|

กรณีศึกษา"BAY-GE"โมเดลน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"ชาลอต โทณวณิก"ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ต้องคอยตอบคำถาม สื่อต่างๆที่รุมล้อม ถามไถ่เกี่ยวกับอนาคต และทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไป ภายหลังการเข้ามาถือหุ้นในแบงก์กรุงศรีฯ ของกลุ่ม"จีอี แคปปิตอล เอเชีย แปซิฟิค" หรือ "จีอี" ยักษ์ใหญ่ "คอมซูเมอร์ไฟแนนซ์"จากอเมริกา แต่คำตอบที่ได้ก็คือ การเปิดทางของแบงก์ใหญ่ที่เคยนิยามตัวเองเป็น "พันธ์ไทยแท้" จะต่างไปจากการเข้ามาของแบงก์ทุนตะวันตกเมื่อปี 2542 เพราะไม่ว่ารูปแบบของคู่แต่งงานจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ระหว่าง "BAY-GE"ก็ถือเป็นกรณีศึกษา ที่คณะกรรมการต้องมองหาหาโมเดลหรือแนวทางที่เคยเกิดในต่างประเทศเป็นแม่แบบ....
"ในกรณีของ แบงก์กรุงศรีฯกับจีอี ถือว่ายังไม่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย" ชาลอต ต้องคอยอธิบายรูปแบบการจัดงานแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาว คือ จีอีและแบงก์กรุงศรีฯ ว่าจะลงเอยด้วยรูปแบบไหน
แต่อย่างน้อยการจับคู่ระหว่างแบงก์ใหญ่กับทุนกระเป๋าหนักจากตะวันตกก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับแวดวงธนาคารพาณิชย์ไทย
เพราะทุกสายตายังคงจับจ้องไปที่คำตอบสุดท้ายว่าจะออกหัวหรือก้อย แต่ที่ชาลอต สันนิษฐานล่าสุดก็คือ ถ้าต้องควบรวมกันจริงๆก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคืนใบอนุญาติประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ให้กับแบงก์ชาติ หรือไม่อย่างนั้น "จีอี มันนี่" ที่อยู่ในสถานะธนาคารเพื่อรายย่อย (ธย.) ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็น "เครดิต คอมพานี" ไปโดยปริยาย
กระบวนการที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ หลังจากจีอี แคปปิตอล เอเชีย แปซิฟิคเสนอซื้อหุ้น แบงก์กรุงศรีในราคาหุ้นละ 16 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดสัดส่วนลงทุน 25% คือ ส่วนหนึ่งของขั้นตอนที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องรอคำตอบ
ประเด็นสำคัญสำหรับคู่แต่งงานต่างสัญชาติ ที่ทำให้คำตอบต้องใช้เวลาค่อนข้างนานก็คือ เพดานการถือหุ้นของต่างชาติในแบงก์ไทยถูกจำกัดใน 2 ส่วน อุปสรรคแรกคือ กฎระเบียบของแบงก์ชาติที่กำหนดให้นักลงทุนต่างประเทศ 1 รายถือหุ้นได้เพียง 5% นอกจากนั้นก็ยังขีดวงไม่ให้ทุนต่างประเทศทั้งหมดถือหุ้นเกิน 49% ในขณะที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติในแบงก์กรุงศรีมีสัดส่วนถึง 32% ในปัจจุบัน
คำตอบจึงอยู่ที่แบงก์ชาติจะเปิดช่องเรื่องเพดานการถือหุ้นต่างชาติด้วยวิธีไหน จะอนุมัติให้เพิ่มเพดานขึ้นเป็น 49% หรือไม่...นี่คือสิ่งที่นักวิเคราะห์ยังเฝ้าจับตามองอยู่เป็นระยะ
ชาลอต บอกว่า ระหว่างนี้ต้องรอกระบวนการและท่าทีของแบงก์ชาติ จึงให้คำตอบที่เป็นรายละเอียดไม่ได้ และคาดว่าช่วงไตรมาส 2-3 ก็คงไม่มีคำตอบเช่นกัน อย่างไรก็ตามในกรณีนี้มีอยู่ 2 ขั้นตอน ขั้นแรกคือ จีอีต้องคุยและตกลงกับแบงก์กรุงศรีฯโดยตรง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจบลงแล้ว แต่ขั้นตอนสุดท้ายคือ จีอีต้องยื่นขอเสนอไปที่แบงก์ชาติ
