เศรษฐกิจซบธุรกิจทยอยปลดคนลดต้นทุน


ผู้จัดการรายวัน(26 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลเศรษฐกิจถดถอยเริ่มแผลงฤทธิ์ ภาคธุรกิจเริ่มทยอยลด-จ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อลดต้นทุน ส่งผลให้อัตราการว่างงานอาจสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 610,000 คน หรือคิดเป็น 1.7% แต่กรมจัดหางานยังเชื่ออัตราการว่างงานไม่เกินกว่า 2% ต้องรอดูผลอีก 2-3 เดือน ส่วนแรงงานฝีมือ-แรงงานระดับล่างยังมีความต้องการอยู่แม้จะมีแรงงานจากต่างด้าวเข้ามาเสริม

จากที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2-3 มีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี...สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความวิตกก็คือ ธุรกิจบางประเภทที่ปรับตัวไม่ทัน อาจต้องหยุดกิจการ เพราะยอดขายตกจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดหาย เนื่องจากปัญหาของอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หรืออาจเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปัจจัยสำคัญคือเรื่องของราคาน้ำมัน อันเนื่องมาจากวิกฤตน้ำมันในตลาดโลก และที่สำคัญก็คือปัญหาของการเมืองที่ยังไม่มีท่าว่าจะได้บทสรุปโดยเร็ว

แนวโน้มคนตกงานเพิ่มขึ้น

...สิ่งที่จะตามมาภายหลังการสั่นคลอนของภาคธุรกิจ คือการหยุดจ้างแรงงาน และเมื่อมีแรงงานถูกหยุดจ้างมากขึ้น ก็จะตามมาด้วยปัญหาทางด้านสังคม ปัญหาครอบครัว ฯลฯ

เมื่อช่วงต้นปี 2549 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ประเมินว่า แนวโน้มการว่างงานในปีนี้จะมีกำลังแรงงานเฉลี่ยทั้งปี 36.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 480,000 คน หรือคิดเป็น 1.3% เนื่องจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปี 2549 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น คาดว่าไม่ต่ำกว่า 5% เพราะอุปสรรคในปี 2548 คลี่คลายลงและที่สำคัญเศรษฐกิจมีการปรับตัวต่อเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ย การปรับราคาน้ำมันให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกและการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อการแข่งขันในตลาด และมีแรงขับเคลื่อนสำคัญอย่างการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนของภาคเอกชนที่ได้รับแรงกระตุ้นจากการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ จะมีโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ จึงน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะคาดได้ว่าการว่างงานในปี 2549 จะมีผู้ว่างงานเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 610,000 คน ลดลงจากปี 2548 ประมาณ 29,000 คน โดยในปี 2549 มีอัตราการว่างงาน 1.7% เทียบกับปี 2548 ที่มีอัตราการว่างงาน 1.8%

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้คาดไว้ กลับมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทที่ปรับเพิ่มไปอย่างต่อเนื่อง จนสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากหลายสำนักทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ดูแลตัวเลขเหล่านี้

จากข้อมูลเดือนมีนาคม 2549 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจข้อมูลประชากรพบว่ามีทั้งสิ้น 65.14 ล้านคน ซึ่งอยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 35.64 ล้านคน คิดเป็น 54.7% ของประชากรทั้งประเทศ ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน 14.67 ล้านคน คิดเป็น 22.5% และอีก 14.83 ล้านคน หรือคิดเป็น 22.8% มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

ถ้าดูตัวเลขการมีงานทำของผู้อยู่ในกำลังแรงงานจำนวน 35.64 ล้านคน พบว่า มี 34.65 ล้านคน หรือคิดเป็น 97.22% ของกำลังแรงงานทั้งหมด มีงานทำ โดยมีผู้ว่างงานเพียงแค่ 6.4 แสนคน หรือคิดเป็น 1.8% เท่านั้น แม้เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวนผู้ว่างงานจะลดลงกว่า 9 หมื่นคน แต่หากแนวโน้มของการว่างงานในปีนี้อาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าประมาณการ เพราะปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาระบุมาชัดว่า ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจปี 2549 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากภาวะน้ำมันแพง อัตราดอกเบี้ยสูง การลงทุนและการบริโภคที่ชะลอตัวลง จะส่งผลทำให้มีการจ้างงานลดลง และการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราการว่างงานในปี 2549 คาดว่าจะอยู่ที่ 2% เปรียบเทียบกับในปี 2548 ที่มีอัตราการว่างงาน 1.8% ก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้น่าจับตามองมากขึ้น

