ช.การช่างโหมยึดงานสาธารณูปโภคต่อยอดรายได้-เงินปันผล-ล็อกราคาซัปพลายคุ้มต้นทุน


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ปลิว ตรีวิศวเวทย์" บิ๊กช.การช่าง เดินหน้าสยายปีกสู่งานสาธารณูปโภคเกือบทุกด้าน หวังรับรายได้ระยะยาว ทั้งเงินปันผลและงานก่อสร้าง เล็งเข้าชิงประมูลรถไฟฟ้า 3 สาย หวังขอเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ภาครัฐ ยืนยันกระจายหุ้นBMCL ปลาย มิ.ย. พร้อมนำบริษัทน้ำประปาไทยฯกระจายหุ้นปีนี้เช่นกัน หวังระดมทุนรองรับงานขยายตัวสาธารณูปโภคในอนาคต ด้านอิตัลไทยเดินหน้าอุบงานรัฐ-เอกชนเพิ่มเกือบ 900 ล้านบาท ค่ายแอสคอนฯลดพอร์ตงานก่อสร้างบ้านจัดสรร

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางของ ช.การช่าง ในอนาคตว่า ช.การช่าง ในปัจจุบันเป็นบริษัทก่อสร้างใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ รองจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งขณะนี้บริษัท ช. การช่างฯ กำลังขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจสาธารณูปโภคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด่วนที่มีบริษัทในเครือคือ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีซีแอล) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกำลังจะนำบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL ) เข้ากระจายหุ้นในปลายเดือนมิถุนายนนี้

นอกจากนี้ ได้ลงทุนผลิตน้ำประปา โดยบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด "TTW" ซึ่งผลิตน้ำประปาในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งได้วางแผนที่จะกระจายหุ้น "TTW" ที่มีทุนจดทะเบียน 3,250 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3-4 ปีนี้ เพื่อเตรียมพร้อมในการขยายธุรกิจระบบท่อน้ำในอนาคต

ล่าสุด ช.การช่าง ได้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ลงทุนรับงานก่อสร้างถนนในกัมพูชา และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการผลิตไฟฟ้าน้ำงึม 2 ใน สปป.ลาว ซึ่งเข้าไปถือหุ้น 28.5 % ในบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด (SEAN) มีกำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ โดยมีมูลค่าโครงการร่วม 31,600 ล้านบาท และบีอีซีแอล ถือหุ้น 12.5 % ซึ่งโครงการนี้ ช.การช่าง เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ดังนั้น ช.การช่าง จะได้ผลประโยชน์ทั้งจากการร่วมทุนและการก่อสร้าง โดยโครงการนี้ทำสัญญาขายไฟฟ้าแก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปี คาดรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ในอนาคตบริษัทสนใจที่จะลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติมในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการร่วมทุนประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในประเทศไทยด้วย

"หลังจากที่ SEAN ลงนามสัญญาก่อสร้างกับบริษัท ทำให้บริษัทได้บันทึกรายได้เข้ามาทันที 2,000 ล้านบาท เพราะได้เริ่มก่อสร้างไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว และปีนี้ยังได้กำไรจากการขายหุ้น TTW ให้แก่บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) อีก 1,000 ล้านบาท รวมทั้งงานก่อสร้างในมือ จึงมั่นใจว่าปีนี้จะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วที่มีกำไรประมาณ 700 ล้านบาท และมีรายได้ 14,000 ล้านบาท" นายปลิว กล่าว

ขอเบียดชิงก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย

นายปลิว กล่าวว่า บริษัทยังมีความสนใจที่เข้าร่วมประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย ที่รัฐบาลแยกออกมาจากโครงการเมกะโปรเจกต์มีมูลค่าประมาณ 150,000-170,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะใช้ประสบการณ์ในBMCLเข้ามาประมูล โดยจะร่วมกับพันธมิตรเดิมคือญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งจะใช้บีเอ็มซีแอลเป็นบริษัทประมูลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเปิดในรูปแบบใด ซึ่งหากรัฐบาลประมูลโดยใช้รูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบัน คือรัฐบาลก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และเปิดให้เอกชนประมูลการบริหารการเดินรถไฟฟ้า ก็คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายใน 2 เดือน หลังจากนี้

