ไทยซอฟท์ขาดทุน บทเรียนครั้งสำคัญของแจ็ค


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ตัวเลขขาดทุนจำนวน 5 ล้านบาทของไทยซอฟท์ที่ปรากฏออกมาในไตรมาสที่สอง เป็นการสะท้อนภาพอย่างหนึ่งที่สหวิริยาโอเอต้องเผชิญหน้าอยุ่ในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

ไทยซอฟท์ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2533 เพื่อรองรับกับธุรกิจทางด้านซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ เพราะแจ็คมองว่า อนาคตของธุรกิจในระยะยาวมีแนวโน้มจะสดใสไม่แพ้ฮาร์ดแวร์

ซอฟต์แวร์ที่ไทยซอฟท์วางจำหน่ายมีทั้งที่เป็นตัวแทนจำหน่ายจากต่างประเทศ คือ โนเวลล์, โลตัส, ออโตแคด และที่พัฒนาาขึ้นเองในไทย อาทิ โปรแกรมบัญชีจีเนียส, ซอฟต์แวร์จัดการระบบภาษาไทย, ระบบงานที่เชื่อมการทำงาน

จนกระทั่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อตลาดมัลติมีเดียเข้ามามีบทบาท ไทยซอฟท์ก็เริ่มหันไปจับตลาดมัลติมีเดียอีกทาง ด้วยการนำเข้าอุปกรณ์มัลติมีเดียหลายชนิดทั้งซีดี-รอม, ซาวน์บัสเตอร์, ซาลการ์

ผลการดำเนินงานของไทยซอฟท์ที่แล้วมาเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปพอเลี้ยงตัวได้ รายได้ส่วนใหญ่มาจากซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ เนื่องจากฐานลูกค้าในส่วนนี้มีอยู่มาก ส่วนโปรแกรมที่ผลิตขึ้นในประเทศมีจีเนียสเป็นสินค้าหลัก

จนกระทั่งเมื่อย่างเข้าปีนี้ รายได้ของไทยซอฟท์กลับลดต่ำลง จนกระทั่งขาดทุน ! นับเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย

เพราะการขาดทุนของไทยซอฟท์ในครั้งนี้ สวนทางกับธุรกิจซอฟทืแวร์ที่มีการคาดการณ์กันว่า จะเพิ่มขึ้นอีกมากมายภายหลังจากการประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไปเมื่อมีนาคมปีที่แล้ว

ผู้บริหารของไทยซอฟท์ประเมินว่า สาเหตุการขาดทุนในครั้งนี้มาจากปัญหาความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้ผู้ใช้ไม่เห็นประโยชน์จากการเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์มาใช้งาน

"เราต้องลงทุนเรื่องคนมาตลอด ในการขายโนเวลล์ หรือโปรแกรมบัญชี ตั้งแต่ดีลเลอร์ยันลูกค้า แต่มาถึงวันนี้ทุกคนกลับไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ เงินลงทุนที่เราลงไปก็ไม่เกิดผลกลับมา" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะเดียวกันตลาดมัลติมีเดีย ที่เป็นตลาดหลักอย่างหนึ่งของไทยซอฟท์ เกิดความผันผวนอย่างหนัก เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้ามัลติมีเดียที่ไทยซอฟท์สั่งนำเข้ามาไว้ต้องค้างอยู่ในสต็อกเป็นจำนวนมาก

"เทคโนโลยีของมัลติมีเดียเปลี่ยนเร็วมาก แม้แต่ผู้ผลิตอุปกรณ์มัลติมีเดียในต่างประเทศ ก็ยังต้องเจอกับภาวะเช่นนี้ ซึ่งก็ส่งผลกระทบมาถึงเราด้วย" แหล่งข่าวในไทยซอฟท์แวร์กล่าว

ปัญหาสำคัญอีกประการที่ผู้บริหารไม่ได้พูดถึง คือ อำนาจต่อรองทางการแข่งขันของไทยวอฟท์ที่ลดลง เนื่องมาจากสินค้าหลักที่ทำรายได้หลักให้กับไทยซอฟท์ คือ โนเวลล์ และ โลตัส มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น เพราะนโยบายของผู้ผลิตทั้งสองสินค้าที่ต้องการเพิ่มตัวแทนขายเพื่อช่วยขยายตลาด ซึ่งล่าสุดโลตัสได้แต่งตั้งให้บริษัทคอมแพคเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์บนเครื่องเดสก์ทอป และโปรแกรมซีซีเมล์ที่ไทยซอฟท์เคยเป็นตัวแทนขายรายเดียว เพิ่มขึ้นเป็นรายที่สองในตลาด และจะทยอยแต่งตั้งเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ

ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไทยซอฟท์ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือ การลดค่าใช้จ่ายในด้านการบริหารงานลง โดยเฉพาะในเรื่องคน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ด้วยการโยกย้ายให้พนักงานที่เคยรับผิดชอบสินค้าเหล่านี้ ไปทำธุรกิจทางด้านอื่น ๆ ของสหวิริยาโอเอที่กำลังเกิดขึ้น หรือขยายตัว เช่น ไอทีซิตี้ ธุรกิจซูปเปอร์สโตร์ เวิร์คสเตชั่น และอินเตอร์เน็ต

"เราคุยกันมา 2 ปีแล้ว ไทยซอฟท์จะอยู่ได้ต้องทำเหมือนกับโนเวลในสหรัฐฯ ที่ขายถูกมาก ขายขาดทุน แต่หลังจากนั้นพอใครโทรมาถาม เราเก็บเงินทันทีตามเวลาที่โทร" กนกวิภา สะท้อนความเห็น

การขาดทุนของไทยวอฟท์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของสหวิริยา ที่เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และเมื่ออำนาจต่อรองของสหวิริยาเริ่มลดน้อยถอยลง

แน่นอนว่า รายได้ส่วนหนึ่งของสหวิริยา ที่จะได้มาจากการลงทุนในบริษัทย่อยคงต้องลดน้อยลงไปอีก เพราะไทยซอฟท์ต้องปรับเป้ายอดรายได้ลง 20%

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไทยซอฟท์ทำกำไรให้กับสหวิริยาปีละ 20 ล้านบาทมาตลอด

แจ็คชี้แจงว่า สาเหตุสำคัญที่ไทยซอฟท์ขาดทุน คือ คนไทยยังไม่เคยซื้อซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย แม้จะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้คนหันมาเลิกก๊อปปี้ซอฟต์แวร์

นอกจากนี้ เทคโนโลยีของมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นสินค้าหลักอีกชนิดหนึ่งของไทยซอฟท์ มีารเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แม้แต่บริษัทครีเอทีฟ จากสิงคโปร์ ซึ่งเคยเฟื่องฟูมากก็ยังเกือบเอาตัวไม่รอด

แจ็ครู้ดีว่า หากดันทุรังต่อไปคงไม่เป็นผลดีเมื่อธุรกิจไม่เอื้ออำนวยแล้ว ก็ควรจะลดบทบาทในธุรกิจนี้ลง พร้อมกับลดต้นทุนด้วยการย้ายพนักงานของไทยซอฟท์จากที่มีอยู่ 150 คน ให้ลดเหลือเพียง 80 คน ส่วนอีก 70 คนย้ายไปตามส่วนงานอื่น ๆ ที่มีโอกาสทำกำไรมากกว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.