ชอยส์ มินิสโตร์ การปรับตัวของตันตราภัณฑ์


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

พิธีแถลงข่าว "ครบ 400 สาขา" ของเซเว่นอีเลฟเว่นเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าภาพอย่างก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ และลิขิต ฟ้าประโยชน์ สองหัวเรือใหญ่ตั้งใจจะจัดให้เป็นเกียรติแก่บริษัท ชอยส์ มินิสโตร์ที่สามารถนำธงชัยสาขาที่ 400 ไปปักไว้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาประตูสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

บริษัทชอยส์ มินิสโตร์เป็นกิจการในเครือตันตราภัณฑ์ของตระกูลตันตรานนท์ ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับกิจการค้าปลีกในรูปคอนวีเนียน สโตร์ โดยมีวรวัชร ตันตรานนท์เป็นกรรมการผู้จัดการ

ธุรกิจของกลุ่มตันตราภัณฑ์นี้ จัดเป็นกลุ่มทุนเก่าแก่ของภาคเหนือ ที่ก้าวรุกขยายสาขาเซเว่นอีเลฟเวนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในบรรดาผู้ที่ซื้อเฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่นในภูมิภาคที่เรียกว่า "ซับ แอเรีย ไลเซนซ์" (SUB AREA LICENSE) ไปจากซีพี

เวลา 3 ปี สำหรับวรวัชร เขาสามารถขยายสาขาได้ 20 สาขา ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ลำพูนและเชียงใหม่ ต่อมาเขาได้รับสิทธิในการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน

ภายในระยะเวลา 1 ปีที่เขาได้ครอบครองเครือข่ายเพิ่มขึ้น สามารถขยายสาขาได้อีก 5 สาขา คือ ในจังหวัดลำปาง 3 สาขา และอีก 2 สาขาในจังหวัดเชียงราย

นับเป็นก้าวหนึ่งที่น่าจับตามองไม่น้อย สำหรับกลุ่ม "ตันตราภัณฑ์" ที่จากนี้เป็นต้นไป จำเป็นที่จะต้องพลิกตำราค้นหาจุดที่แข็งที่สุดของตนเองขึ้นมา เสริมจุดด้วยของตนเองให้ได้

จุดแข็งที่ตันตราภัณฑ์เชื่อมั่นที่สุดในขณะนี้ว่าจะสามารถต่อกรกับกลุ่มทุนอื่นที่เป็นยักษ์ใหญ่ อย่างเซ็นทรัล และแมคโครที่รุกเข้ามาจากส่วนกลางก็คือ ธุรกิจทางด้านคอนวีเนียนสโตร์-ซุปเปอร์มาร์เก็ต

การปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจของตันตราภัณฑ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มทุนในส่วนภูมิภาคที่สั่งสมประสบการณ์-ทุน มานานกว่าครึ่งศตวรรษครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่น่ามองข้าม

"ตันตราภัณฑ์" กำลังอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการบริหารงานการดำเนินธุรกิจทั้งระบบ พร้อมกับปรับยุทธศาสตร์การดำเนินการของกลุ่มทั้งหมด เพื่อต่อสู้แข่งขันกับกลุ่มทุนอื่นๆ ทั้งที่มาจากส่วนกลาง และในท้องถิ่นเอง

ผลครั้งนี้ทำให้ยอดรายได้ของตันตราภัณฑ์ช่วงหลังปี 2535 เป็นต้นมา ลดลงมาโดยตลอด จนประสบกับการขาดทุนในปี 2535 ถึง 26 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ตันตราภัณฑ์สามารถครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกพื้นที่เชียงใหม่ได้แทบทั้งหมด ทั้งยังมียอดรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปี ไม่ต่ำกว่า 30-40% เป็นอย่างน้อย

เรื่องดังกล่าวนี้ วรากร ไรวา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ กรรมการบริหารบริษัท ตันตราภัณฑ์ สรรพสินค้า จำกัด กล่าวในทำนองเดียวกันว่า

