|

การเมืองบีบปิดคลื่นข่าว94
ผู้จัดการรายวัน(26 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“แกรมมี่” ยันปิดฉากโอเพ่น เรดิโอ 94 FM สำนักข่าวไทยไทม์ ไม่เกี่ยวกับการเมือง โบ้ยเศรษฐกิจพ่นพิษ ต้องหั่นเนื้อร้ายธุรกิจไม่สร้างรายได้ออกเพื่อรักษากำไรที่ตั้งเป้า 195 ล้านบาท อ้างสารพัดเหตุผล “ไทยไทม์” 5 เดือนขาดทุนยับ พื้นที่โฆษณาน้อย ขาดความชำนาญธุรกิจ จ่อคิว 15 วันปรับรายการสู่สถานีบันเทิง “พิรุณ” ฮึดเล็งหันเอาดีสื่อออนไลน์ ส่วนพนักงาน 50 ชีวิต โยกมือดีเข้า 4 คลื่น ที่เหลือโบกมือลาพร้อมรับเงินชดเชย
หลังจากที่สำนักข่าวไทยไทม์ ที่ทำข่าวป้อนให้กับ โอเพ่นเรดิโอ 94 เมกะเฮิรตซ์ ของกองทัพบก ที่รับสัมปทานโดยกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกาศตัวเป็นสถานีข่าว และออกอากาศมาเป็นเวลา 5 เดือน ได้ประกาศปิดตัวเองลงในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ โดยมีกระแสข่าวแพร่สะพัดถึงสาเหตุการปิดสถานีข่าวว่า มีการนำเสนอข่าวไม่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ ล่าสุด (วานนี้) 25 พ.ค. 49 แกรมมี่และผู้บริหารของสถานีข่าวได้ออกแถลงข่าวปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงหรือ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางรัฐบาล
แหล่งข่าวจากผู้ที่ทำงานร่วมกับ โอเพ่น เรดิโอ และ สำนักข่าวไทยไทม์ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ทางโอเพ่นเรดิโอ ยกเลิกสัญญาการรับข่าวจากทางสำนักข่าวไทยไทม์และยุติการเป็นคลื่นข่าว 94 อย่างกะทันหันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง 100% แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้บริหารคงไม่กล้าพูดออกมา อีกทั้งจีเอ็มเอ็มก็รู้อยู่ตั้งแต่แรกแล้วว่า จะต้องขาดทุนแน่นอนในช่วงแรก เพียงแค่ 5 เดือนมาบอกเลิกมันเร็วเกินไป
ก่อนหน้านี้ฝ่ายการเมืองบีบมาตลอด ตั้งแต่ช่วงแรกที่ ทางรัฐบาลต้องการให้นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาจัดรายการที่คลื่นนี้ ซึ่งทางคลื่นได้ปฎิเสธเพราะมองว่า จะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง ซึ่งหลังจากนั้นไทยไทม์ก็ถูกบีบมาตลอด
“ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าสำนักข่าวไทยไทม์จะเป็นอย่างไร แม้ว่าเราจะมีช่องทางใหม่คือ เว็บไซต์ก็ตาม แต่แค่นี้คงไม่สามารถเลี้ยงพนักงานที่มีมากกว่า 50 คนได้ เราพยายามที่จะหาผู้ร่วมทุนใหม่หรือหาคลื่นวิทยุคลื่นอื่นเพื่อมารองรับการทำข่าวของเรา ตอนนี้เราเร่งเจรจาหาพันธมิตร คาดว่าต้องสรุปเร็วๆนี้ เพราะไม่เช่นนั้นก็คงต้องปิดตัวแล้วแยกย้ายกันไป”
บริษัท โอเพ่น เรดิโอ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ถือหุ้นโดย จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ 80% ส่วนอีก 20% ถือหุ้นโดยกลุ่มบุคคล เพื่อรับสัมปทานคลื่น 94 ส่วนสำนักข่าวไทยไทม์ ตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบในการผลิตรายากรให้กับโอเพ่นเรดิโอ โดยมีนายพิรุณ ฉัตรวนิชกุล และเพื่อนๆของนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ร่วมถือหุ้นด้วย
แกรมมี่บอกปัดไม่ใช่การเมืองบีบ
นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือผู้บริหารด้านการตลาดคลื่นวิทยุ 94 FM ได้กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลการยกเลิกคลื่นข่าว 94 ในสิ้นเดือน พ.ค. นี้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือกรณีการนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในแง่ลบ และสร้างความไม่พอใจให้กับภาครัฐ แต่เป็นเพราะคลื่นดังกล่าวประสบกับภาวะขาดทุนมาโดยตลอดช่วง 5 เดือน หรือนับตั้งแต่เปิดสถานีข่าวมาในวันที่ 1 มกราคม 2549