"ในขณะนี้บริษัทมีงานก่อสร้างในมือ 20,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 อีก 20,000 ล้านบาท ก็จะทำให้มีงานในมือรวม 40,000 ล้านบาท ไปจนถึงปี 2552 และ ในขณะนี้รัฐเตรียมเปิดประมูลโครงการต่าง ๆ ตามแผนที่ไม่เกี่ยวข้องเมกะโปรเจกต์อีก 40,000-50,000 ล้านบาท บริษัทคาดว่าจะได้งานประมาณครึ่งหนึ่ง และหากรวมการประมูล 3 โครงการรถไฟฟ้า 150,000-170,000 ล้านบาท ก็คาดว่าจะได้งานในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 25% " นายปลิว กล่าว

นายปลิว กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อล็อกราคาสินค้าการก่อสร้างกับคู่สัญญา เพื่อไม่ให้ต้นทุนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เพราะในช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมากนั้น ส่งผลให้ส่วนต่างกำไรบริษัทลดลงจาก 5% เหลือเพียง 3-4% สำหรับโครงการที่บริษัทไปประมูลได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการที่จะเข้าประมูลใหม่ในปีนี้นั้น บริษัทจะพยายามบริหารจัดการกำไรให้ได้ประมาณ 4-5%

อิตัลไทยรวบอีก4โปรเจกต์เกือบ900ล้าน

ด้านนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ กล่าวว่าในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ลงนามสัญญาก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ รวมมูลค่างานเกือบ 900 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สำหรับสถานีต้นทางรัชดาภิเษก-สถานีต้นทางดินแดง ของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)มูลค่างาน 46.87 ล้านบาท , โครงการเอทีซี รีฟอร์มเมอร์ แอนด์ อะโรเมติกส์ คอม เพล็กซ์ 2 ส่าวนงานโยธา ของบริษัท เอสเคอีซี (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่างาน 683.84 ล้านบาท , โครงการก่อสร้างท่อขนส่งผลิตภัณฑ์ และโครงเหล็ก ของบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มูลค่า 26.91 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงโรงแรมโฟร์ซีซันส์ กรุงเทพฯ (เฟส 2) ของบริษัท โรงแรมราชดำริ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 133.46 ล้านบาท

แอสคอนฯลดพอร์ตโครงการจัดสรร

นายพัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกลยุทธ์ของบริษัทในปีนี้ว่า บริษัทจะมุ่งกระจายความเสี่ยงหรือกระจายแหล่งที่มาของรายได้ โดยคาดการณ์ในปีนี้ โครงสร้างรายได้จะมีสัดส่วนที่เปลี่ยนไป โดยโครงการบ้านพักอาศัยจะปรับมาอยู่ที่ 25% ,คอนโดมิเนียม-อาคารสูงขยับมาเป็น 40% ,โรงงาน 20% และงานภาครัฐ 15% ทั้งนี้ ในส่วนของงานโครงการบ้านจัดสรรจะลดน้อยลง เนื่องจากเป็นไปตามสภาวะของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลง ส่วนอาคารสูงยังคงมีความต้องการอยู่ ประกอบกับการลงทุนจากกลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการที่เกิดขึ้นตามแนวเส้นทางขนส่งมวลชนในอนาคต เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่มาของรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น คือ การก่อสร้างโรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมาจากสายสัมพันธ์ของบริษัท และฐานลูกค้าจากธุรกิจของบริษัทย่อย นอกจากนี้ การรุกเข้าสู่การประมูลงานเพื่อรับงานก่อสร้างของภาครัฐ ซึ่งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ภาครัฐ จากเดิมที่มีอยู่ 15% ให้มากขึ้นถึง 50% ในอนาคต คาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะรักษาสัดส่วนทั้งรายได้และกำไร โตขึ้นเฉลี่ยที่ 50


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.