หุ้นยุคโต้งพุ่ง3.4ล้านล้าน


ผู้จัดการรายวัน(29 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นภายใต้การบริหาร"กิตติรัตน์"ช่วงเวลา 4 ปี 8 เดือนดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 331.65 จุดขึ้นมาอยู่ในระดับ 717.50จุด เพิ่มขึ้นเกือบ 400 จุดและมาร์เกตแคปตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 3.4 ล้านล้านบาท คนวงการตลาดทุนยอมรับผลงานผ่านฉลุย "มารวย"ชี้เข้ามาช่วยพลิกโฉมหน้าตลาดทุนไทย รวมทั้งการผลักดันตลาดทุนไทยเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือสังคม พร้อมมั่นใจ"ภัทรียา"จะเข้ามาสานต่อความสำเร็จเพื่อนำตลาดทุนก้าวหน้าต่อไปได้

จากการรวบรวมข้อมูลของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับตั้งแต่เข้ามาบริหารในเดือนกันยายน 2544 จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ซึ่งนายกิตติรัตน์จะอยู่บริหารงานจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 นี้ คิดเป็นระยะเวลาการบริหารงานประมาณ 4 ปี 8 เดือน

ทั้งนี้นายกิตติรัตน์ เข้ามาบริหารในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศหยุดซื้อขาย 1 วัน และเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายในวันที่ 10 กันยายน 2544 ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ 331.65 จุดลดลง 10.67 จุดหรือ 3.12%ซึ่งเมื่อเทียบกับดัชนี ณ ปัจจุบันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ดัชนีปิดที่ระดับ 717.50 จุดจะเห็นได้ว่าดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 385.85 จุด โดยในระหว่างที่บริหารงานนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทยเคยขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุด 794.01 จุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 และเคยลงมาต่ำสุดที่ระดับ 265.22 จุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544

ในส่วนของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมหรือมาร์เกตแคปก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันแรกที่เข้ามาบริหารอยู่ที่ระดับ 1,613,392.66 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 5,056.407.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,443,014.83 ล้านบาท สาเหตุที่มาร์เกตแคปเพิ่มขึ้น นอกจากด้านราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว อีกสาเหตุมาจากมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2545-2549 มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนทั้งสิ้น 156 บริษัท ซึ่งแบ่งเป็นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ SET จำนวน115 บริษัท ซึ่งประกอบด้วยในปี 2545 จำนวน 18 บริษัทในปี 2546 จำนวน 21 บริษัทปี 2547 จำนวน 36 บริษัทในปี 2548 จำนวน 36 บริษัทและในปี 2549 สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 4 บริษัท

ขณะที่บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ หรือ mai มีจำนวน 41 บริษัทประกอบด้วยในปี 2545 จำนวน 6 บริษัทในปี 2546 จำนวน 6 บริษัทในปี 2547 จำนวน 14 บริษัทในปี 2548 จำนวน 14 บริษัทและในปี 2549 สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม จำนวน 1 บริษัท

ทั้งนี้ในช่วงเวลา 4 ปี 8 เดือนที่ผ่านมานั้นจะมีบริษัทที่มีขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนหลายบริษัท ซึ่งประกอบด้วยบริษัท การท่าอากาศยานไทยหรือ AOT มีมูลค่าระดมทุน 17,489.20 ล้านบาทเข้ามาซื้อขายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547,บริษัทไทยออยล์ หรือ TOPมูลค่าระดมทุน 32,966.40 ล้านบาทเข้ามาซื้อขายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547 และบริษัทโกลว์พลังงาน หรือ GLOW มูลค่าระดมทุนจำนวน 12,144 ล้านบาทเข้ามาซื้อขายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548

นอกจากนี้ในช่วงที่นายกิตติรัตน์เข้ามาเป็นผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ได้มีนโยบายแนะนำข้อมูล(โรดโชว์)ให้กับนักลงทุนต่างประเทศโดยเดินทางไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงการจัดงานไทยแลนด์โฟกัส โดยเชิญผู้จัดการกองทุนจากต่างประเทศเข้ามารับฟังข้อมูลในประเทศไทย และได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ถ้าพิจารณาจากตัวเลขการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศจะพบว่านักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2544-2549 ที่ผ่านมาพบว่าในปี 2544ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 5,886.13 ล้านบาท,ในปี2545 นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 14,337.86 ล้านบาท,ในปี 2546 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 22,248.69 ล้านบาท,ในปี 2547 นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 5,612.15 ล้านบาท,ในปี 2548 นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 118,541.68 ล้านบาทและในปี 2549 สิ้นสุดวันที่ 25 พฤษภาคม นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 81,721.28 ล้านบาท

