|
YUASAเผยQ2 ปีนี้ไม่ต่างจากปี48 ราคาน้ำมันพุ่งความต้องการใช้ลด
ผู้จัดการรายวัน(29 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
yuasa เผยผลงานQ2 ปีนี้ไม่ต่างจากปี48 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและรถยนต์ออกสู่ตลาดน้อย ส่วนรถกระบะและจักรยานยนต์ยังขายได้ อันเป็นผลพวงจากราคาน้ำมันที่ทะยานต่อเนื่อง แต่ยังได้อานิสงส์จาก โซลาร์ตรอน ที่ใช้แบตเตอรี่ของบริษัท ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท เดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตปี 50 หลังแอฟริการสนใจเป็นนำสินค้าไปจำหน่ายในประเทศดังกล่าว
นายศุภวัส พันธุ์วัฒน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยัวซ่า แบตเตอรี่ จำกัด(มหาชน)(YUASA) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทไตรมาสแรกปีนี้พบว่าตัวเลขขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจากเดิม 43.19 ล้านบาทเหลือ 27.71 ล้านบาท หรือลดลง 35.83% อันเป็นผลจากการที่บริษัทหันมาเน้นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ปริมาณของเสียน้อยลง บวกกับการที่บริษัทได้ปรับราคาขายสินค้าได้บ้าง
ขณะที่ผลงานไตรมาส 2 นั้น คาดว่าน่าจะไม่ต่างกับไตรมาสสองของปี 48 เนื่องจากในเดือนเมษายนมีวันหยุดหลายวัน และเป็นช่วงของฤดูฝนที่มีผลต่อยอดขายพอสมควร บวกกับราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถยนต์ออกรถรุ่นใหม่น้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายของประชาชนก็ลดลงด้วย อันจะส่งผลต่อยอดขายสินค้าของบริษัท แม้จะมีการปรับราคาสินค้าก็ตาม
“เราเพิ่งปรับราคาขายไป 2-3% จึงทำให้เราพอขยับตัวได้บ้าง เพราะราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มมาตั้งแต่ปีก่อน โดยเพิ่มจาก 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 1 พันดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แม้ว่าราคาที่ปรับครั้งนี้ไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนได้ทั้งหมดก็บยังดีกว่าไม่ได้ปรับเลย ” นายศุภวัสกล่าว
ขณะที่ยอดขายของ YUASA ไตรมาสแรกปีนี้จะพบว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 349.474 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา 6.81% มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายแบตเตอรี่ ในขณะที่มีตัวเลขรายได้จากการขายเศษตะกั่วลดลง และต้นทุนขายก็ลดลงจากการปรับราคาขายแบตเตอรี่ดังกล่าวด้วย ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาษีสรรพสามิตจาก 5% เป็น 10% และจากการจัดโปรแกรมส่งเสริมการขายในบริษัทย่อย
อย่าไรก็ตาม เมื่อต้นปีนี้ YUASA ได้ซื้อเครื่องจักร กับบริษัท จีเอส ยัวซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (GYIN) ซึ่งเป็นบริษัท เกี่ยวโยงกัน จำนวน 1 รายการ ประมาณ 14.26 ล้านบาท ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าว เป็นเครื่องจักรที่ได้รับการพัฒนาขึ้นและเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของบริษัท GYIN เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดอัตราของเสียจากการผลิตโดยรวม จากการทดสอบใช้เครื่องดังกล่าวพบว่าอัตราของเสียลดลงถึง 83%
“การที่เราลงเครื่องจักรใหม่ เป็นเครื่องจักรของการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซด์ แต่รถยนต์เรายังไม่ได้เพิ่มส่วนใด เหตุผลหนึ่ง เพราะต้นทุนของเราเพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจปรับราคาสินค้าที่จำหน่ายได้ จึงต้องหาวิธีลดต้นทุนในการผลิต ”นายศุภวัฒน์กล่าว
โดยเฉพาะต้นทุนตะกั่วที่ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา บริษัทที่ไม่มีโรงหลอมตะกั่วก็ต้องรับภาระเพิ่ม จะไม่ได้รับผลกระทบมากก็เฉพาะบริษัทที่มีโรงหลอมเองอย่างบริษัทใหญ่ ๆ บางแห่งเท่านั้น ซึ่งทำให้ต้นทุนต่ำกว่าบริษัทเล็ก ๆ และยังมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อแข่งขันราคากันด้วย
อย่างไรก็ตาม YUASA ยังมีข้อได้เปรียบที่จะได้อานิสงส์จากการขายแบตเตอรี่ส่วนหนึ่งให้กับการใช้พลังงานทดแทนของบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด(มหาชน) ที่เคยใช้แบตเตอรี่ของ YUASA มาก่อนหน้า ตั้งแต่โครงการโซลาร์โฮมเฟสแรกจนถึงโครงการโซลาร์โฮมเฟส 2 และขณะนี้ที่โครงการ roof top กำลังจะเกิดขึ้น ตลอดจนอีกหลายอย่างของพลังงานทดแทนซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นหลังจากราคาน้ำมันพุ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 48
"ดังนั้น จากการที่รัฐบาลต้องการให้หันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เพื่อประหยัดพลังงาน เราก็น่าจะได้รับผลดีจากการขายแบตเตอรี่ของเราด้วย เพราะเดิมเราก็เป็นพันธมิตรกับโซลาร์ตรอนอยู่แล้ว หากเขาได้งานมา เชื่อว่าเขาก็คงมาใช้แบตเตอรี่ของเรา แต่ไม่ได้ใช้ทั้งหมด " นายศุภวัสกล่าว
โดยโซลาร์โฮมเฟสแรกนั้น YUASA ผลิตแบตเตอรี่ส่งให้กับโครงการนี้ประมาณ 60-70% คิดเป็นมูลค่า 130 ล้านบาท ขณะที่โครงการเฟส 2 ก็มีถึงแสนยูนิต ซึ่ง YUASA จะต้องผลิตแบตเตอรี่รองรับประมาณ 7 หมื่นยูนิต คิดเป็นเงินประมาณ 150 ล้านบาท โดยจะรับรู้รายได้ต่อเนื่องในปีนี้
นายศุภวัฒน์กล่าวถึงผลการดำเนินงานปีนี้ว่าอาจขยายตัวไม่มาก โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท ขณะที่แบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซด์จากปีที่ผ่านมาพบว่าความต้องการใช้เพิ่มไม่ถึง 5% ขณะที่แบตเตอรี่รถยนต์ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถกระบะที่ยอดขายรถชนิดนี้ยังขายได้ สวนทางกับรถชนิดอื่น แต่ YUASA ยังต้องเพิ่มกำลังการผลิตการแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทผลิตแบตเตอรี่ให้กับค่ายฮอนด้าเท่านั้น ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 2.5 ล้านลูกต่อปี และเน้นการทำตลาดมากขึ้นรองรับกับตลาดดังกล่าว
สำหรับเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตในส่วนของแบตเตอรี่รถยนต์เพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 50 เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มจาก 9 แสนลูกต่อปีเป็น 1.2-1.3 ล้านลูกต่อปีสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ และส่วนหนึ่ง ของการเพิ่มกำลังการผลิต เกิดจากปีนี้มีลูกค้าจากแอฟริกาสนใจที่จะนำสินค้าไปเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศดังกล่าว คาดได้ผลสรุปไตรมาส 2 นี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|