แบงก์ออมสินเปิดแบรนด์สู่รายย่อยกลุ่มใหม่ปฏิวัติผลิตภัณฑ์ครบวงจรบริการทุกหย่อมหญ้า


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ออมสิน"ปฏิบัติการแผน 2 ต่อเนื่องหลังรีแบรนดิ้งเปิดตัวสู่สาธารณะชนกลุ่มใหญ่มากขึ้นจากเดิมที่เน้นลูกค้าระดับฐานหญ้าตามนโยบายรัฐ นำบริการที่มีหลากหลายแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมาปฏิวัติแปลงโฉมใหม่พร้อมเปิดตัวสู่ตลาดรายย่อยที่ไม่เคยได้รู้และสัมผัสความเป็นออมสินในภาพลักษณ์ใหม่ที่เป็นมากกว่าธนาคาร เพราสนองความต้องการได้ทั้งนโยบายรัฐ ขณะเดียวกันก็ให้บริการที่ครบวงจรแก่บุคคลทั่วไป

ภาพของอออมสินที่ผ่านมานั้นค่อนข้างติดอยู่กับบทบาทธนาคารรับฝากเงินสำหรับเด็ก เป็นธนาคารแห่งการออม และเป็นเครื่องมือที่รัฐนำมาใช้สนองนโยบายจากความที่เป็นธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐ อย่างหลายปีที่ผ่านมาบทบาทของออมสินค่อนข้างเด่นชัดมากขึ้นจากนโยบายที่รัฐมอบหมายงานให้ ด้วยการเป็นแหล่งทุนปล่อยสินเชื่อสำหรับรากหญ้า 4-5 ปีที่ผ่านมาบทบาทของออมสินจึงเป็นที่รู้จักมาขึ้นโดยเฉพาะคนในระดับฐานราก

ตั้งแต่ พ่อค้าแม้ค้าแผลงลอย ไปถึงตลาดสด ลงสู่ฐานรากตามชุมชน อำเภอต่าง ๆ ชื่อของออมสินเป็นที่รู้จักมากด้วยการให้บริการที่สามารถแทรกซึมเข้าถึงทุกหย่อมหญ้า ด้วยสาขาทั่วประเทศ ประสานด้วยนโยบายจากภาครัฐชื่อและบทบาทการทำงาของออมสินจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ออมสินไม่ได้หยุดบทบาท ด้วยการเป็นแค่ธนาคารเฉพาะกิจที่สนองนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการที่จะกระจายชื่อ และแบรนด์ไปสู่บุคคลระดับอื่นๆที่ไม่ใช้เฉพาะฐานรากให้มากขึ้น

ยงยุทธ ติยะไพโรจน์ เคยกล่าวว่าที่ออมสินต้องเปลี่ยนแบรนด์ใหม่นั้นเพื่อให้เป็นไปตามกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าออมสินรับเพียงบทบาทสนองนโยบายรัฐโดยไม่คิดที่จะริเริ่มหรือปรับตัวรับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป นั่นอาจทำให้ออมสินต้องตกอยู่ในสถานะลำบากเมื่อต้องเปิดเสรีทางการเงิน

ถึงเวลาที่ออมสินจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ รวมถึงการหาลูกค้ารายย่อยกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่กลุ่มฐานราก แต่หมายรวมถึงประชาชนทั่วไปในเมืองทุกเพศทุกวัย รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เรียกได้ว่ายังคงติดกับภาพลักษณ์เก่า ๆ ของออมสินที่ยังเป็นธนาคารโบร่ำโบราณ

อาจกล่าาวได้ว่าที่ผ่านมารูปแบการทำงานของออมสินแทบไม่ออกไปจากกรอบนโยบายที่รัฐมอบหมาย จึงไม่แปลกที่ใครๆจะมองภาพลักษณ์ออมสินเป็นผู้เฒ่าเก่าแก่ ขณะเดียวกันฐานลูกค้าก็ไม่ต้องหาให้วุ่นวายก็มีมาประเคนให้ถึงที่อย่าง ลูกค้าองค์กรใหญ่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการทำให้ออมสินไม่เคยที่จะหวลมองออกไปภายนอกขอบรั้วบ้านออมสิน

จนกระทั้ง แรงบันดาลใจจากโลกภายนอกของกระแสโลกาภิวัฒน์ และการปรับตัวของแบงก์พาณิชย์ ทำให้ออมสินหันกลับมาส่องกระจกตัวเองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนตัวเองใหม่เพื่อรับกับสถานการณ์ของโลก และตลาดสถาบันการเงินที่เปลี่ยนไป

ดังนั้นเป้าหมายของออมสินในวันนี้จึงยิ่งใหญ่ และอาจกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับแบงก์พาณิชย์ในอนาคต เพราะอย่างที่กล่าวออมสินไม่ได้มีบทบาทเดียว คือเป็นธนาคารแห่งการออม ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่แท้จริงแล้ว ออมสินเป็นธนาคารที่มีรูปแบบการให้บริการที่ครบวงจรเหมือนกับแบงก์พาณิชย์ทั่วไปที่ประกาศถึงความเป็นยูนิเวอร์แซลแบงกิ้ง

