวอย่างใช้เกินตัว ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นเพราะคนไทยทำเกินตัว ใช้เกินตัวนั้นเอง
3. ยึดมั่นความเป็นวัฒนธรรมไทย ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คำว่าวัฒนธรรม จะรวมทุกอย่าง ภาษาธรรมเนียม รวมถึงสินค้าที่ดีของไทย หากไม่ช่วยกันรักษาประเทศไทยจะเป็นหน่วยหนึ่งของระบบทุนนิยม
4. อริยะขัดขืน ซึ่งคนไทยควรที่จะขัดขืนกระแสไปบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะแสดงออกในด้านใด โดยส่วนตัวแล้วยังคงทำอยู่ เช่น การเข้ามาของทุนต่างชาติ ซึ่งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยอมรับเสมอไป
**ทุนนิยมกุมอำนาจรัฐ
ด้านนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ "พิพากษาหาความยุติธรรมให้ประเทศ เพิ่มดุลยภาพของการเมืองไทย ก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองหน 2" ว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาอิทธิพลทุนนิยมในสังคมขยายตัวสูงมากทั้งในแง่ปริมาณและความคิด ส่งผลให้ทุนเข้าไปมีอำนาจกำกับรัฐ และใช้อำนาจอธิปัตย์ของรัฐไทยได้อย่างสะดวก
ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนสัมปทาน สื่อสาร บันเทิง อุตสาหกรรมบางส่วน สามารถเข้ากุมฝ่ายบริหาร สามารถครอบงำรัฐสภา ส.ว. และองค์กรตรวจสอบต่างๆ ได้ ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชั่น และนโยบายที่ส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของชาติอย่างมหาศาล จนทำให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนที่สูญเสียสิทธิอย่างกว้างขวาง จนเกิดวิกฤติการเมือง จนเกือบถึงขั้นเสียเลือดเนื้อขึ้นหลายหน
ขณะที่พลังกดดันของภาคสังคม สื่อมวลชน และประชาขน รวมทั้งอารยะขัดขืนไม่พอเพียงที่จะล้มล้างอำนาจทางการเมืองแนวลัทธิเสียงสวนใหญ่ ลัทธิ 16 ล้านเสียง หรือลัทธิรัฐสภานิยมอย่างทรท.ได้ ดังนั้น แรงกดดันจึงตกอยู่ที่สถาบันอิสระที่เหลือยู่เพียงสถาบันเดียว คืออำนาจตุลาการหรือศาลที่จะก้าวออกมาสร้างดุลยภาพให้กับระบอบเมืองไทยได้
"การปกครองประชาธิปไตยมีข้ออ่อนแฝงอยู่ในกลไกตัวมันเอง คือการที่ผลประโยชน์ของทุนหรือบรรษัทขนาดใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออำนาจฝ่ายบริหารเข้ากุมฝ่ายนิติบัญญัติ จนนำไปสู่การใช้อำนาจมิชอบหรือเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือเป็นเพราะบ้านเมืองพัฒนาเติบโตซับซ้อนขึ้น เกิดปัญหาหรือสิทธิใหม่ๆของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญต้องปกป้องรักษาให้กับประชาชน" นายธีรยุทธ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 มีการให้อำนาจตุลาการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายการเมือง ในรูปศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ฯลฯ แต่ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงหนัก จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสให้ศาลมองอำนาจของตนอย่างกว้างขวาง เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวได้ สะท้อนว่าประเทศไทยจำต้องมีกระบวนตุลาการภิวัฒน์ที่เข้มแข็ง โดย 3 ศาล เพื่อจำกัดอำนาจที่ล้นเกินของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
โดยภารกิจของ 3 ศาลที่ถือเป็นภารกิจประวัติศาสตร์นี้ มีอยู่ 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยแรกการวินิจฉัยรากเหง้าของปัญหาซึ่งทำให้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่อาจดำเนินไปได้ คำวินิจฉัยว่าปัญหาอยู่ที่การจัดการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมภารกิจก็จะจำกัด อาจส่งผลให้แก้วิกฤติได้ชั่วคราว เกิดวิกฤติซ้ำขึ้นมาได้อีก
ปัจจัยที่สอง ความเป็นสถาบันของศาลเองว่า จะมีความเด็ดเดี่ยวมั่นคง มีวิสัยทัศน์และกระบวนทัศน์ใด ซึ่งก็คือการมองภารกิจเกี่ยวกับกับอำนาจหรือสถาบันอื่นอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็คือการตระหนักถึงภาระกิจตุลาการภิวัฒน์ที่จริงจังเพียงใด ถ้ามีความเข้มแข็งในเชิงสถาบันเช่นนี้ วิกฤติก็คงคลี่คลายไปได้ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่อาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยได้ใช้มาตรการทางสถาบันมาเป็นกลไกในการแก้วิกฤติในขั้นสุดท้ายของชาติ
"หากศาลจำกัดบทบาทของตนเพียงแค่การดูแลให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ไม่ขยายไปสู่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ หรือนิติธรรมภิวัตน์อย่างจริงจัง แล้วปล่อยให้การปฏิรูปรัฐธรรมนูญรอบ 2 ดำเนินการไปโดยนักการเมืองฝ่ายเดียว มีโอกาสสูงที่วิกฤติจะเกิดขึ้นอีกครั้ง และมีโอกาสสูงที่ระบอบเผด็จการจะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้อย่างยาวนานเกือบถาวร ขณะที่ดุลยภาพในสังคมไทยที่เสียไปไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในระดับสถาบันที่ใช้อำนาจปกครองด้านต่างๆเ ท่านั้น แต่อยู่ในระดับรากหญ้าที่อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางฐานรายได้โอกาสสูงมาก และขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง" นายธีรยุทธ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|