|
อุตฯเหล็กดิ้นหนีวิกฤตหา "พันธมิตร-ตลาดใหม่"- "สวัสดิ์" โวยFTAทำธุรกิจพัง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
อุตสาหกรรมเหล็กไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ 2พี่เบิ้มในอุตสาหกรรมเหล็กต่างปรับยุทธศาสตร์การค้า-การลงทุนระลอกใหม่ "NSM" เตรียมหาพันธมิตรลงทุนโรงงานถลุงเหล็ก ขณะที่ G steel เตรียมการเพิ่มกำลังการผลิตคาดปี ในปี 2550 ผลิตได้กว่า 3 ล้านตัน/ปี ด้าน "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง" ชี้ FTA ไทย-ญี่ปุ่นเป็นภัยต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย แนะรัฐบาลให้เก็บค่าวิจัยจากบริษัทต่างๆเพื่อทำ R&D
อุตสาหกรรมเหล็กอยู่ในช่วงลูกผีลูกคน เพราะต้องเจอกับทั้งวิกฤติ การทุ่มราคา และการเปิด FTA ระหว่างไทย และญี่ปุ่น อีกทั้งในไตรมาสแรก 2549 อุตสาหกรรมเหล็กยังชะลอตัวอีก ทำให้บริษัทเหล็กต่างงัดกลยุทธ์เข้าสู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้บริษัทอยู่ได้อย่างมั่นคงและเตรียมความพร้อมรอจังหวะให้ธุรกิจเหล็กกลับมาเป็นดาวรุ่งอีกครั้งหนึ่ง
NSM เตรียมการผลิตโรงงานถลุงเหล็ก
แหล่งข่าวจากบริษัท. นครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) หรือ NSM กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กในอนาคตนั้น วัตถุดิบจะหาได้ยากมากยิ่งขึ้น วัตถุดิบเช่น เศษเหล็ก หรือที่เรียกว่า สแค็ป เพราะเหล่าบริษัทยักษืใหญ่จากบริษัทใหญ่ที่มีการควบรวมกันจะเป็นผู้กำหนดทิศทางราคา ทำให้ราคาเศษเหล็กสูงขึ้นตามมา ดังนั้นทาง NSM ได้เตรียมโครงการถลุงเหล็กด้วยพลังงานก๊าซธรรมชาติขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 50% ใช้เม็ดเงินลงทุนไปกว่า 2,800 ล้านบาท และต้องการหาพันธมิตรมาลงทุนเพิ่มในวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมามีบริษัทจากทั้งประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และในประเทศยุโรป เข้ามาติดต่อสนใจลงทุน แต่ติดขัดเพียงแค่เหล่าบริษัทเหล่านั้นต่างต้องการที่จะซื้อกิจการเลยทันที่โดยไม่ต้องการเข้ามาเป็นแค่พันธมิตรร่วมทุน ซึ่งทำให้ทาง NSM ต้องปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นไป ทั้งนี้ทางบริษํทกำลังหาทางออกโดยอาจจะแยกโรงงานถลุงเหล็กออกมาเป็นอีกบริษัทลูก เพื่อการแก้ปัญหาต่างชาติอยากเข้ามาซื้อกิจการทั้งหมด
นอกจากนั้นปัจจัยเรื่องวัตถุดิบที่จะเข้ามาใช้ในการถลุงเหล็กนั้นยังเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ เพราะทาง NSM เลือกที่จะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบทำให้มีต้นทุนราคาสูงกว่าเหมืองทั่วๆไปแต่ไม่มีมลพิษ แต่จะต้องพึ่งพิงกับราคาก๊าซธรรมชาติ จากทาง ปตท. ปัจจุบันทาง NSM อยากจะให้ทางปตท.ลดราคาก๊าซให้ในช่วงแรกของการผลิตอย่างน้อย 1-2 ปี แล้วหลังจากนั้นจะปล่อยลอยตัวก็ได้ ซึ่งราคาก๊าซเป็นปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวตัดสินว่าโรงงานถลุงเหล็กจะเกิดได้หรือไม่ต่อไป
"ต่างชาติอยากซื้อทั้งบริษัท เขาไม่อยากมาเป็นพันธมิตร เพราะถ้าเขาลงทุนเองก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างโรงงาน กว่าจะเร่งกำลังการผลิตได้ แต่แค่ซื้อบริษัทนี้บริษัทเดียว ใส่เงินนิดเดียวก็ได้ทั้งโรงงานได้ทั้งโรงถลุงเหล็ก ซึ่งตอนนี้เราก็หาทางออกกันอยู่ว่าจะเอายังไงต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว
เปลี่ยนการผลิตหนีจีน
