เออาร์กรุ๊ป อาณาจักรใหม่ของ "แจ็ค" ?

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าแจ็คจะใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตการทำงานทุ่มเทให้กับสหวิริยาโอเอ เพื่อผลักดันให้บริษัทแห่งนี้เติบโตเป็นบริษัทค้าคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของไทย ที่มีเป้าหมายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ในย่านเอเชียแปซิฟิก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง "แจ็ค มิน ชุน ฮู" ก็เป็นเหมือนชาวจีนทั้งหลายที่เมื่อสั่งสมประสบการณ์และเงินทุน ปะเหมาะกับโอกาสที่เข้ามาจะไม่รีรอที่จะเปลี่ยนฐานะจากมืออาชีพไปเป็น "เถ้าแก่" ที่มีกิจการเป็นของตัวเอง แทนที่จจะเป็นแค่มือปืนรับจ้าง หรือ หลงจู๊ที่บริหารกิจการให้คนอื่น

แม้แจ็คจะเป็นผู้ถือหุ้นในสหวิริยาโอเอ แต่เขาก็ไม่ใช่เจ้าของเพียงลำพัง ยังมีวิทย์ วิริยประไพกิจ และคุณหญิงประภา วิริยประไพกิจ ที่พนักงานส่วนใหญ่จะเรียกว่า "คุณนาย" ถือหุ้นร่วมด้วย

และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อโอกาสมาถึงแจ็ค มิน ชุน ฮู จะไม่คว้าโอกาสเหล่านั้น

จุดเริ่มความเป็นเถ้าแก่ของแจ็คเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งอาจเป็นเรื่องของความบังเอิญอันเป็นผลพวงมาจากธุรกิจของสหวิรยา

เมื่อหลายปีก่อน เมื่อสหวิริยาเริ่มผลิตการ์ดภาษาไทย ซึ่งกรรมวิธีในการผลิตจะตอ้งใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือ ใช้น้ำกรดในการกัดแผ่นวงจร จึงลงความเห็นกันว่า เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสุขภาพของพนักงานสหวิริยาควรจะจ้างให้คนอื่นทำ

แจ็ค เห็นว่า แทนที่จะเอารายได้ส่วนนี้ไปให้คนอื่น เขาน่าจะเป็นผู้รับทำเอง ด้วยเหตุนี้บริษัทแพน แปซิฟิก จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยทุนส่วนตัวของแจ็ค รับทำธุรกิจรับทำการ์ดภาษาไทยป้อนให้กับสหวิริยา ซึ่งแจ็คมอบหมายให้ภรรยา และญาติฝ่ายภรรยาของแจ็คเป็นผู้ดูแลอาณาจักรเล็กๆ แห่งนี้ของเขา

เช่นเดยวกับการกำเนิดเกิดเออาร์ ก็มีสาเหตุไม่แตกต่างไปจากแพนแปซิฟิกเท่าใดนัก เมื่อแจ็คเคยต้องซื้อข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในกิจการของสหวิริยาด้วยราคาแพงลิบลิ่ว แจ็คจึงเกิดแนวคิด แทนที่จะต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากควรผลิตข้อมูลขึ้นมาเอง แต่เนื่องจากสหวิริยา โอเอ กำลังมุ่งมั่นอยู่กับการสร้างฐานธุรกิจของการเป้นตัวแทนค้าฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ธุรกจิ เรื่องขอ้มูลในเวลานั้นยังเป็นเรื่องใหม่ และยังห่างไกลกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ แจ็คจึงเห็นว่า เมื่อสหวิริยาไม่ได้ทำแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดที่เขาจะเป็นผู้ลงมือทำธุรกิจนี้ขึ้นมาเอง

บริษัทแอ็ดวานซ์ รีเสิร์ช หรือเออาร์ จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อทำวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านคอมพิวเตอร์ ข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะป้อนให้กับสหวิริยา โอเอแล้ว ในปัจจุบันเออาร์ยังมีลูกค้ารายใหญ่ คือ ไอดีซี ที่มีบริษัทแม่อยู่ในสหรัฐอเมริกาก็มาจ้างให้เออาร์เป็นผู้วิจัยและสำรวจเกี่ยวกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ในไทย ต่อมาเออาร์ขยายเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ด้วยการผลิตนิตยสารเพื่อป้อนให้กับวงการคอมพิวเตอร์ เริ่มต้นด้วยบิสซิเนส คอมพิวเตอร์ แมกาซีน หรือบีซีเอ็ม ซึ่งมีคู่แข่งสำคัญที่เป็นนิตยสารแนวเดียวกัน ก็คือ กลุ่มแมนกรุ๊ป การแข่งขันของทั้งอสงกลุ่มนี้รวมไปถึงการดึงตัวพนักงาน ที่แมนกรุ๊ปมักจะเป็นฝ่ายสูญเสียบุคลากรให้กับเออาร์มาตลอด จนกระทั่งต้องปะทะกันบนหน้านิตยสารของแต่ละฝ่าย