กรมจัดหางานขอดูข้อมูลอีก 2-3 เดือน

ด้านนายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี อธิบดีกรมการจัดหางาน ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องของแรงงาน ให้ความเห็นว่า ถ้าดูข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานในเชิงลึกแล้ว แม้ว่าอาจจะมีปัญหาคนถูกเลิกจ้างในภาคธุรกิจบางอย่าง แต่ในตลาดแรงงานยังมีความต้องการผู้เข้าทำงานอีกมาก ซึ่งการจะมาพิจารณาว่าตัวเลขการว่างงานจะอยู่ในอัตราเท่าไร คงจะชี้ชัดทันทีไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นเป็นแบบใด เพราะต้องรอดูความชัดเจนติดต่อกันไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน จะได้ข้อมูลที่ชัดเจน

"ถ้าไปดูตัวเลขการว่างงานในบางช่วงอาจเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจเป็นเพราะมีนักศึกษาที่กำลังจบการศึกษาเข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้ตัวเลขมันเพิ่มขึ้น ซึ่งมีอัตราถึง 80% ของผู้ยังไม่มีงานทำ บางทีคิดว่าเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่ถ้ารอดูไปอีกสักระยะหนึ่งอาจจะเห็นว่าตัวเลขเหล่านี้เริ่มปรับตัวลดลง เพราะว่าแรงงานที่พึ่งจบและหางานได้ กำลังจะได้เข้าทำงาน จึงทำให้ตัวเลขมันลดลง หรือบางทีอาจมีแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งต้องรอฤดูกาล เมื่อฤดูกาลผลิตหยุดลง ก็จะทำให้คนพวกนี้เข้ามาอยู่ในกลุ่มของพวกไม่มีงานทำ แต่โดยแท้จริงๆ แล้ว คนพวกนี้ไม่ใช่ตกงาน แต่เขากำลังรอทำงานในช่วงฤดูกาลผลิตของเขาเท่านั้น ดังนั้น จึงยังไม่ค่อยเป็นห่วงว่าอัตราการว่างงานที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2%" นายจุฑาธวัชกล่าว

ทั้งนี้ ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อสิ้นมีนาคม 2549 บ่งบอกการว่างงานของแรงงานในวัยทำงาน จำนวน 6.4 แสนคน (ไม่นับรวมผู้ที่อยู่ระหว่างรอฤดูกาลเพื่อทำการเกษตรอีก 3.5 แสนคน คิดเป็น 1.79% ของคนวัยทำงาน แล้วไปดูตัวเลขของตำแหน่งงานว่าง จากการรวบรวมของกรมการจัดหางานที่ได้มาจากภาคเอกชน ทั่วประเทศ ที่ประสงค์จะหาแรงงานเข้าไปทำงาน ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 พบว่ามีตำแหน่งที่ยังต้องการอยู่ถึง 977 ตำแหน่ง จำนวน 275,749 อัตรา ถ้ากรมการจัดหางานสามารถจับกลุ่มคนที่ยังว่างงานอยู่เข้าไปในอัตราแรงงานที่ว่างอยู่ ก็จะเหลือผู้ว่างงานประมาณ 3.64 แสนคน หรือคิดเป็น 10.2% เท่านั้น ดังนั้น ทาง กรมการจัดหางานเองก็ยังมองว่าอัตราการว่างงานในปี 2549 น่าจะลดจากปีก่อนที่มีอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 1.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 แต่ก็ต้องไปรอดูผลการสำรวจที่ชัดเจนในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราการว่างงานจะรู้ชัดเจนว่าจะเป็นเท่าไรในช่วงเดือนตุลาคมของแต่ละปี

