TEN & CO เครือข่ายค้าปลีกเสื้อผ้า


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ในภาวะที่ธุรกิจเสื้อผ้ายังเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัดเช่นทุกวันนี้ ช่องทางการตลาดที่มีอยู่ครอบคลุม และอยู่ในทำเลที่มีประสิทธิภาพ ดูจะเป็นไม้เด็ดสำคัญซึ่งหากค่ายใดมีไว้ ก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

พีน่า เฮาส์ค่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่คร่ำควอดความชำนาญในวงการเสื้อผ้ามากว่า 20 ปี ทราบอย่างลึกซึ้งถึงไม้เด็ดข้างต้น ดังนั้นด้วยข้อได้เปรียบที่เจาะตลาดเข้าไปวางรากฐานด้านเสื้อผ้าในทำเลใหญ่ๆ หลายที่ เช่นอิมพีเรียล สำโรง สีลมคอมเพลกซ์ รัตนาธิเบศร์ ด้วยการตั้ง "เท็น เมมเบอร์ สโตร์" เป็นแหล่งระบายเสื้อผ้าของพีน่า เฮาส์, กัลลอป หรือเบอร์นินี่ แต่ด้วยนโยบายของร้านแห่งนี้ ที่มุ่งให้บริการเฉพาะลูกค้าที่เป็นสมาชิกของพีน่าเฮาส์เท่านั้น ทำให้ลูกค้าอยู่ในระดับจำกัด

ด้วยรากฐานที่พีน่าเฮาส์วางไว้แต่แรกเริ่มนี้ ได้มีการสานต่อเมื่อพลว่าวงการเสื้อผ้าเติบโตจนถึงขั้นที่จะสามารถเปิดร้านเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่ไม่ต้องจำกัดตัวเองไว้อยู่ในส่วนหนึ่งของห้างสรรพสินค้า อาเขต อีกต่อไป โดยถึงเวลาแล้วที่ค่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะเช่าพื้นที่ของร้านค้าปกติที่ขายเสื้อผ้า หรือแม้แต่ขายสินค้าโชวห่วยอยู่ก่อนหน้า เพื่อวางเครือข่ายให้ถึงมือลูกค้าอย่างกว้างขวางที่สุด และไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ค่ายเสื้อผ้าต่างๆ จะนำกลยุทธ์แฟรนไชส์ เข้ามาใช้เพื่อขยายเครือข่ายตนเอง เช่นเดียวกับห้างเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่ทำกันเกร่อในปัจจุบันนี้

สุพจน์ ตันติจิรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทพีน่า เฮาส์ จำกัด หนึ่งในจอมยุทธ์วงการเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจับสินค้าเสื้อผ้ามามากมาย นับตั้งแต่ยี่ห้อคาร์เพนเตอร์หรือสเนล ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต ก่อนหน้าที่จะมาลงเอยที่แกลลอปและพีน่า เฮาส์ ในปัจจุบัน กล่าวถึงนโยบายในการขยายขอบเขตของพีน่าเฮาส์ในครั้งนี้ว่า ด้วยข้อได้เปรียบที่สั่งสมไว้ในอดีต ทั้งเครดิตของร้าน เทน เมมเบอร์ สโตร์ที่สร้างมาก่อนหน้า ผนวกกับช่องทางระบายสินค้าที่พีน่าเฮาส์ได้วางกระจายกันตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทำให้แผนการที่จะผลักดันให้ร้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเอกลักษณ์ใหม่ที่ใช้ชื่อว่า "เทน แอนด์ โค (Ten & Co)" เกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว 15 สาขาในชั่วข้ามคืนนั้น เป็นไปดุจพลิกฝ่ามือ

"คอนเซปท์สำคัญที่เราตั้งไว้สำหรับการตั้งร้านเทน แอนด์ โคอันดับแรกคือ สาขาทุกแห่งจะต้องเปิดในเวลาไล่เรี่ยกัน เพื่อเป็นการจู่โจม และจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของลูกค้าอย่างรวดเร็ว ด้วยข้อได้เปรียบที่เรามีจุด Outlet ดังว่าที่พร้อมจะปรับโฉมให้มาเป็นร้านเทน แอนด์ โคอย่างรวดเร็ว ทำให้คนทั่วไปรู้จักร้านค้าใหม่นี้เกือบพร้อมกัน" สุพจน์กล่าว

จนถึงขณะนี้เทน แอนด์ โคมีเครือข่ายทั้งหมด 17 แห่งด้วยกัน ตามย่านสำคัญต่างๆ เช่น เซ็นทรัลลาดพร้าว มาบุญครอง เดอะมอลล์หลายสาขาฯ ซึ่งมีนโยบายจะเปิดให้ครบเฉพาะในกทม.จำนวน 25 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 150 ตารางเมตร เพื่อให้สามารถจัดพื้นที่ในการขายสินค้า ผสมผสานกับพื้นที่ที่ต้องกันไว้ให้กับการตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ได้อย่างลงตัว ในขณะที่ไม่ได้มีการจำกัดพื้นที่สูงสุดของเทน แอนด์ โคไว้แต่อย่างใด โดยขณะนี้ร้านที่สยามแสควร์ครงข้ามมาบุญครองมีพื้นที่มากที่สุดถึง 400 ตร.ม. สุพจน์เองยังหวังไว้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีเทน แอนด์ โคที่มีขนาดพื้นที่ 1,000 ตร.ม. เพื่อเป็นแหล่งเสื้อผ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