หากพูดถึงความสำเร็จในด้านธุรกิจสิ่งพิมพ์แล้ว อาจยังเป็นเรื่องยากเพียงแค่ประคับประคองธุรกิจไปได้เรื่อย ๆ แต่ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญของแจ็ค เพราะนิตยสารที่เออาร์ผลิตขึ้นก็เพื่อสนับสนุนธุรกิจของสหวิรยา โอเอเป็นหลัก ขณะเดียวกันหน้าโฆษณานิตยสารของกลุ่มเออาร์จะมีสหวิริยาเป็นลูกค้ารายใหญ่อุดหนุนมาโดยตลอด

ที่สำคัญการที่แจ็คคลุกคลีอยู่กับธุรกิจนี้มาตลอด ย่อมรู้ว่า อิทธิพลของ "สื่อ" และการมีข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อธุรกิจในระยะยาว เพราะเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาจนถึงยุคของอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีแล้ว "ข้อมูล" จะเข้ามามีบทบาทไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์อย่างที่เป็นมาในอดีต

วันเวลาของการรอคอยก็มาถึง เมื่อกระแส "อินเตอร์เน็ต" อภิมหาเครือข่ายเข้ามามีบทบาทในไทย ผสมผสานกับการตื่นตัวของยุค "ข้อมูล" เริ่มต้นขึ้น

ในอีกทางหนึ่ง แจ็คลงมือสร้าง "ขา" ใหม่ให้กับเออาร์ ด้วยการจัดตั้งเป็นบริษัทเอนิวส์ คอร์ปอเรชั่นขึ้นมา เพื่อรองรับกับธุรกิจค้าข้อมูลทางคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ

การสร้าง "เอนิวส์" เท่ากับเป็นการตอกเสาเข็มในธุรกิจค้าข้อมูลของแจ็คอย่างจริงจัง ซึ่งแจ็คได้ชักชวนพันธมิตรดั้งเดิม คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และหนังสือพิมพ์คู่แข่งธุรกิจมาร่วมมือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 50% ที่เหลืออีก 50% ถือโดยกลุ่มเออาร์

ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน แจ็ค กล่าวว่า ในเมื่อเออาร์ทำธุรกิจข้อมูลอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเข้าไปในธุรกิจนี้ แทนที่จะเป็นสหวิริยา โอเอ ซึ่งหากไปเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเท่ากับไปสร้างศัตรูแทนที่จะขายของได้

"แทนที่เราจะสร้างศัตรู สหวิริยา โอเอ ยังมีโอกาสขายของ ขายระบบให้กับไอเอสพีรายอื่นๆ ได้ หากสหวิริยาไปให้บริการเองเท่ากับลูกค้าเหล่านี้จะกลายเป็นศัตรูทันที" แจ็คชี้แจง

การดำเนินงานของกลุ่มเอนิวส์ จะทำหน้าที่เป็นทั้งโฮลดิ้งคอมปานี และมีฝ่ายการขายและตลาดและพัฒนาสนค้า ทำหน้าที่ในการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับกลุ่ม

ปัจจุบัน เอนิวส์แตกหน่อขยายบริษัทลูกออกมา 3 แห่ง คือ เอเน็ตทำธุรกิจเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรืออินเตอร์เน็ต เซอร์วิส โพรไวเดอร์ (ไอเอสพี) ซึ่งได้รับสัมปทานมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) มีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงต้นเดือนตุลาคมเป็นรายที่ 6 ของไอเอสพีที่เปิดให้บริการอย่างจริงจัง

แม้ว่าแจ็คจะอาศัยสายสัมพันธ์ในอดีต สร้างลูกค้าให้กับเอเน็ตแล้วหลายราย เช่น กลุ่มสหวิริยาโอเอ รวมถึงการร่วมมือกับเอเซอร์ขายพีซีแถมสมาชิกอินเตอร์เน็ตฟรี แต่ไม่ได้หมายความว่า เอเน็ตจะมีข้อได้เปรียบไปจากคู่แข่งรายอื่น

แม้กระแสการตื่นตัวของอินเตอร์เน็ตจะดูรุนแรง แต่เอาเข้าจริงสมาชิกอินเตอร์เน็ตยังจำกัดอยู่ในลูกค้าไม่กี่กลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา หรือนักวิชาการ กลายเป็นเรื่องหนักอกของบรรดาไอเอสพีไม่น้อย เพราะจะหวังเพียงรายได้จากค่าสมาชิกไม่ได้ต้องหันไปทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น รับทำโฮมเพจ หรือรับทำโฆษณาสินค้าบนเว็บ