นายจุฑาธวัชกล่าวว่า กรมการจัดหางานเองก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแลทันที กรณีที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติ จนทำให้เกิดแรงงาน ว่างงานเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสำรวจและดูตำแหน่งงานว่าง ที่ค้างที่มีอยู่ เพื่อไปแมตชิ่งกับผู้ว่างงาน การช่วยเหลือผู้ตกงาน ด้วยการให้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นการฝึกอาชีพยกระดับฝีมือ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพอื่น ซึ่งอาจมีรายได้เพิ่มขึ้น และเรื่องของการฝึกอาชีพพิเศษหมายความว่า ให้ทำอาชีพอิสระได้

"หวั่นขาดแรงงานฝีมือ/ดึงต่างด้าวแทนงานกรรมกร"
นอกจากนี้ อธิบดีกรมแรงงาน กล่าวให้รายละเอียดอีกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าถ้าพิจารณาเฉพาะตัวเลขอาจทำได้ง่าย หากแรงงานที่ต้องการทำงานไม่เกี่ยงงานและพร้อมจะทำงานในตำแหน่งงานที่ว่างอยู่

โดยหากแยกแยะตำแหน่งงานที่ว่างเป็นหมวด คือ หมวด 1 ผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส ผู้จัดการ มีตำแหน่งว่าง 7,510 อัตรา หมวด 2 ผู้ประกอบการวิชาชีพต่างๆ 12,334 อัตรา หมวด 3 ช่างเทคนิคสาขาต่างๆ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 25,088 อัตรา หมวด 4 เสมียน เจ้าหน้าที่ 24,553 อัตรา หมวด 5 พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 44,064 อัตรา หมวด 6 ผู้ปฏิบัติงานมีฝีมือด้านการเกษตรและประมง 1,059 อัตรา หมวด 7 ผู้ปฏิบัติงานมีฝีมือในธุรกิจต่างๆ 21,136 อัตรา หมวด 8 ผู้ปฏิบัติงานด้านเครื่องจักรในโรงงานและด้านการประกอบการ 24,608 อัตรา และหมวด 8 อาชีพงานพื้นฐาน 115,397 อัตรา

ดังนั้น จะเห็นว่ามีตำแหน่งอีกจำนวนมากที่ยังต้องการแรงงาน โดยผู้ที่ตกงาน หรือยังไม่มีงานทำส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเลือกตำแหน่งงาน อาจให้สอดคล้องกับสายวิชาชีพที่เรียนมาหรือตรงกับความรู้ที่จบมา หรืออัตราเงินเดือนไม่น่าพอใจ หรือปริมาณผู้ที่ศึกษาต่อในระดับสูงเพิ่มขึ้น หรือมีการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น เมื่อทัศนคติในการทำงานของผู้จบการศึกษาใหม่ หรือผู้ว่างงานบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป ก็กลายเป็นปัญหาอื่นติดตามมาก็คือ การขาดแรงงานฝีมือ เพราะทุกวันนี้แรงงานไทยที่มีฝีมือมากๆ จะออกไปทำงานหาเงินในต่างประเทศ ที่มีอัตราเงินเดือนการจ้างแรงงานสูงกว่าประเทศไทยหลายเท่า ขณะที่แรงงานด้านฝีมือที่จบออกมา เช่น พวกสายอาชีวะ กลับมีสัดส่วนลดน้อยลง ซึ่งในช่วงหลายปี ที่ผ่านมาพบว่าแรงงานกลุ่มนี้ลดลงไปประมาณ 20-30% จึงเห็นว่าหากปล่อยไว้อย่างนี้ ต่อไปแรงงานฝีมือเหล่านี้จะหดหายไปเรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญในการที่จะสนับสนุนวิชาชีพอาชีวะให้มากขึ้น และไม่ควรจะเน้นนโยบายให้แต่ทุกคนหันไปประกอบธุรกิจเพียงอย่างเดียว เพราะหากทุกคนไปประกอบธุรกิจกันหมด ก็จะไม่มีผู้ซื้อ หรือมีน้อย ไม่มีผู้ทำการผลิต ก็จะเป็นปัญหากระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจได้

