อสังหาฯต่างชาติผวาการเมืองไทย


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ต่างชาติแหยงปัญหาการเมืองไทยไม่กล้าลงทุน ยอมรับเดินขบวนมีผลต่อบรรยากาศการลงทุน แนะรัฐบาลไทยพัฒนาการใช้พื้นที่สลัมให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างตึกสูงให้คนจนอยู่ ระบุอสังหาฯ ภูเก็ตและหัวหินน่าลงทุน กระทุ้งขอปล่อยผีให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทเกิน 49% อ้างต้องการควบคุมกิจการ เอง ด้านเอกชนไทยชี้แนวโน้มออกไปขุดทองต่างประเทศ เหตุการลงทุนในไทยทำกำไรลดลง พร้อมแนะศึกษากฎหมาย-ผังเมือง-วัฒนธรรมให้ละเอียดก่อนลงทุน

นายมานพ พงศทัต อาจารย์พิเศษ ภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ (FLABCI- THAILAND) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้สมาพันธ์ อสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศ หรือ International Real Estate Federation เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับมอบหมาย ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน "ประชุมอสังหาริมทรัพย์โลก FIABCI WORLD CONGRESS 2006" ระหว่างวันที่ 26-31 พฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานดังกล่าว ได้แก่ ผู้บริหารระดับซีอีโอในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่บริษัทพัฒนาที่ดิน บริษัทนายหน้า สถาปนิก ธนาคารจากทั่วโลก เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน นอร์เวย์ เป็นต้น จำนวนประมาณ 700 คน รวมผู้ติดตาม อีก 200 คน และผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยอีก 200-300 คน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

สำหรับจุดประสงค์หลักของการ จัดงานครั้งนี้ ต้องการให้การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากทั่วโลก ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ วิธีการ รวมถึง เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งการก่อสร้างและการเงินในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันออกไป และเป็นการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการได้รู้จักกันมากขึ้น เมื่อเรียนรู้กันถึงจุดหนึ่งหรืออีกประมาณ 1-2 ปี เชื่อว่าจะพัฒนาไปสู่การลงทุนร่วมกัน

ต่างชาติหวั่นการเมืองไทยไม่กล้าลงทุน

นายดาโต๊ะ อลัน ตง อดีตประธาน FIABCI กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมมาประมาณ 40 กว่าประเทศหรือประมาณ 700 คน จากเดิมที่ยืนยันเข้าร่วมงานกว่า 50 ประเทศ หรือ 1,000 คน เนื่องจากไม่มั่นใจในสภาพการเมืองของไทย ที่ไม่มีความสงบในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำ ให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ ปัญหาดังกล่าว ตนเชื่อว่าไม่มีการเดินขบวนบรรยากาศการ ลงทุนในไทยจะดีกว่านี้มาก อย่างไรก็ตาม การที่ไทยยังมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ก็เชื่อว่าจะมีผลดีอยู่มาก

นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยยังประสบปัญหาในเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายบางอย่าง อาทิ สัดส่วนการถือหุ้นที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้คน ต่างชาติถือได้เพียง 49% ซึ่งคนที่มาลงทุนต้องการที่จะเป็นผู้ควบคุมกิจการแทนที่จะเป็นเพียงผู้ร่วมทุนเท่านั้น หรือต้องการ ถือหุ้นเกิน 51% แต่กฎหมายไทยยังถือว่าผ่อนปรนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในสายตาของต่างชาตินั้น ยังมีหลายทำเลที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต และหัวหิน ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นกันเอง ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในลักษณะนักลงทุนรายย่อย ซื้อจำนวนยูนิตไม่มาก ส่วนการลงทุนทั้งโครงการยังมี ข้อจำกัดการถือหุ้นทำให้ไม่กล้าลงทุนจำนวน มากๆ หรือการลงทุนประเภทอาคารสำนักงานที่ใช้เม็ดเงินลงทุนสูง

"การที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเฉพาะในตลาดระดับบน เนื่องจากคนที่มาเป็นคนมีเงิน ทำให้มองเฉพาะตลาดระดับไฮเอนด์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สนใจอสังหาฯเซกเตอร์อื่น"

แนะไทยสร้างตึกสูงให้คนจนอยู่แทนสลัม

นายดาโต๊ะกล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องการแนะนำรัฐบาลไทย คือการพัฒนาพื้นที่ให้มีศักยภาพมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นสลัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทำเลที่อยู่ในเมือง ใกล้แหล่งสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน การอยู่อาศัยหนาแน่น แต่เมื่อพิจารณา ถึงสัดส่วนพื้นที่ต่อจำนวนครัวเรือนถือว่า น้อยมาก คือสร้างบ้านได้ไม่กี่หลัง ความสูงแค่ 1-2 ชั้นเท่านั้น หรือ 1 เอเคอร์อยู่ได้ ไม่กี่ครัวเรือน ซึ่งหากรัฐบาลพัฒนาเป็น ตึกสูงและให้ผู้มีรายได้น้อยเข้ามาอยู่อาศัยได้จำนวนมากอีกทั้งยังมีพื้นฐานชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งในกรณีนี้ประเทศจีนได้ทำมาแล้ว แม้ไทยจะไม่ได้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับจีน แต่ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถพัฒนาได้ไม่ยากนัก

ด้านนายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมานักลงทุน จากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการไทยเอง ก็เคยออกไปลงทุนยังต่างประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัจจุบันก็ยังมีออกไปลงทุนบ้านแต่ไม่มาก ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศนั้น เกิดจากการทำกำไร ในประเทศลดลง เมื่อเทียบกับต่างชาติ ภาวะของตลาดในประเทศชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศ นั้นจะต้องทำการศึกษาในรายละเอียดใหม่ทั้งหมด เช่น กฎหมาย ภาษี ผังเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ วัฒนธรรม ซึ่งในแต่ละประเทศได้เปลี่ยนใหม่หมดแล้ว หากจะเข้าไปลงทุนก็ต้องทำการศึกษาใหม่

"สำหรับศุภาลัยเองก็เคยไปลงทุนที่จีน ก่อนเกิดวิกฤตตอนนั้นไปร่วมทุน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเกิดวิกฤตก่อน ซึ่งถ้าถามว่าเราต้องการไปอีกรึเปล่าก็อยากไปอีก แต่ต้องเป็นอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้การทำกำไรในไทยก็ลดลงเรื่อยๆ แต่อสังหาฯไทยมีขึ้นมีลงต้องรอดู"

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่าง-ประเทศนั้น นอกจากปัจจัยในเรื่องการ ทำกำไรแล้วจะต้องไปคำนวณกับความปลอดภัยในประเทศนั้นๆ หากเสี่ยงมาก ก็ไม่คุ้มกับการลงทุน และสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการที่จะไปลงทุนยังต่างประเทศจะต้องมีฐานการเงินที่แข็งแกร่งมากพอที่จะลงทุน เพราะสถาบันการเงินในต่างประเทศไม่เหมือนกับในประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.