โดยรายได้จากการขายโฆษณา 2 เดือนแรกไม่มีเลย และหลังจากนั้น 3 เดือนมีพื้นที่โฆษณาเพียง 10-20% เท่านั้น ในขณะที่บริษัทฯต้องใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทในช่วง 5 เดือน หรือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้การปิดสถานีข่าวเป็นการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากขณะนี้เจ้าของสินค้าหลากหลายประเภทตัดงบโฆษณาลง รายได้จากค่าโฆษณามีน้อยลง ดังนั้นถ้าธุรกิจไหนที่ไม่สร้างรายได้บริษัทฯจึงต้องตัดออก เช่น ก่อนหน้านี้บริษัทฯได้ขอคืนคลื่น 88 FM ให้กับกรมประชาสัมพันธ์ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย .49 เป็นต้นไป และล่าสุดปิดคลื่น 94 FM ทั้งนี้เพื่อรักษากำไรให้ได้เท่ากับปีที่ผ่านมา คือ 195 ล้านบาท จากผลประกอบการการบริหารคลื่นวิทยุ 5 คลื่นกว่า 900 ล้านบาท โดยปัจจุบันแกรมมี่มีคลื่นวิทยุทั้งหมด 4 รายการ ได้แก่ บานาน่า 89 FM,ฮอตเวฟ 91.5 FM,EFM 93.5 และกรีนเวฟ 106.5 FM
การบริหารสถานีข่าวต้องใช้งบลงทุนสูง 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับบริหารคลื่นบันเทิง เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนต์ นอกจากนี้ยังต้องแข่งขันกับสถานีข่าวทางวิทยุซึ่งมีทั้งหมด 9 คลื่น ซึ่งแต่ละคลื่นจะต้องช่วงชิงพื้นที่โฆษณาจากเจ้าของสินค้าที่มีแนวโน้มลดลง ต่อให้เราทำต่อและมีพื้นที่โฆษณาเต็ม หรือได้สัมปทานต่อในปีหน้ารายได้ที่เข้ายังไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป ประกอบกับเป็นครั้งแรกของแกรมมี่ที่ทำสถานีข่าว ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญ
“ปัญหาใหญ่คือด้านเศรษฐกิจที่เรามองไม่ออกเลยว่าในช่วงครึ่งปีหลังทิศทางจะเป็นอย่างไร เดิมเราคิดว่าการลงทุนบริหารสถานีข่าวน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว เศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลายบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันขยายธุรกิจมากเกินไป ก็อาจจะต้องปิดกิจการ ดังนั้นเมื่อมีเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้องบริษัทต้องตัดสินใจให้เร็วขึ้น เราปรับตัวในครั้งเพื่อพยุงธุรกิจให้เติบโตได้ ซึ่งปัจจุบันในแกรมมี่มีธุรกิจที่ช่วยบาลานซ์รายได้ เช่น ธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 15%”
ปรับสถานีข่าวสู่สถานีบันเทิง
นางสายทิพย์ กล่าวถึงอนาคตคลื่น 94 FM ว่า ขณะนี้บริษัทฯยังไม่ได้คืนสัมปทานให้กับกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องจากได้วางแผนในการบริหารและเป้าหมายเอาไว้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้แล้ว ซึ่งบริษัทฯจะปรับเปลี่ยนจากสถานีข่าวสู่สถานีบันเทิง ส่วนจะปรับเป็นรูปแบบรายการใดนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยปัจจุบันไทยไทม์มีพื้นที่เวลาในคลื่น 94 FM 18 ชั่วโมงต่อวัน โดยก่อนจะปรับเปลี่ยนบริษัทฯได้เตรียมล้างคลื่น 15 วัน จากนั้นจะเปิดรายการใหม่ทันที
นายพิรุณ ฉัตรวนิชกุล ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยไทม์ และโปรแกรมไดเร็กเตอร์ รายการโอเพ่น เรดิโอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้วางแนวหันมาเน้นการบริหารงานด้านเว๊บไซต์ข่าว “ไทยไทม์” www.thaitimenews.com” จากปัจจุบันเว๊บไซต์ดังกล่าวมีคนเข้าเยี่ยมชมทั้งคนไทยและต่างประเทศ 1,000 คน อีกทั้งยังได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานีข่าวไทยไทม์มีการเสนอข่าวอย่างเป็นกลางมาโดยตลอด โดยมีการเชิญทั้งฝ่ายภาครัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือกระทั่งฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่เหมือนสถานีวิทยุฯบางคลื่น พร้อมกันนี้ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หากมีนายทุนสนใจที่จะเข้ามาร่วมบริหารสถานีก็ยินดี แต่นายทุนที่จะเข้าร่วมจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนและไม่มีปัญหาการเมืองเกี่ยวข้องก็สามารถเข้าร่วมได้
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่ปิดบริษัทโอเพ่น เรดิโอ จำกัด เนื่องจากการเปิดบริษัทเป็นเรื่องยาก โดยปัจจุบันไทยไทม์ มีพนักงานทั้งหมด 50 คน แบ่งเป็นฝ่ายการตลาดและทีมข่าว ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เตรียมมาตรฐานรองรับไว้อย่างชัดเจน สำหรับพนักงานฝ่ายการตลาดจะโยกเข้าบริษัทแกรมมี่ ส่วนทีมข่าวระดับผู้บริหารจะถูกโยกเข้าคลื่นวิทยุ 4 คลื่น ส่วนที่เหลือบริษัทจะให้เงินชดเชย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|