ธปท.จวกรัฐบาลดื้อยาเดินสะพัดขาดหมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(1 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หม่อมอุ๋ยการันตีเศรษฐกิจยุครัฐบาลเป็นง่อยแถมดื้อยา "ไม่มีปัญหา" เผยขนาด 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย การลงทุนชะลอลงเล็กน้อยจาก 9 เหลือ 7% เผยแบงก์ชาติพร้อมดูแลเศรษฐกิจภายใต้รูปแบบการเมืองที่ประชาชนเลือก ยืนยันปัจจัยหลักที่กระทบต่อเศรษฐกิจคือราคาน้ำมัน ส่งผลเดือน เม.ย.ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหมื่นล้าน ครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

วานนี้ (31 พ.ค.) ที่สโมสรกองทัพบก มีงานสัมมนาพิเศษเจาะลึก 4 ปัญหาหลักที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของประเทศ “ดอกเบี้ย ค่าเงิน น้ำมันและการเมือง” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในหัวข้อ "การเงินและการเมือง" ว่า แม้รัฐบาลจะเป็นง่อยไปในช่วงเวลานี้ ก็ไม่ส่งผลกระทบภาคเอกชน และเศรษฐกิจของประเทศในปี 2549 ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงเล็กน้อย คือจาก 9-10% ในปีที่แล้ว เหลือ 7-8% ในปีนี้ ซึ่งกว่า 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลยเศรษฐกิจก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้

"การเมืองในขณะนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนเลือกให้เป็นแบบนี้ เมื่อเป็นแบบนี้แบงก์ชาติก็มีหน้าที่รักษาเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องอ้างเรื่องการเมือง เรื่องคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) ประท้วงมา 6 เดือนแล้วนโยบายที่รัฐบาลชอบอ้างถึงทั้งเมกะโปรเจกต์ก็ไม่มีอะไรออกมาสักตัว” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวและว่า ถ้าจะให้เปรียบเทียบการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ต้องเรียกว่าเป็นการเมืองดื้อยา เป็นโรคที่รักษาหายช้า เพราะมีการรักษาแล้วให้ยาตั้งนานก็ยังไม่หาย การแก้ไขปัญหาต่างๆ ล่าช้าปรับเปลี่ยนทุกอย่างช้า แต่ยังไม่ถึงขั้นแพ้ยาเพราะไม่ถึงกับตาย วิธีการที่ดีที่สุดก็คือรีบจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นโดยเร็วปัญหาทุกอย่างก็จะค่อยๆ คลี่คลายลง เพราะผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงคือเรื่องราคาน้ำมันไม่ใช่ปัญหาการเมือง

ทั้งนี้ แม้การลงทุนจากภาครัฐจะชะลอตัวไปในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 เนื่องจากไม่สามารถผลักดันงบประมาณปี 2550 ได้ทันปีงบประมาณ แต่การลงทุนภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งแรงผลักดันเศรษฐกิจไทยกว่า 80 มาจากภาคเอกชนทั้งสิ้น โดยเมื่อมองภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสแรกทุกอย่างออกมาดีหมดทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรที่เติบโตถึง 33.2 การส่งออกขยายตัว 17 ภาคบริการและการท่องเที่ยวเติบโต 21.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกินดุล

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อดูจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 ที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 45.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นเวลา 5 ปีเต็มค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 7 บาท ผู้ส่งออกก็ไม่มีใครล้มหายตายจากเพราะมีการส่งสัญญาณเป็นระยะให้ผู้ส่งออกมีการปรับตัว

“ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมานักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มไม่มั่นคงมีการถอนเม็ดเงินลงทุนทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรมาลงทุนในเอเชีย ซึ่งไทยก็ได้รับอานิสงส์โดยมีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงนั้นมันเหมือนน้ำป่าไหลบ่าตอนนี้หยุดไหลแล้วเพราะบางส่วนจะเข้ามาในลักษณะการเก็งกำไรแต่ในปริมาณเพียง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น สิ่งที่แบงก์ชาติทำก็ค่อยๆ ทำให้แข็งอย่างมีระบบเมื่อน้ำป่าหยุดไหลก็มีลูกเล่นทำให้ผู้ส่งออกได้กำไรบ้าง” ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกในปัจจุบันไม่ได้ดูเพียงแค่อัตราแลกเปลี่ยนของดอลลาร์สหรัฐแต่อย่างเดียว เพราะในขณะที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อน แต่เงินยูโรและสกุลอื่นๆ กลับสูงขึ้น ผู้ส่งออกจึงสามารถเจรจาการค้าด้วยสกุลเงินอื่นได้นอกจากเงินดอลลาร์เพียงสกุลเดียว ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่าในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับสูงสุดแล้วซึ่งต้องรอการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ว่าจะออกมาเช่นไร

“เรื่องดอกเบี้ยเวลาไม่มีทางออกทีไรก็โยนมาที่ผม ซึ่งเรื่องนโยบายดอกเบี้ยนี้มันก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวที่4.5 ทั้งโลกก็อิจฉาแล้ว”

**เดินสะพัดขาดดุลในรอบ 10 เดือน

นางสุชาดา กิระกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงเศรษฐกิจเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ทั้งการนำเข้าและส่งออกมีการชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้าขาดดุลถึง 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20,280 ล้านบาท ขณะที่ดุลการบริการเกินดุลลดลงเหลือ 238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,282 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนมีวันหยุดหลายวันและประชาชนหันไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเมษายนขาดดุล 283 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 11,037 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังเชื่อว่าดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปียังมีโอกาสสมดุลหรือขาดดุลไม่เกิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

"การขาดดุลฯ เนื่องมาจากมีการนำเข้าน้ำมันสูง ส่งออกขยายตัวลดลงไปบ้าง ขณะที่คนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น 10% ทำให้การนำเงินตราออกไปใช้จ่ายนอกประเทศเพิ่มขึ้นถึง 18%" นางสุชาดากล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.