|
คลังปรับเป้าจีดีพีปี49เหลือ4.5%น้ำมันพุ่ง-การเมืองกระทบลงทุน
ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังลดเป้าจีดีพีอยู่ที่ระดับ 4.5% จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงกว่าประมาณการไว้ แต่ปัจจัยส่งออกยังหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและประเทศคู่ค้าสำคัญ 11 ประเทศภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ยอมรับปัญหาการเมืองกระทบต่อจิตวิทยานักลงทุนตัดสินใจล่าช้าออกไป เผยการปรับเป้าประมาณการครั้งนี้ไม่ได้นำโครงการเมกะโปรเจกต์มาคำนวนด้วยเพราะยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบายของรัฐบาล
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจและกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจประจำปี 2549 ใหม่ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในปี 2549 จะอยู่ที่ระดับ 4.5%ต่อปี ลดลงจากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5-5.5% ต่อปี ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลประมาณ 2.0% ของจีดีพี จากเดิมที่คาดว่าจะขาดดุลประมาณ 2.1%ของจีดีพี ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2548 อยู่ที่ประมาณ 4.2% ต่อปี
ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการปรับประมาณการครั้งนี้ เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบดูไบจากเดิมที่สศค.ประมาณการเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.4 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 63.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมประมาณการไว้ที่ 39 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เป็น 38.4 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออก 4.6% และสินค้านำเข้าที่ 6.2 % รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของประเทศไทยทั้ง 11 ประเทศขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 4 เดือนที่ผ่านมาและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง
"ถ้า FED ปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นคาดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นตามไปด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับทางแบงก์ชาติจะพิจารณาอีกครั้งว่าเมื่อถึงสถานการณ์ดังกล่าวแล้วจะทำอย่างไร ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้ามากระทบต่อการประมาณการล่าสุดด้วย" นายนริศกล่าว
ทั้งนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5% ต่อปี ช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 4.0-5.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากอุปสงค์จากภายนอกประเทศ โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.5% ต่อปี ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 7.0-8.0% ต่อปี สูงขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 4.4% ต่อปี เนื่องจากสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รถยนต์ และสินค้าเกษตร มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามความต้องการในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ภาคบริการด้านการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ตามปกติหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในปี 2549 คาดว่าจะขายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงที่ 1.6% ต่อปี ลดลงจากปี 2548 ที่ขยายตัวสูงถึง 9.3% ต่อปี เนื่องจากปี 2548 มีการนำเข้าที่ผิดปกติหลายอย่าง เช่น การนำเข้าน้ำมันดิบที่สูงผิดปกติในช่วงตรึงราคานำมันดีเซล การนำเข้าเหล็ก การนำเข้าทองคำเพื่อเก็งกำไร และเครื่องบิน 8 ลำในปี 2548 ทั้งนี้ อุปสงค์ภายในประเทศน่าจะชะลอตัวจากปี 2548 โดยการบริโภครวมในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 3.5-4.5% ต่อปี และการลงทุนรวมที่แท้จริงในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.0% ต่อปี ช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 1.5-2.5% ต่อปี โดยคาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 การลงทุนจะชะลอตัวลดลงอย่างมากเนื่องจาการตั้งงบประมาณปี 2550 ล่าช้าออกไป
ด้านเสถียรภาพภายในคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2549 จะชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 4.2% ต่อปี ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 3.9-4.4% ต่อปี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่สูงในครึ่งแรกเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงในครึ่งปีหลังของปี 2549 โดยคาดว่าเงินเฟ้อในช่วงปลายปีจะลดลง
สำหรับการลงทุนในไตรมาสแรกนั้นขยายตัวที่ 5% โดยแบ่งเป็นภาครัฐขยายตัวที่ 6.2% ส่วนภาคเอกชน 4.7% โดยการลงทุนเป็นเพียงตัวแปรด้านนโยบายที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องหันมาทำการผลักดันให้เกิดการลงทุนให้มากขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบันที่มีการลงทุนในประเทศน้อยลงเพราะเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ 1.สินค้าคงคลังเดิมมีอยู่จำนวนมาก ทำให้ไม่มีการลงทุนและการผลิตเพิ่มขึ้น และ 2.ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์เนื่องมาจากตลาดในปัจจุบันยังไม่ดี ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการก่อสร้างไม่สามารถหาทุนได้
"ส่วนงบประมาณของรัฐวิสาหกิจของปี 2549 ที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 2.79 แสนล้านบาทโดยในปีนี้คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 60% ทั้งนี้หากรัฐสามารถเร่งให้มีการเบิกจ่ายได้มากกว่านี้ ก็จะส่งให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน"นายนริศกล่าว
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอก คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2549 จะกลับมาเกินดุลที่ 2.0% ของจีดีพี ช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 1.5-2.5% ของจีดีพี เนื่องจากการขาดดุลการค้าที่ลดลง และการปรับตัวดีขึ้นของดุลบริการ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 จะขยายตัว 13.1% ต่อปี ช่วงคาดการณ์อยู่ที่12.1-14.1% ต่อปี จากปริมาณการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แม้ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือ 7.1% ต่อปี ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 6.1-8.1% ต่อปี ตามปริมาณและราคาสินค้านำเข้าที่ชะลอตัวลง
ทางด้านปัญหาน้ำท่วมที่ภาคเหนือในขณะนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวว่า เมื่อดูภาพรวมแล้วก็มีส่วนกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่มากจนส่งผลให้จีดีพีลดลงแต่อย่างใด เนื่องจากทั้ง 5 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมในครั้งนี้ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นร่องเขา ส่วนตัวเลขความเสียหายนั้นอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล
ทั้งนี้ในการประมาณการครั้งนี้ไม่ได้นำปัจจัยการลงทุนของการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์มาใช้แต่อย่างใด ส่วนในอนาคตถ้าหากมีสมมุติฐานหรือปัจจัยใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทลต่อเศรษฐกิจทางสศค. ก็จะกลับมาทบทวนการประมาณการกันอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายนพบว่า ภาษีฐานรายได้สามารถขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 12.7%ต่อปี ชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคมเล็กน้อย ที่ขยายตัว 15.2% ต่อปี โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถขยายตัวได้ถึง 17.9% ต่อปี ในขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลขยายตัว 8.7% ต่อปี สำหรับรายได้ภาษีจากฐานการบริโภคขยายตัวที่ 7.3% ต่อปี ชะลอลงจากเดือนมีนาคมที่ขยายตัว 10.9% ต่อปี
และเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานโดยเฉพาะในภาคการเกษตรขยายตัวดี โดยราคาสินค้าเกษตรเดือนเมษายนขยายตัวสูงที่ 23.8% ต่อปี สำหรับเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมพบว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงมาจากมูลค้าการนำเข้าวัตถุดิบหดตัว 14.2% ต่อปี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|