กลุ่มเหล็กเจ็บตัวทั่วหน้า

โดย ศิริรัตน์ ภัตตาตั้ง กุสุมา พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

มิใช่แต่เพียงกลุ่มเหล็กในเครือปูนซีเมนต์ไทยเท่านั้น ที่ประสบปัญหาการทุ่มราคาจากต่างประเทศ และการแข่งขันอย่างดุเดือดภายในประเทศจนกระทั่งมีผลประกอบการตกต่ำ

บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสทรี (SSI) ผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนก็เจ็บตัวไม่น้อยไปกว่ากัน ด้วยเหตุผลที่ไม่แตกต่าง คือ การถูกประเทศรัสเซียและโปแลนด์ทุ่มราคาขายในราคาประมาณ 200 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของบริษัทอยู่ที่ระดับ 370 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้บริษัทต้องลดราคาขายลงมาเหลือ 325 เหรียญสหรัฐต่อตัน และลดกำลังการผลิตลงจากที่ตั้งเป้าไว้ 1.7-1.8 ล้านตันในปีนี้เหลือเพียง 2 แสนตัน ทำให้ผลประกอบการงวดครึ่งปี บริษัทมียอดขาดทุนสุทธิถึง 1,124 ล้านบาท ขณะที่ปี 2538 มีกำไรสุทธิประมาณ 304 ล้านบาท

อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ กรรมการผู้จัดการของ SSI ได้พยายามเสนอรัฐให้เก็บเซอร์ชาร์จนำเข้าเป็น 50% จากเดิมที่เก็บอยู่ 10% ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการเพือ่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ กระทรวงพาณิชย์อยู่ ซึ่งหากรัฐเพิ่มเซอร์ชาร์จไม่ถึง 50% ก็ะจไม่เป็นการช่วยป้องกันการทุ่มราคาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังได้ชะลอการลงทุนในโครงการผลิตเหล็กขั้นต้น 2 โครงการ คือ โครงการผลิตเหล็กพรุน มูลค่าลงทุน 13,500 ล้านบาท และโครงการผลิตเหล็กแท่ง มูลค่าลงทุน 14,000 ล้านบาทออกไปด้วย

ในส่วนของ บมจ.เอ็น ที เอส สตีล กรุ๊ป (NTS) และ บมจ.กรุงเทพผลิตเหล็ก (BSI) ที่ผลประกอบการตกต่ำลงเช่นกันนั้น สาเหตุสำคัญมาจากการแข่งขันภายในและต่างประเทศ เนื่องจากปริมาณการผลิตเหล็กเส้นเกินความต้องการ

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเหล็กเส้นมีสต็อกเหล็กรวม 4-5 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท โดย NTS มีสต็อกอยู่ประมาณ 1 แสนตัน

ขณะนี้โครงการเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กเส้นระยะที่ 2 ของ NTS อีก 5 แสนตัน จะแล้วเสร็จในเดือนนี้ โดยจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1 ล้านตัน ซึ่งการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อตันลง เนื่องจากประหยัดด้านค่าแรง โดยจะไม่จ้างคนงานเพิ่ม

สำหรับ BSI แม้จะประคับประคองผลประกอบการให้ไม่ถึงขั้นติดลบเช่นผู้ผลิตรายอื่น ๆ ได้ แต่กำไรสุทธิของบริษัทงวดครึ่งปีก็ตกต่ำลงไปไม่น้อยเช่นกัน จากครึ่งปี 2538 กำไรสุทธิ 157 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรก 2539 มีกำไร 20 ล้านบาทเท่านั้น

BSI มีแผนขยายกำลังการผลิตเหล็กเส้นอีก 8.5 แสนตัน ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตรวมในปี 2540 ที่ 1.28 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงจากการประหยัดต่อขนาด

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคยังคงอยู่ในภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่องเช่นปัจจุบัน จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้นในตลาดเหล็กเส้น

ภาคภูมิ วิมลไพโรจน์ เจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บงล.ซิทก้า กล่าวว่า ปริมาณการขยายตัวของเหล็กเส้นโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2533-2538 อยู่ที่ 6.51% และมีการใช้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเท่ากับ 5.26% ซึ่งปีนี้คาดว่าปริมาณการใช้เหล็กเส้นเฉลี่ยต่อคนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเหล็กเส้นภายในประเทศมีการขยายกำลังการผลิตมาก ประกอบกับภาวะอุตสาหกรรมอสังหาริมทรพัย์ซบเซา จึงทำให้ปริมารการผลิตเกินความต้องการใช้อยู่

ในส่วนของเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนก็ได้รับผลกระทบจากการทุ่มราคาขายจากประเทศรัสเซียและโปแลนด์ ทำให้ราคาขายในตลาดลด ทั้งนี้ เหล็กรีดร้อนมีการขยายตัวโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2533-2538 ประมาณ 14.97% ต่อปี และมีปริมาณการใช้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 14.97% คาดว่าปีนี้จะขยายตัวเป็น 15% และจะเกิดภาวะความต้องการขายล้นตลาด (OVER SUPPLY) ในปี 2542 เนื่องจากมีผู้ผลิตหลายรายเริ่มดำเนินการผลิต

ภาคภูมิ มองว่า เหล็กลวดแรงดึงสูง ยังมีศักยภาพในการทำกำไรได้อยู่ เนื่องจากมีการใช้งานมากในโครงการสาธารณูปโภค แม้จะมีการผลิตที่เกินความต้องการอยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถขยายตัวได้

"ปี 2533-2538 เหล็กลวดแรงดึงสูงมีการขยายตัวโดยเฉลี่ย 12.9% และมีปริมาณการใช้โดยเฉลี่ย 11.51% คาดว่าปีนี้ปริมาณการใช้จะเพิ่มเป็น 15-20% เนื่องจากมีการใช้ค่อนข้างมากในโครงการสาธารณูปโภคของรัฐ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.