จัสมินรับเนื้อ ๆ ผลประโยชน์โตตามเงา TT&T

โดย ไพเราะ เลิศวิราม ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายคนเคยตั้งคำถามว่า ใครจะได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขมายระหว่างผู้ถือหุ้นทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าผู้ถือหุ้นทุกรายได้จะผลประโยชน์ในด้านรายได้จากส่วนแบ่ง ของการเป็นเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์หลังจากแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทศท. แล้ว รวมถึงธุรกิจบริการเสริมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโทรศัพท์

แต่ในแง่ของผลประโยชน์ทางอ้อมที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากโครงการอย่างเต็ม ๆ นั้น จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ถือหุ้นแต่ละรายว่า จะเข้าไปเก็บเกี่ยวรายได้ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร แน่นอนว่าจะต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วย

กลุ่มจัสมิน อิตัลไทย (ในเครืออิตาเลี่ยนไทย) และล็อกซเล่ย์ คือ ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์สูงสุด จากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงโทรคมนาคม

แหล่งข่าวจาก TT&T กล่าวว่า งานใหญ่ ๆ ในโครงการ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มจัสมิน เพราะมีพื้นฐานมาจากงานทางด้านวิศวกรรม ซึ่งนำมาใช้ในงานทางด้านการวางข่ายสายโทรศัพท์ได้ไม่น้อย

ที่สำคัญ TT&T ถือเป็นบริษัทลูกแห่งหนึ่งของจัสมิน ไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่กลับเป็นตัวเสริมให้กับจัสมินมากกว่า แล้วรายได้หลักของจัสมินก็มาจาก TT&T ดร.อดิศัย จึงยอมรับว่า จัสมินจึงหวังมากใน TT&T เพราะจัสมินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 20% ซึ่งสามารถนำรายได้มาเป็นผลในการดำเนินงาน ในขณะที่กลุ่มอื่นหรือผู้ถือหุ้นรองลงมา คือ ล็อกซเล่ย์ มีเพียง 18%

"ดังนั้น หาก TT&T โตมากเท่าไร จัสมินก็จะโตตามมากเท่านั้น สิ้นปี 2539 TT&T จะมีทรัพย์สินถึง 40,000 ล้านบาท จัสมินก็จะมีทรัพย์สินประมาณ 20,000 ล้านบาท ต่อไปก็ไม่สามารถแยก TT&T กับจัสมินได้" ดร.อดิศัย กล่าว

ผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างเห็นชัดที่สุดอีกทางหนึ่ง ก็คือ ในเรื่องของภาพลักษณ์ความผูกพันกันระหว่าง TT&T และกลุ่มจัสมิน ทำให้จัสมินได้เครดิตไปจาก TT&T ในการขยายโครงการออกไปอีกไม่น้อย

เพราะทันทีที่จัสมินได้บริหารโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย ทำให้ชื่อเสียงของจัสมิน ขจรขจายออกไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้จัสมินได้อาศัยจังหวะเหล่านี้ในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากการขยายงานในประเทศ จัสมินยังมุ่งขยายงานในต่างประเทศอยู่เสมอ ซึ่ง ดร.อดิศัย ให้เหตุผลว่า เป็นส่วนงานที่ทิ้งไม่ได้ เพราะจัสมินต้องการเติบโต ก็ต้องเข้าไปทำธุรกิจกับเพื่อนบ้านจะอยู่แต่ในประเทศไม่ได้ ต้องเชื่อมกับเพื่อนบ้าน รวมทั้งต้องสร้างสัมพันธภาพด้านการลงทุน ซึ่งรัฐบาลเองก็ส่งเสริมอยู่ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการลงทุน บริการ การโรงแรม รวมทั้งการสื่อสารก็เป็นหนึ่งในส่วนที่รัฐส่งเสริม

การลงทุนของจัสมินในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในขณะนี้ คือ การลงทุนโครงการเซลลูลาร์ เอเชีย ซึ่งยังอยู่ในช่วงลงทุนและยังไม่มีรายได้ แต่เป็นโครงการที่จัสมิน คาดว่าจะทำรายได้มากที่สุดในอนาคตสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ

ส่วนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์รองลงมาก คือ กลุ่มอิตาเลียนไทย เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทาง ทำให้งานข่ายสายตอนนอกตกอยู่ในมือของอิตัลไทยเป็นส่วนใหญ่

แหล่งข่าว กล่าวว่า แม้ว่าในการคัดเลือกผู้รับเหมางานต่าง ๆ ของโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายจะเปิดให้มีการประมูล แต่ก็มีการตั้งเงื่อนไขว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นภายในก่อน ดังนั้น งานส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับผู้ถือหุ้นที่มีความชำนาญก่อน

และจากการขยับขยายของกลุ่มอิตาเลียนไทยมาสู่โครงการโทรศัพท์ จะเห็นได้ว่า ในระยะแรกกลุ่มอิตาเลียนไทยได้เริ่มขยับเข้าไปในกิจการทางด้านนี้ โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มจัสมินในการเข้าไปประมูลงานในต่างประเทศ

สำหรับล็อกซเล่ย์แล้ว ผลพวงที่ได้รับจากโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย คือ งานติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการบริการลูกค้า (CCSS) โดยร่วมมือกับบริษัท SC&C ของจัสมินเท่านั้น

แหล่งข่าวในล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า งานที่ล็อกซเล่ย์ได้มานั้นเทียบมูลค่าไม่ได้กับการวางข่ายสายตอนนอก หรืองานวิศวกรรมเช่นเดยวกับจัสมินหรืออิตัลไทย

แต่ล็อกซเล่ย์เองไม่ยอมปล่อยให้โอกาสผ่านเลยไป เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ล็อกซเล่ย์จึงได้ร่วมทุนกับฮิตาชิก่อตั้งบริษัทล็อกซเล่ย์ ฮิตาชิในการผลิตอุปกรณ์ข่ายสายตอนนอกเพื่อรองรับกับโครงการโทรศัพท์ 1 ล้าน และป้อนให้กับโครงการโทรศัพท์ที่จะเกิดขึ้น แต่กว่าจะก่อตั้งและเริ่มผลิตได้ก็ไม่ทันกับโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย ต้องรอไปถึงการขยายโครงการโทรศัพท์ในครั้งหน้า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ล็อกซเล่ย์ได้จับมือกับบริษัทบีทีซี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างฟูรูกาว่า และยาซากิ จากญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท ไทยไฟเบอร์ออฟติก ผลิตเคเบิลใยแก้วขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

แม้ว่าล็อกซเล่ย์จะให้ความสำคัญต่อการขยายกิจการโทรคมนาคม และมีโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย แต่การขยายกิจการทางด้านนี้ของล็อกซเล่ย์กลับยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

สาเหตุอาจเป็นเพราะแนวทางในการขยายของล็อกซเล่ย์ไม่ชัดเจน จะเห็นได้ว่า โครงการโทรคมนาคมที่ล็อกซเล่ย์ได้มาจากการไปยื่นขอสัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ยังไม่มีโครงการใดที่ทำรายได้ให้กับล็อกซเล่ย์อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเป็นบริการรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม (อัพลิงค์-ดาวน์ลิงค์) รวมถึงบริการข้อมูลระหว่างประเทศที่ล็อกซเล่ย์ได้รับสัมปทานมาเมื่อ 2 ปีล่วงมาแล้ว แต่ยังไม่เริ่มโครงการเลย

จะเห็นได้ว่า หลังจากได้รับสัมปทาน 1 ล้านเลขหมาย คงไม่ต้องบอกว่า ใครคือผู้ที่รับผลประโยชน์สูงสุดในงานนี้ ถ้าไม่ใช่กลุ่มจัสมินที่เติบโตตามเงาของ TT&T เลยก็ว่าได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.