แต่ละจุดขายของเทน แอนด์ โคกำหนดไว้ว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 6-7 ล้านบาท โดยจะใช้ในส่วนของตกแต่งมากถึง 1.5-1.7 ล้านบาท ด้วยเหตุที่ใช้งบตกแต่งค่อนข้างสูงนี้เอง จึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าคอนเซปท์ในการตกแต่งของเทน แอนด์ โคจึงเป็นสิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษอีกเช่นกัน

โดยจุดหลักของการออกแบบร้านเทน แอนด์ โคนี้ จะเป็นไปเพื่อให้มีพื้นที่ยืนชมสินค้ามากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าเดินชมสินค้าทั้งร้านได้อย่างสบายและยังเป็นการไม่ยัดเยียดสินค้าให้กับลูกค้ามากเกินไปอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว การตกแต่งจะต้องไม่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าใดเป็นสำคัญ เนื่องจากสินค้าของเทน แอนด์ โค มุ่งหวังจะจับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับซีบวกขึ้นไป และไม่เน้นเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นสำคัญ

สาเหตุที่พีน่าเฮาส์มุ่งหวังจะสร้างเทน แอนด์ โคขึ้นมานั้น ไม่ได้เตรียมการไว้เพื่อให้เป็นจุดขายใหม่เท่านั้น แต่หวังจะสร้างให้เทน แอนด์ โคมีภาพพจน์ของความเป็นข่องทางค้าปลีกสินค้าเสื้อผ้าที่แข็งแกร่งเพื่อแผนการในอนาคต แทนที่จะมุ่งหวังสร้างให้เป็นแหล่งสนับสนุนตัวสินค้า ดังที่ค่ายอื่นนิยมทำกัน โดยแผนการในอนาคตที่พีน่าเฮาส์ตั้งไว้นั้นหวังจะผลักดันให้เทน แอนด์ โคเป็นแหล่งกระจายสินค้าอื่นๆ ในเครืยข่ายของพีน่า เฮาส์ หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าอีกด้วย

"เราจะพบว่าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จะเน้นไปที่ภาพพจน์ของร้านเป็นสำคัญ โดยไม่ต้องห่วงถึงระยะเวลาที่จะหมดวงจร ผิดกับสินค้าทั้งหลายที่จะต้องมีระยะเวลาหนึ่งที่จะหมดวงจรชีวิตของตัวมันเอง"

แผนการของพีน่าเฮาส์ยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การทำธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะขยายเครือข่ายของเทน แอนด์ โคในภูมิภาคออกไปให้กว้างไกลโดยเร็วที่สุด โดยในส่วนของกรุงเทพฯนั้น เทน แอนด์ โคจะหยุดจำนวนสาขาทั้งหมดไว้ที่ 25 แห่งเท่านั้น ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะเปิดได้ครบอย่างแน่นอน

แผนการขยายเครือข่ายโดยแฟรนไชส์ของเทน แอนด์ โค กำลังอยู่ในระหว่างการว่าจ้างให้บริษัท เอฟ ดี เอส จากสิงคโปร์ ศึกษารูปแบบการทำธุรกิจประเภทนี้อยู่ และจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ระหว่างนี้ก็มีผู้สนใจมากหน้าหลายตา ติดต่อเข้ามาเพื่อขอร่วมมือในแฟรนไชส์นี้ด้วย ซึ่งเทน แอนด์ โคได้ตั้งเป้าไว้ว่า หลังจากเริ่มต้นโครงการแฟรนไชส์ในปีหน้าจนถึงปี 2539 จะมีร้านค้าทั่วประเทศที่จะแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ มาอยู่ในแบรนด์ที่ชื่อว่าเทน แอนด์ โคนี้ไม่น้อยกว่า 50 แห่ง ซึ่งจะทำให้พีน่าเฮาส์ บริษัทแม่จะต้องเร่งกำลังเสื้อผ้าจากที่มีอยู่เดิมขณะนี้ เพียง 200,000 ตัว/เดือน ให้ขึ้นเป็น 300,000 ตัวในปีหน้าอย่างแน่นอน

"เราเชื่อมั่นว่า บรรดาร้านเสื้อผ้าในต่างจังหวัดในย่านทำเลดีๆ หากเขาเข้าใจถึงคอนเซปท์ของเทน แอนด์ โคเป็นอย่างดีแล้ว เขาจะต้องมาร่วมอุดมการณ์กับเราอย่างแน่นอน เพราะที่เขาขายกันนั้นส่วนใหญ่จะไม่มีคอนเซปท์รวมที่จะดึงดูดใจลูกค้าได้ ในขณะที่เมื่อมาอยู่ร่วมกับเราแล้ว ราคาสินค้าก็ไม่ได้แพงขึ้นกว่าที่เป็นมาแต่อย่างใด"

เทน แอนด์ โคเป็นนวัตกรรมทางการตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สร้างความเปรี้ยงปร้างในคราแรกที่เปิดตัวพร้อมกันถึง 15 สาขา บทพิสูจน์ดังว่าคงเป็นเครื่องการันตีได้ว่า แฟรนไชส์อีก 50 สาขาของ เทน แอนด์ โคไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.