อัดรัฐ“บ้อท่า”แผนท่องเที่ยว งบประมาณสะดุด-ขายแต่ของเก่ากิน


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

พิษเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง กระทบธุรกิจท่องเที่ยว ส.โรงแรม ระบุ ภาพรวมเดือนเมษายน โรงแรมเกือบทุกภาค อัตราเข้าพักวูบ แม้จังหวัดเชียงใหม่เองยังลดลง 5-6% เชื่อช่วงบอลโลกซบหนักกว่านี้ เผยมีเพียง 3 เดสติเนชั่น กรุงเทพฯ พัทยา เกาะสมุย ที่ยังเติบโต อัดภาครัฐดีแต่ให้นโยบาย และ ตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่ไม่มีแผนงานเป็นรูปธรรม ซ้ำงบประมาณยังมีปัญหา ปล่อยคู่แข่งอย่างฮ่องกง สิงคโปร์นำหน้า

นายประกิจ ชินอมรพงษ์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ ทีเอชเอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสมาคมโรงแรมไทยว่า จากรายงานของสมาชิกสมาคมโรงแรมไทยในทุกภาค พบว่า อัตราการเข้าพักในเดือนเมษายน ลดน้อยลงเกือบทุกเดสติเนชั่น โดยเฉพาะที่จังหวัด เชียงใหม่ ทั้งที่เป็นช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ แต่กลับพบว่า ตัวเลขอัตราเข้าพักโรงแรม เฉลี่ยทั้งเดือนเพียง 49% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5-6% ขณะที่รายงานการขายห้องพักผ่านเคาน์เตอร์ ทีเอชเอ ที่สนามบินเชียงใหม่ เฉพาะเดือนเมษายน 49 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 18.74%

ส่วนจังหวัดเชียงรายมีอัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยไม่ถึง 45% ขณะที่ภาคตะวันตกซึ่งจะรวมหัวหินด้วย มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ 60-65% ลดลง 5-10% จากปีก่อนที่มีอัตราเข้าพักที่ 70% สำหรับภาคกลางมีอัตราเข้าพักที่ 68% ลดลง 8% ส่วนภาคอีสาน อัตราเข้าพักที่ 60-65% ลดลง 5-10% เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีเพียง 3 เดสติเนชั่นเท่านั้นที่อัตราเข้าพักโรงแรมในเดือนเมษายน ยังคงเติบโต ได้แก่ กรุงเทพฯ มีอัตราเข้าพัก 68-14% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.9%, พัทยา มีอัตราเข้าพัก 71% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.5% และ เกาะสมุย ที่มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 70-80% เพิ่มขึ้น 5-10% ในส่วนของภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต มีอัตราเข้าพักที่ 45-50% มากกว่าปีก่อนซึ่งเกิดเหตุการณ์สึนามิถึง 100%

พิษการเมืองกรุ๊ปสัมมนาวูบ

สาเหตุหลักมาจากหลายปัจจัยลบคือ ปัญหาทางการเมือง ราคาน้ำมันแพง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจากสภาวะรัฐบาลรักษาการ ส่งผลให้กรุ๊ปประชุมสัมมนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้จัด มีการชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด เป็นเพราะการใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณ ต้องรัดกุมขึ้น ทำให้ตลาดประชุมสัมมนาของแต่ละโรงแรมหดตัวไปไม่น้อยกว่า 5-10% ดังนั้น เป้าหมายตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ ที่วางไว้ปีนี้ที่ 79 ล้านคนครั้งไม่น่าเป็นไปได้ อย่างดีคงได้แค่ 76 ล้านคนครั้งเท่าปีก่อน เพราะกรุ๊ปสัมมนาหายไปมาก

นายชนินทร์ โทณวณิก นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มของโรงแรมที่พัก ผู้ประกอบการทุกรายโดยเฉพาะโรงแรมที่ตั้งอยู่ตามแถบหัวเมืองต่างยอมรับว่า จำนวนนักท่องเที่ยว และกลุ่มประชุมสัมมนา มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุด ปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วมภาคเหนือ ยิ่งทำให้ผู้คนเกิดความไม่มั่นใจ และชะลอการจับจ่าย ขณะเดียวกัน ยังเข้าสูงช่วงโลว์ซีซั่น และ มีการแข่งขันฟุตบอลโลก คนไทยก็ไม่นิยมเดินทางไปเที่ยว ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรป ก็ไม่เข้ามาเที่ยวประเทศไทย แต่อาจหันไปเที่ยวในประเทศแถบยุโรปด้วยกันเอง สายการบินไทย ได้ลดจำนวนเที่ยวบินในแต่ละเส้นทางลง เช่น ที่เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

ทั้งนี้สมาคมฯได้มีการประเมินเบื้องต้นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กลับทำงานไม่ได้เต็มที่นัก มีสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ 1.ดูทิศทางของรัฐบาลว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด 2.ผู้ว่า ททท. ใกล้หมดสัญญาว่าจ้าง และ 3. การเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ไม่มีความแน่นอนว่าจะได้หรือไม่ โดยเฉพาะงบกระตุ้นพิเศษ

อัดรัฐดีแต่ให้นโยบาย

ดังนั้น การที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มนักท่องเที่ยวเป็น 14-14.5 ล้านคนในปีนี้ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 25% คงเป็นไปไม่ได้ แต่อาจทำได้อย่างดีก็เพียง 13.8 ล้านคน ซึ่งน่าจะเพิ่มจากปีก่อนราว 7-10% อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะให้งบประมาณ ททท. มาเพื่ออัดฉีด จัดแคมเปญ โปรโมชั่น ดึดดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ก็คงหนีไม่พ้น การลดราคาห้องพัก ซึ่งไม่ถูกต้อง และแม้โรงแรมจะเข้าร่วม ก็อาจไม่มีลูกค้า จะเห็นได้ว่า 3-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ไม่มีอะไรแปลกใหม่ นอกจากธรรมชาติ และทะเล ทั้งที่มีแผนจะขึ้นเป็นที่หนึ่งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้

“ยอมรับว่า ตอนนี้ ททท. กับภาคเอกชน มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น แต่ ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ เอกชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด เพราะงบประมาณ ททท. มีจำกัด แต่เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ธุรกิจท่องเที่ยวจะถูกหยิบขึ้นมาใช้ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลมีเพียงแต่ให้นโยบาย และ ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว ไม่มีแผนการดำเนินงานอื่นๆที่เป็นรูปธรรมซึ่งการมุ่งจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะเข้าสู่ภาวะเดิม คือได้แต่ปริมาณ ไม่ได้คุณภาพ ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างฮ่องกงมี ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ มีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ ส่วนสิงคโปร์ ก็ประกาศที่จะสร้างคาสิโนที่ใหญ่สุดในภูมิภาค แต่ประเทศไทย แม้แต่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม บางครั้งยังติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งแผนกระตุ้นท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซั่นปีนี้ ต้องเริ่มทำเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา จึงเห็นผล ไม่ใช่มาคิดทำช่วงนี้” นายชนินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) นายอภิชาติ สังฆอารีย์ กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยน้ำป่าและดินถล่ม ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ส่งผลให้มีน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคเหนือ อาจมีผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย และการติดตั้งระบบเตือนภัย ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญ ให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ และเลือกที่จะเข้ามาเที่ยวประเทศไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.