ขณะเดียวกัน แรงงานระดับล่าง ซึ่งก็คืออาชีพกรรมกร ที่พบว่ามีความต้องการสูงมาก โดยเฉพาะในเวลาที่ประเทศกำลังต้องการเพิ่มศักยภาพในด้านสาธารณูปโภค การดำเนินโครงการเมกะโปรเจกต์ การก่อสร้างอาคารที่เติบโตตามเศรษฐกิจ ก็ยิ่งมีความต้องการทวีคูณ แต่กลับพบว่าแรงงานไทยเริ่มที่จะมองข้ามอาชีพนี้ โดยยกระดับขึ้นไปสู่แรงงานที่ต้องใช้ฝีมือมากขึ้น ทำให้ภาครัฐเองต้องพิจารณานำแรงงานต่างด้าว จากลาว พม่า กัมพูชา ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หนีเข้าเมืองไทยมาทำหน้างานเหล่านี้เข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมาย แต่ให้ทำงานเฉพาะแรงงานระดับล่างจริงๆ

ปัจจุบันหลังจากรัฐได้เปิดโอกาสนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็น ชาวต่างด้าวจากลาว พม่า กัมพูชา มาจดทะเบียนถูกต้องตาม กฎหมาย พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายถึง 7 แสนคน และอยู่ระหว่างดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมายอีก 2 แสนคน รวม เป็น 9 แสนคน จากเป้าหมายที่คาดว่าจะมีมาเพิ่มอีก 5 แสนคน เป็น 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ประเมินกันแล้วว่าน่าจะพอต่อความ ต้องการ

ทั้งนี้ ความจำเป็นที่ต้องดึงเอาคนเหล่านี้เข้ามาทำงานบาง ประเภท เพื่อต้องการชดเชยแรงงานไทยที่หายไปจำนวนมาก ไม่ถือ ว่าเป็นการแย่งอาชีพคนไทย เพราะแรงงานเหล่านี้คนไทยได้มองข้าม ไปแล้ว และต้องดึงเอาคนผิดกฎหมายเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาทางด้านสังคม หรืออาชญากรรม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำในอดีต เพราะ คนเหล่านี้ไม่มีประวัติ พอกระทำความผิดก็หนีออกไป ไม่สามารถตามจับตัวได้ เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาสู่ระบบก็จะมีการควบคุมดูแล มีการทำทะเบียนราษฎร์โดยกระทรวงมหาดไทยทำ มีการพิมพ์ลายนิ้วมือโดย กองตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต้องมีการรับรองจากนายจ้าง มีการตรวจโรค ซึ่งจะเหลือเวลาพิสูจน์สัญชาติและออกวีซ่าทำงานไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานจะอยู่ได้อย่างน้อย 2 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปี และต้องอยู่กับนายจ้างตามที่แจ้งไว้ หากมีการเปลี่ยนแปลงให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดต้องส่งกลับประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาสวมสิทธิ์แรงงาน

สิ่งที่จะได้จากตรงนี้ก็คือ เราสามารถตรวจสอบประวัติ ติดตามหากเกิดปัญหาขึ้นมาได้ เป็นการป้องกันการเกิดโรคระบาดที่มีมากับแรงงานต่างด้าว ช่วยลดปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ เพิ่มความมั่นคงของชาติอีกทางหนึ่ง เพราะปัญหาทางอาชญากรรมจะลดน้อยลง ปัญหาสังคมจะลดน้อย เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่ต้องหลบซ่อน สามารถหาเลี้ยงตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนการทำงานในระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่แรงงานระดับล่าง ที่เป็นพื้นฐานของการก่อสร้าง การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค การนำเงินรายได้มาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าบางส่วนอาจถูกดึงส่งกลับประเทศไปบ้างก็ตาม และการที่เขาหารายได้ได้เอง ทำให้รัฐไม่ต้องเสียเงินเพื่อนำไปเลี้ยงดูในค่ายกักกัน กรณีที่ถูกจับกุมได้ ตามหลักมนุษยธรรม

ขณะเดียวกัน กรมก็กำลังเสนอกฎหมายเพื่อขอจัดเก็บภาษีการใช้แรงงานต่างด้าวจากนายจ้าง (LAVY LAW) ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการทางรัฐสภา หากพิจารณาและอนุมัติเป็นกฎหมายแล้ว ก็จะมาเก็บเงินเหล่านี้จากนายจ้าง ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ 500 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเงินเหล่านี้จะนำมาใช้พัฒนาหรืออาจเป็นเงินทุน เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่แรงงานต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.