นายมารวย ผดุงสิทธ์ อดีตกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ถือว่าเป็นผู้จัดการที่มีความสามารถซึ่งได้เข้ามาช่วยพัฒนาตลาดหุ้นของไทยให้เข้าสู่ระดับเดียวกับตลาดหุ้นสากลมากยิ่งขึ้น รวมนำตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเหลือสังคมซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น และได้มีการวางแนวทางต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้จัดการคนใหม่ที่เข้ามาแทนสามารถสานงานต่อได้ทันที

"คุณกิตติรัตน์ถือเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ที่เข้ามาช่วยเหลือสังคมเป็นอย่างดี นอกเหนือจากภาระหน้าที่หลักในการดูแลการซื้อขายและพัฒนาตลาดทุนไทย เข้าก้าวไปข้างหน้าสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการส่งเสริมการออม พัฒนาห้องสมุดของตลาดหลักทรัพย์ให้ทันสมัย รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ถือว่าเป็นเป็นผู้จัดการที่มีผลงานเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก"นายมารวยกล่าว

สำหรับนางภัทรียา เบญจพลชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเข้ามารับตำแหน่งแทนนายกิตติรัตน์นั้น นายมารวยกล่าวว่า เชื่อว่านางภัทรียาจะสามารถเข้ามาบริหารงานต่อเนื่องจากนายกิตติรัตน์ได้เป็นอย่างดี เพราะนางภัทรียาถือเป็นบุคคลที่ทำงานกับตลาดหลักทรัพย์นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง เป็นผู้ที่มีไหวพริบดี แลและเคยผ่านงานในส่วนต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว ซึ่งในสมัยที่ตนเคยเป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์นางภัทรียาก็เข้ามาช่วยดูแลในส่วนของการนำตลาดหลักทรัพย์ไทยไปโรดโชว์ในต่างประเทศ

นายวิชัย พูลวรลักษณ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าวว่า ตนให้คะแนนการบริหารงานของนายกิตติรัตน์ในระดับเอบวก หรือดีมาก ซึ่งจะเห็นได้จากนิตยาสารการเงินการคลังได้มอบตำแหน่งนักการเงินแห่งปีให้แก่นายกิตติรัตน์ จึงเห็นได้ว่าการทำงานของนายกิตติรัตน์เป็นที่ยอมรับ และถือว่าเป็นคนที่ทำงานให้กับตลาดทุนไทยอย่างแท้จริง ซึ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในสมัยนายกิตติรัตน์เป็นผู้บริหารตลาดหุ้นไทย ซึ่งทำให้เกิดเป็นระบบมากขึ้น เช่นการจัดตั้งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โดยนำสมาคมต่างๆ 5 แห่งที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นต้น

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองกรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ของนายกิตติรัตน์ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีผลงานที่ดีมาก ซึ่งช่วงนายกิตติรัตน์เข้าดำรงตำแหน่งดัชนีฯเคยอยู่ในระดับที่ 200 จุด ซึ่งขณะนี้ดัชนีอยู่ที่ประมาณกว่า 700 จุด มาร์เกตแคปก็สูงขึ้น เนื่องจากนายกิตติรัตน์มีความสามารถมากทางด้านตลาดในการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นการฐานนักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น

รวมถึงจากการที่ได้มีการประชุมจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 1 ในการพิจารณาในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น ซึ่งปี48 ก็มีจำนวนบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากถึง 50 บริษัท ซึ่งสูงที่สุดที่เคยมี ทำให้มาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทยมีการเพิ่มขึ้น และมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนหุ้นระยะยาว กองทุนทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

สำหรับผลงานของนายกิตติรัตน์ถือว่าเป็นการทำงานที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก เพราะปีนี้เป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยมีสินค้าที่ให้บริการทางการเงินครบถ้วน จากการที่มีการจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ ทำให้มีสินค้าที่มีความหลากหลายและก่อนหน้านี้ก็มีการจัดตั้งตลาดตราสารหนี้

นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัดกล่าวว่า นายกิตติรัตน์เข้ามาบริหารตลาดหลักทรัพย์ได้ช่วยพัฒนาตลาดทุนในช่วง4ปีที่ผ่านมามาก โดยเฉพาะขยายแหล่งความรู้ อาทิ หน่วยงานทีเอสไอ ให้ความรู้แก่นักลงทุนใหม่ นักศึกษาหรือนักเรียน ทั้งในเรื่องงานวิจัย บทวิเคราะห์ ที่เป็นพื้นฐานซึ่งเป็นการขยายในด้านอุปสงค์ รวมทั้งการทำโรดโชว์(road show)ซึ่งเป็นการเพิ่มอุปทานให้ตลาดทุน

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์นครหลวงไทย จำกัดกล่าวว่า การที่นายกิตติรัตน์เข้ามาบริหารงานในตลาดหลักทรัพย์ถือว่าได้เข้ามาช่วยพัฒนาตลาดทุนในด้านต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะด้านการเงิน แต่มีด้านสังคม ให้ข้อมูลประชาชน นักลงทุน และนักศึกษา เป็นการสร้างรากฐานของตลาดทุนให้สูงขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.