ออมสินไม่ได้ออกมาประกาศความเป็นธนาคารยูนิเวอร์แซลแบงกิ้ง เนื่องจากความเพรียกพร้อมด้วยบริการทุกรูปแบบตั้งแต่ธุรกิจประกันชีวิต ประกันภัย เช่าซื้อ ลิสซิ่ง เป็นต้น ออมสินทำมาหมดแล้ว และทำมาก่อนที่คำว่ายูนิเวอร์แซลแบงกิ้งจะบูมในตลาดสถาบันการเงินเสียอีก เพียงแต่ที่ผ่านมาออมสินไม่ได้บอกและประชาสัมพันธ์ให้คนนอกได้รับรู้เท่านั้น

ยงยุทธ บอกว่าออมสินที่บริการครบวงจรด้วยการมีพัธมิตรที่ออมสินเข้าไปถือหุ้นอยู่ ซึ่งพันธมิตรดังกล่าวทำให้ออมสินสามารถให้บริการที่ครบวงจร และในวันนี้ออมสินจะเริ่มเปิดตัวธุรกรรม บริการ และผลิตภัณฑ์ที่ออมสินมีอยู่แล้วให้เป็นที่รับรู้ในระดับวงกว้างมากขึ้น โดยมีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อยใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

และหลังจากรีแบรนด์เปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรใหม่ พัฒนารูปแบบการให้บริการที่ดีขึ้นด้วยการนำระบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อสนับสนุนด้านการทำงาน โดยทุกวันนี้กล่าวได้ว่าสาขาออมสินทุกแห่งสามารถออนไลน์ข้อมูลได้ถึงกัน พร้อมนำบริการที่เคยใช้มาปฏิบัติใหม่ด้วยการนำ"รถ Mobiles หน่วยบริการเคลื่อนที่"มาใช้ โดยที่รถดังกล่าวให้บริการไม่ต่างจากสาขาหนึ่งของออมสิน

เมื่อบริการทุกอย่างมีความพร้อมสิ่งที่รุกเดินหน้าต่อไปสำหรับออมสินคือการเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ที่ออมสินมี แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก โดยล่าสุด ออมสินเปิดตัวบริการเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว 5 รูปแบบใหม่ คือ ออมสินอุ่นใจ ออมสินคุ้มนิรันด์ ออมสินคู่ขวัญ ออมสินเพิ่มทรัพย์170 และออมสินเพิ่มทรัพย์ 200

บริการเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว เป็นธุรกรรมการเงินที่ไม่แตกต่างจากการทำประกันชีวิต ดังนั้นสำหรับออมสินแล้วธุรกิจประกันภัย ยืนยงคงอยู่มานานพอ ๆ กับอายุ 90 กว่าปีของออมสิน

สันตรินโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายสงเคราะห์ชีวิต เล่าให้ฟังว่า ฝ่ายสงเคราะห์ชีวิต เกิดขึ้นมากว่า 70ปีแล้วตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน และที่ผ่านมาคนที่รู้จักฝ่ายสงเคราะห์ชีวิตมีลูกค้าไม่กี่รายเท่านั้นที่รู้จัก ทำให้การเปิดตัวหน่วยงานนี้ต้องรีแบรนด์ด้วยเช่นกันโดยนำคำว่า "GSB LIFE เงินฝากคุ้มครองชีวิต" มาใช้แทนคำว่าฝ่ายสงเคราะห์ชีวิต ที่ดูโบราณและเชยอย่างมาก

"และภายใต้แบรนด์ใหม่ก็ยังคงความเป็นออมสินด้วยการใช้สีชมพูสดใส ยังแสดงถึงความทันสมัย ง่ายๆ เป็นกันเองระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ"

มองได้ว่าการปฏิรูปองค์กรและรูปแบบบริการใหม่ๆคือภาพสะท้อนของออมสินไม่เคยทำ หรือถ้าทำก็ไม่ได้รุกหนักมากมาย โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มรายย่อยที่ไม่ใช่ฐานรากตามนโยบายรัฐสั่ง ทำให้ออมสินต้องผลิกโฉมหน้าใหม่ด้วยการพึ่งลำแข้งของตนเองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ประชาสัมพันธ์สิ่งที่เคยมีอยู่ให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นเพื่อเข้าเจาะลึกซึมเข้าไปสู่รายย่อยที่อยู่นอกเหนือกลุ่มเป้าหมายของออมสินในอดีตที่ผานมา เช่นกลุ่มวัยรุ่น

ธุรกรรมการเงินของออมสินยังมีอีกมากอย่างกล่าวไว้ข้างต้น ตั้งแต่ ลิสซิ่ง เช่าซื้อ ประกันวินาศภัย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นธนาคารต้นตำรับของความเป็นยูนิเวอร์แซลแบงกิ้งก็ว่าได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยออกมาพูดหรือประสัมพันธ์มากนัก ทำให้การเข้าถึงบริการของออมสินที่ผ่านมาเป็นแบบปากต่อปาก แต่จากความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทำให้ทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป ออมสินต้องออกมาปรากฎโฉมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ออมสินในวันนี้เลือกที่จะไม่พูดถึงคำว่ายูนิเวอร์แซลแบงกิ้ง แต่มองข้ามช็อตเพื่อสร้างภาพไปสู่การเป็นมากกว่าธนาคาร ซึ่งนั่นอาจแสดงถึงขอบเขตการให้บริการที่ไม่จำกัด โดยรวมถึงฐานลูกค้าที่ต่อไปจะไม่ใช่แค่กลุ่มฐานรากอย่างเดียว แต่จะกวาดลูกค้าทุกกลุ่มหย่อมหญ้าเลยทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.