"ตันตราภัณฑ์ จำเป็ฯต้องค้นหาจุดแข็งของตนเองให้ได้ พร้อมกับหันมาเน้นการแยกกิจการในกลุ่มธุรกิจ ที่สามารถสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทด้วยการตั้งบริษัทใหม่จะช่วยให้งานด้านการบริหารคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่เชื่อว่าเป็นจุดแข็งมากที่สุดของตันตราภัณฑ์ก็คือ การดำเนินการในลักษณะของ ซุปเปอร์มาร์เก็ตและคอนวีเนียนสโตร์"

การดำเนินการในธุรกิจ 2 ลักษณะนี้ คงจะเป็ฯทิศทางใหม่ในด้านธุรกิจการค้าปลีกของปี 2538 เป็นอย่างแน่นอนเพราะไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัล หรือ ซีพี ก็ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางของการค้าปลีกโดยการลดจำนวนสาขาห้าง ที่อดีตเป็นดีพาร์ทเมนท์สโตร์ให้เหลือขนาดเป็นเพียงซุปเปอร์เซ็นเตอร์เท่านั้น

สำหรับตันตราภัณฑ์นั้นได้ก่อตั้งบริษัท ตันตราภัณฑ์ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ (1994) จำกัด ขึ้นมาใหม่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537 เพื่อดำเนินการในลักษณะของซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ไพโรจน์ ภัสสรภิญโญสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท

แนวทางการดำเนินการของบริษัทดังกล่าวนี้ มีแผนที่จะขยายพื้นที่ครอบคลุมภาคเหนือทั้งหมด โดยในเบื้องต้นจะเน้นใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเป็นหลัก

ปัจจุบันนี้ บริษัท ตันตราภัณฑ์ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ฯ มีสาขาอยู่ทั้งหมด 5 สาขาด้วยกันคือ ซุปเปอร์ในพื้นที่ห้างตันตราภัณฑ์ 3 สาขา และริมปิงซุปเปอร์สโตร์ 2 สาขา โดยบริษัทจะเน้นเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าสดเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มแม่บ้านเป็นหลัก

"เราคาดว่าซุปเปอร์สโตร์จะเป็ฯส่วนที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้มากที่สุดในอนาคต และเป็นช่องทางที่เรายังสามารถขยายเครือข่ายออกไปได้กว่าที่เป็นอยู่นี้อีกมาก ซึ่งที่ผ่านมาซุปเปอร์มาร์เก็ตสามารถสร้างรายได้ให้กับตันตราภัณฑ์ ได้ในสัดส่วนที่มากถึง 50% ของยอดรายได้ทั้งหมด" ไพโรจน์กล่าว

ส่วนทางด้านธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์นั้นตันตราภัณฑ์ได้เริ่มจากการตั้งร้านชอยส์มินิสโตร์ขึ้น และได้ก่อตั้งบริษัท ชอยส์ มินิสโตร์ จำกัด มารองรับการค้าแบบคอนวีเนียนสโตร์ เพื่อพัฒนาระบบการค้าปลีกจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทันสมัย และก่อให้เกิดการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัท ชอยส์ มินิสโตร์ จำกัด มี วรวัชร ตันตรานนท์เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งบริษัทนี้ประกอบการค้าทางด้านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยเป็นซับแอเรียไลเซนซี่ ของบริษัท ซีพี เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2534

การดำเนินการครั้งแรกของบริษัท ชอยส์ฯ นั้น ได้พื้นที่เพียง 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน สาขาแรกที่ได้เปิดดำเนินการคือ สาขาห้วยแก้ว เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2534 สาขานี้นับว่าเป็นสาขาที่จับกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าได้ตรงที่สุด เพราะอยู่ในย่านมหาวิทยาลัยซึ่งจับกลุ่มไปที่คนรุ่นใหม่ที่ชอบซื้อความสะดวก สบายและรวดเร็ว จนกระทั่งทำให้สามารถขยายสาขาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสิ้น 20 สาขาในระยะเวลา 3 ปี

