|

วอลุ่มหดเหลือ6.4พันล้านต่ำสุด21เดือน
ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หุ้นไทยเงียบเหงา มูลค่าการซื้อขายหดหายเหลือเพียง 6,397.38 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นักลงทุนประเมินนักลงทุนยังมีความกังวลการเทขายของนักลงทุนต่างประเทศ และรอปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นการซื้อขาย ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเชื่อดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีแตะ 795 จุด ลุ้นเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลกลับรอบใหม่ คาดแรงซื้อจะกลับมาเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลงสลับกับแรงขายเพื่อทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ
ภาวะตลาดหุ้นวานนี้(29พ.ค.)ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ซึ่งดัชนีปิดที่ระดับ 721.58 จุดเพิ่มขึ้น 4.08 จุดหรือ0.57% มูลค่าการซื้อขายที่เบาบางเพียง 6,397.38 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีมูลค่าการซื้อขายอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 9 เดือน (21 เดือน) โดยมูลค่าการซื้อขายที่อยู่ในระดับต่ำกว่านี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2547 โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 6,238.83 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 348.07 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 296.33 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 296.33 ล้านบาท
นายพิชัย เลิศสุพงษ์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ พรูเด้นท์ สยาม จำกัดเปิดเผยว่าภาวะตลาดหุ้นวานนี้ดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยมีมูลค่าการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการที่นักลงทุนต่างประเทศเทขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 11 วันทำการจำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงส่งผลทำให้นักลงทุนชะลอดูทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ ขณะเดียวกันตลาดหุ้นสหรัฐได้หยุดทำการ
นอกจากนี้นักลงทุนควรที่จะจับตาดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งจะมีตลอดสัปดาห์นี้ ทั้งตัวเลขการว่างงานและรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ
สำหรับกลยุทธ์ให้นักลงทุนคงสัดส่วนการถือเงินสดและการถือหุ้นในพอร์ตเหมือนเดิม แต่อาจจะปรับเปลี่ยนหุ้นที่ลงทุน โดยเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และสามารถถือยาวได้ เช่นหุ้นกลุ่มโรงแรม,โรงพยาบาล
แนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้คาดว่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ภายในระยะเวลา 1-2 วันนี้ แต่อาจจะมีการดีดกลับ เพราะอาจจะได้รับผลบวกจากปัจจัยภายใน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยมีแนวรับ 710 จุดและแนวต้านที่ 730 จุด
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศเริ่มชะลอการขายหุ้นออกมา สาเหตุที่มีมูลค่าการซื้อขายที่ลดลง เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายในลักษณะเก็งกำไร และการที่ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น ได้ส่งผลทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ได้รับผลกระทบบ้าง
ทั้งนี้ในระยะปานกลางตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคมจะมีมรสุมเข้ามาที่ประเทศเม็กซิโก คงจะทำให้เกิดสูญเสีญ และจะทำให้การผลิตน้ำมันดิบน้อยลง โดยได้แนะนำให้ทยอยซื้อหุ้นกลุ่มน้ำมัน เมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลดลง ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้นจะต้องรอดูในวันที่ 7 มิถุนายนว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอาร์พี 14 วันหรือไม่การลงทุนของนักลงทุนนั้นควรที่จะถือเงินสดเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50% ของพอร์ตการลงทุน เพราะมองว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าอาจจะมีการแรงเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศออกมาอีก
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบสลับทั้งแดนบวกและแดนลบ ด้านมูลค่าการซื้อขายเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนรอปัจจัยใหม่ๆเข้ามา และมีความกังวลในเรื่องของตัวเลขเศรษฐกิจทั้งของไทยและสหรัฐ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ นักลงทุนไม่กล้าที่จะเข้ามาซื้อเพราะกลัวการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ จากการที่ขายออกมามากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา (Oversold) ทำให้มีเก็งกำไรในรายตัวและรายกลุ่ม เช่นกลุ่มพลังงาน ที่ขยับขึ้นนำตลาด รวมถึงกลุ่มเหล็กและรับเหมาด้านค่าเงินบาทและน้ำมัน ไม่ค่อยมีผลต่อปัจจัยการลงทุนมากนัก
สำหรับแนวโน้มวันนี้ คาดว่าดัชนีอาจแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบและซึมๆ ซึ่งหากว่าดัชนีสามารถยืนอยู่เหนือแนวรับที่ระดับ 716จุด อาจสามารถปรับตัวขึ้นไปยืนอยู่ที่แนวต้านที่ระดับ 730 จุด โดยแนะนำให้นักลงทุนขายทำกำไร
**SETสิ้นปีแตะ795จุด
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 49 ยังคงสามารถปิดที่ระดับ 795 จุดได้ แม้บรรยากาศการลงทุนในปัจจุบันจะยังคงไม่ดีนัก เพราะขาดปัจจัยบวกที่ชัดเจน และมีแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ แต่ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ในระยะต่อไปจะมีกระแสเงินลงทุนไหลเข้ามาในเอเชียอีกรอบหนึ่งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นปี จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน น่าจะยังขยายตัวในระดับสูง เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแนวโน้มค่าเงินและตลาดหุ้นในภูมิภาคด้วย
ทั้งนี้แนวโน้มของตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป อาจจะได้รับปัจจัยบวกจากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีระดับราคาค่อนข้างต่ำ น่าจะเป็นโอกาสกลับเข้าซื้ออีกครั้ง
นอกจากนี้ ค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยยังคงต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาค ในขณะที่มี Dividend Yield ในระดับที่น่าพอใจ น่าจะเป็นปัจจัยที่จูงใจให้ นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุน โดยค่า P/E ของตลาดหุ้นไทย ณ.สิ้นเดือน เมษายน อยู่ที่ประมาณ 9.4 ขณะที่ Dividend Yield ร้อยละ 4.17
สำหรับปัจจัยลบหลายประการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นที่รับรู้ของนักลงทุนในตลาดหุ้น และสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นบ้างแล้ว หากว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไม่รุนแรงเกินกว่าระดับที่คาดไว้ ก็น่าจะทำให้ความเสี่ยงจากการปรับตัวลดลงของดัชนีในอนาคต (Down side risk) เป็นไปอย่างจำกัด
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงจาก 5.3% ในไตรมาสแรก มาที่ 3.5-4.5% ในไตรมาสที่เหลือ เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
ในส่วนปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล แผนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ และกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ
ขณะที่แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้ที่ น่าจะเป็นไปในอัตราที่ลดลงจากช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 5.8% นับตั้งแต่ต้นปี โดยคาดว่าเงินบาทน่าจะมีระดับปิด ณ สิ้นปี 2549 ที่ประมาณ 37.81 บาท/ดอลลาร์
สำหรับการเข้าซื้อขายเพื่อเก็งกำไรราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เช่น ทองคำ และทองแดง ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นเดือน พ.ค.49 นอกจากนั้น ราคาน้ำมันยังคงได้รับปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดจากโครงการนิวเคลียร์ในประเทศอิหร่าน ราคาที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทจดทะเบียน และแนวโน้มผลกำไรของบริษัทในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ โดยได้รับอานิสงส์จากส่วนหนึ่งของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะไหลกลับเข้ามาสู่ภูมิภาคในรอบใหม่ก็ตาม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยคาดว่าดัชนีอาจจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน โดยมีแรงซื้อกลับเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลง สลับกับแรงขายเพื่อทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|