" สำหรับมุมมองของแบงก์ชาติค่อนข้างเป็นบวก ไม่ได้สกัดกั้น"
ในช่วงแรกของกระบวนการที่จบลงไปแล้วก็คือ การแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์ และต้องรอแก้เงื่อนไข ดังนั้นจึงยังไม่มีการจ่ายสินสอดทองหมั้นหรือ จ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้นเข้ามาในช่วงนี้
ชาลอต บอกว่า ภายหลังการแจ้งเรื่องจะซื้อหุ้นเข้ามา คณะกรรมการ แบงก์กรุงศรี ก็ตอบตกลงและแจ้งให้จีอีกลับไปเจรจากับแบงก์ชาติว่าจะเลือกรูปแบบอย่างไร เนื่องจากหลักเกณฑ์แบงก์ชาติกำหนดให้หนึ่งสถาบันการเงินมีหนึ่งรูปแบบ หรือ (One Presense) หรือ ไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินใดถือหุ้นในสถาบันการเงินอื่น ดังนั้นเมื่อทั้งจีอี และแบงก์กรุงศรีฯเจรจาเสร็จเรียบร้อย จึงต้องยื่นเรื่องเสนอไปยังแบงก์ชาติว่าจะเลือกสถานะใด
" ส่วนลึกๆเรายังไม่ได้คุยในรายละเอียด แต่อย่างน้อยกรณีของกรุงศรีกับจีอี ก็ยังแตกต่างไปจากการเข้ามาเทคโอเวอร์แบงก์ไทยโดยแบงก์ต่างชาติเมื่อปี 2542 เพราะเคสนี้ถือเป็นการเข้ามาเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ดังนั้นบอร์ดต้องศีกษาและหาแนวทาง โดยอาจจะดูจากโมเดลที่เกิดในต่างประเทศเป็นแบบอย่าง "
ชาลอต บอกว่า การเข้ามาถือหุ้นและจะปรับสถานะเป็นรูปแบบใดคงยังไม่พูดถึงในตอนนี้ เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะส่วนสำคัญคือ แบงก์ชาติต้องอนุมัติในเรื่องที่จะเสนอไปเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้ ภายหลังการเข้ามาถือหุ้นของยักษ์ใหญ่จีอี ก็คือ ความได้เปรียบด้านเงินทุน โนว์ฮาวน์ เทคโนโลยี การบริหารงานที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ฝั่งแบงก์กรุงศรีฯมีสาขากว่า 500 แห่ง มีฐานลูกค้าในมือมหาศาล การจะขยับขยายตลาดลูกค้ารายย่อยจึงค่อนข้างราบรื่น
" การขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ต้องมีทั้งสินค้า มีระบบรองรับที่ดี ต้องมีโนฮาวน์ และลงทุนค่อนข้างมาก ซึ่งการเข้ามาถือหุ้นของจีอีจะช่วยร่นเวลาให้แบงก์กรุงศรีฯวิ่งถึงเส้นชัยเร็วขึ้น"
ความสัมพันธ์ระหว่างจีอีกับแบงก์กรุงศรี เริ่มต้นมาตั้งแต่การร่วมถือหุ้นในธุรกิจบัตรเครดิต ที่รู้จักในชื่อบัตรกรุงศรี-จีอี นายแบงก์ที่เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของจีอีก่อนจะยกฐานะขึ้นเป็นธนาคารเพื่อรายย่อย (ธย.) หรือ จีอี มันนี่ ถึงกับบอกว่า คนอื่นอาจจะมองว่ากรุงศรีฯได้เปรียบ แต่ถ้ามองให้ลึกจะพบว่า จีอีเป็นฝ่ายที่ถือไพ่เหนือกว่า เพราะฐานลูกค้าและสาขาแบงก์กรุงศรีคือสิ่งที่จีอีต้องการ
การตั้งแบงก์จีอีขึ้นมาเอง และโฟกัสไปที่ตลาดรีเทล ที่ถนัดและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษอาจต้องใช้เงินลงทุนด้าน บุคคลากรและสาขาค่อนข้างมหาศาล แต่การเข้ามาถือหุ้นในแบงก์กรุงศรีฯจะกลายเป็นทางลัดให้จีอีวิ่งได้เร็วกว่าแบงก์คู่แข่งไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศ
ไม่ว่าคำตอบจะออกหัวหรือก้อย อาจจะควบรวมหรือไม่ก็ตาม แต่ภาพที่เห็นเวลานี้คือ แทบไม่มีพื้นที่ให้แบงก์พันธ์ไทยแท้ได้ยืนหายใจหายคอได้สะดวกเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน.....
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|