ด้วยเหตุนี้ แจ็คจึงพยายามสร้างข้อได้เปรียบให้กับเอเน็ตตามสไตล์ที่ถนัด ด้วยการบุกขยายไปต่างจังหวัดให้มากที่สุด โดยไปร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นจัดตั้งบริษัทแห่งใหม่ขึ้นมาในแต่ละจังหวัด ซึ่งวิธีนี้เอเน็ตจะได้ทั้งเงินทุนและความเชี่ยวชาญจากพันธมิตรในการทำธุรกิจ

บริษัทร่วมทุน จะทำหน้าที่เป็นฮับ (HUB) หรือเป็นสาขาของเอเน็ต เพื่อให้สมาชิกอินเตอร์เน็ตในต่างจังหวัด สามารถใช้บริการในอัตราเดียวกับในกรุงเทพฯ ไม่ต้องเสียค่าทางไกลเหมือนกับในอดีต

พล.ร.ต.ประสาท ศรีผดุง รองประธานเอนิวส์ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กล่าวว่า บริษัทร่วมทุนสองแห่งแรกของเอเน็ต คือ อินเตอร์เน็ตนครราชสีมา ซึ่งเอเน็ตร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัยสุรนารี และลงทุนร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการทำตลาดในหาดใหญ่

ธุรกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ บิสซิเนส ออนไลน์ (บีโอแอล) ซึ่งได้รับสัมปทานในการทำธุรกิจขายข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนจากกระทรวงพาณิชย์มีอายุสัมปทาน 20 ปี

ว่ากันว่า ชัยชนะในการประมูลของแจ็คในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสายสัมพันธ์ของผู้บริหารในสหวิริยา ซึ่งเคยทำงานอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ผู้ที่สนิทสนมเป็นอันดีกับแจ็ค

การคว้าสัมปทานชิ้นนี้ ยิ่งเป็นการจุดพลุให้กับธุรกิจออนไลน์ข้อมูลของแจ็คอย่างแท้จิรง เพราะในวันเซ็นสัญญาแจ็คไปนั่งเซ็นสัญญาและเปิดแถลงข่าวด้วยตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาไม่พึงปรารถนาจะให้ใครรู้ว่าเขาคือเจ้าของเออาร์ และมักจะเลี่ยงที่จะกล่าวถึง

พล.ร.ต.ประสาท กล่าวว่า หลังจากเซ็นสัญญาก็มีผู้ติดต่อมาเป็นลูกค้าแล้วหลายราย โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีทั้งจากไทยและต่างประเทศ

รูปแบบการให้บริการของบีโอแอล จะมีอยู่หลายลักษณะเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ ซึ่งจะมีทั้งที่อยู่ในรูปของกระดาษ ตลอดจนการออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์

"ในอีกไม่ช้านี้ เราจะมีบริการรูปแบบใหม่ทยอยออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการข้อมูลพยากรณ์อากาศ หรืออิเล็คทรอนิกส์ช้อปปิ้ง ซึ่งคุณแจ็ควางแนวทางเอาไว้ว่าเราจะไปทางไหน แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะมีอะไรบ้าง เพราะข้อมูลเป็นของใหม่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะคิดค้น หรือนำรูปแบบใดมาเสนอ ธุรกิจนี้ยังมีอีกมาก" พล.ร.ต.ประสาท กล่าว

ในช่วงหลัง ๆ จึงมีผู้เห็นแจ็คแวะเวียนไปที่เออาร์มากขึ้ นแทนที่จะไปเฉพาะช่วงเย็นของ 1 วันในแต่ละสัปดาห์ หรือเแพาะในช่วงวันหยุด รวมทั้งจะมีพนักงานบางส่วนของสหวิริยาจะย้ายไปนั่งทำงานในเออาร์ และเอนิวส์ไปรับตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่ขึ้นในเออาร์ หรือเอนิวส์

"ในเอนิวส์ผมก็ให้นโยบายคนเอาไว้ ส่วนเวลาที่จะมาบริหารก็ขึ้นอยู่กับว่า สหวิริยาโอเอ หรือเอนิวส์ อันไหนจะมีความจำเป็นหรือเร่งด่วนกว่ากัน" แจ็คเล่า

ไม่แน่ว่า อาณาจักรข้อมูลแห่งนี้อาจจะกลายเป็นขาหนึ่งของสหวิริยาโอเอ หรือจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญไปก็ยังไม่อาจรู้ได้ !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.