ผลครั้งนี้ทำให้บริษัทชอยส์ฯ ได้รับการพิจารณาจากทางบริษัท ซีพี เซเว่นอีเลฟเว่นให้พื้นที่อาณาเขตเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 5 จังหวัดภาคเหนืออันได้แก่ จังหวัดลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา ในวันที่ 4 พฤศจิการยน 2536 ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีสาขารวมทั้งสิ้น 25 สาขา โดยขยายสาขาในลำปาง 3 สาขา และเชียงราย 2 สาขา

นับว่าเป็นทิศทางการดำเนินการที่ถูกช่องทางของบริษัท ชอยส์ฯ ซึ่งเป็ฯบริษัทในเครือของกลุ่มตันตราภัณฑ์ที่ได้หันมาจับการค้าแบบธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ และเป็นบทพิสูจน์ฝีมือในเชิงการค้าของวรวัชรได้เป็นอย่างดี

ในปี 2538 เป็นต้นไปบริษัท ชอยส์ฯ จะเริ่มขายแฟรนไชส์ให้กับกลุ่มทุนรายอื่น โดยจะเริ่มทดลองก่อนประมาณ 2 สาขา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ ที่บริษัทยังไม่ได้เข้าไปเปิดสาขา และอยู่ในกลุ่ม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่มีสัญญาอยู่กับบริษัท ซีพี เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นหลัก

สำหรับบริษัท ชอยส์ฯ เองนั้น วรวัชรได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า

"ตามแผนงานของบริษัทจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 10 สาขา ภายในปี 2538 แบ่งเป็นสาขาในพื้นที่เชียงใหม่ 5 สาขา ส่วนอีก 5 สาขาจะเปิดในพื้นที่จังหวัดพะเยา แพร่ และแม่ฮ่องสอน"

ในประเด็นของความคุ้มค่าต่อการลงทุนขยายสาขา เซเว่นอีเลฟเว่น ออกสู่พื้นที่จังหวัดพะเยา แพร่ และแม่ฮ่องสอนที่ถือเป็นจังหวัดเล็กนั้นไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะนอกจากจะมีการพิจารณาคัดเลือกทำเลที่ตั้งในย่านชุมชนที่จะต้องมีผู้อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆ ไม่ต่ำกว่า 3,000 ครอบครัว แล้วจะต้องมีการเฉลี่ยยอดขายของแต่ละสาขาเข้าด้วยกันทั้งหมด เพื่อให้ระยะเวลาคุ้มทุนโดยเฉลี่ยทุกสาขา อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 3 ปี/สาขา

"ก่อนหน้านี้การแข่งขันจะมุ่งเน้นกันที่ตัวสินค้า ราคา และการโปรโมชั่นเป็นหลัก แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป เมื่อข้อแตกต่างข้างต้นหมดไป ทุกกลุ่มมีสินค้าให้เลือกเหมือนกันสิ่งที่จะชี้วัดความแตกต่าง และข้อได้เปรียบของแต่ละกลุ่มก็คือ ทำเลที่ตั้งใกล้กับบ้านพักอาศัยของกลุ่มผู้บริโภค รวมไปถึงการให้บริการที่ดีที่สุดเป็นหลัก" วรวัชรกล่าวและให้ความเห็นอีกว่า

"การดำเนินการในลักษณะของซุปเปอร์มาร์เก็ต-คอนวีเนียนสโตร์ ที่ตันตราภัณฑ์เลือกมาใช้เป็นหัวหอกในการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มของเรา และแข่งขันกับกลุ่มทุนอื่นทั้งจากส่วนกลาง และภายในท้องถิ่นด้วยกันเองนั้น เป็นทิศทางการลงทุนต่อหน่วยต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการขยายเครือข่ายในลักษณะอื่นๆ"

นี่คือทางเลือกของ "ตันตราภัณฑ์" ในทิศทางการค้าปลีกแบบ "ซุปเปอร์มาร์เก็ต-คอนวีเนียนสโตร์" ที่มีหัวหอกสำคัญอย่าง วรวัชร ตันตรานนท์ เป็นที่พิสูจน์ฝีมือในการดึงกลุ่มทุนใหม่ๆ จากส่วนกลางเข้ามาร่วมทุน ที่ไม่น่ามองข้ามแม้แต่น้อย..!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.