ขณะเดียวกัน ดอน ภาสะวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางการผลิตของบริษัท นครไทยสตริปมิล ว่า แม้ทาง NSM จะหยุดการผลิตไปช่วงระยะเวลาหนึ่งและกลับมาผลิตได้ใหม่ในปี 2547 แต่ก็สามารถมีกำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ โดยเริ่มผลิตได้ 500,000 ตันในปี 2547 และผลิตได้ 700,000 ตันในปี 2548 และคาดว่าในปี 2549นี้ทาง NSM จะมีกำลังการผลิต 1,000,000 ตันได้
สำหรับกลยุทธ์ของ NSM ก็คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ให้สินค้ามีคุณภาพสูงซึ่งจะรองรับกับตลาดระดับบน และจะทำให้NSM หนีการตีตลาดจากเหล็กราคาถูกจากประเทศจีนได้ เพราะคาดว่าในปี 2550นั้นจะมีกำลังการผลิตเหล็ก Commodity จากประเทศจีนกว่า 20 ล้านตัน ซึ่งทาง NSM จะต้องหนีจากประเทศจีนให้ได้
โดยคาดว่าภายในปี 2550 ทาง NSM จะสามารถผลักดันให้เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าคุณภาพระดับสูงได้ ซึ่งทาง NSM ได้เตรียม ทำเหล็กที่มีคาร์บอนต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นเหล็กที่มีความบริสุทธิ์หรือที่เรียกว่า API เหล็กเหล่านี้ใช้ในอุตสาหกรรมส่งก๊าซและน้ำมัน โดยมีความต้องการสูงมาในแถบตะวันออกกลาง แต่มีผู้ผลิตเพียงแค่ 2 รายเท่านั้นคือ ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น โดยปัจจุบันได้ทำการทดสอบและขอออเดอร์กับทางประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้ว ทาง NSM ก็พร้อมผลิตขายได้ทันที
นอกจากนั้น ดอนยังกล่าวเสริมว่า ทาง NSM มองไปที่ตลาดรถยนต์ ซึ่งทางภาครัฐบาลกำลังจะผลักดันประเทศไทยให้เป็น ดีทรอยด์ของเอเชียนั่น ทางNSM กำลังจะเข้าสู่การเข้ารับการรับรองมาตรฐาน ISO 16949 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งนอกจากเหล็กที่มีคุณภาพแล้วทาง NSM ยังมีทำเลอันเหมาะในด้านการขนส่ง เพราะ มีทั้งท่าเรื่อเป็นของตัวเองและอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรรณภูมิอีกด้วย
"เราทำเหล็กเกรดดีๆหนีทำเหล็ก Commodity grade เราเลือกที่จะเน้นผลิตเหล็กเพื่อทำรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีวอลู่มสูง ราคาแพง คุณภาพระดับสูง และมีมาร์จินดี โดยที่ผ่านมาเราได้เหล็กทำเกรดพิเศษไปแล้ว เช่น สะพานข้ามพระราม 3 ก็ใช้เหล็กของทาง NSM ถือว่าเป็นเหล็กชั้นหนึ่งของการก่อสร้าง ต่อไปเราก็จะมุ่งสู่เหล็กคุณภาพชั้นหนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์และท่อส่งก๊าซ" ดอนกล่าว
กลยุทธ์ต่างๆที่ทาง NSM วางแผนไว้นี้ต่างเป็น กลยุทธ์ที่จะทำให้ อุตสาหกรรมเหล็กอยู่ต่อไปได้เพื่อจะได้รับอานิสงฆ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นขณะเดียวกันทาง บริษัท จีสตีลก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทเหล็กรายใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กรีดร้อนเช่นกัน ก็เตรียมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่ม เพื่อหาฐานลูกค้าของตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยได้ชูจุดเด่นด้านกระบวนการผลิตในด้านความบางของเหล็กเข้ามาเป็นตัวชูตลาด
G steel เตรียมเพิ่มกำลังการผลิต
นพเก้า ศรีสุวนันท์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท จีสตีลจำกัด (มหาชน)กล่าวว่า แนวโน้มราคาเหล็กดีขึ้น น่าจะเกิดจากการที่จีน ทยอยปิดโรงงานขนาดเล็กลงไป ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าโรงงานใหญ่ๆจะสามารถดันกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาทดแทนได้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กไทยในตอนนี้ เพราะสังเกตได้จากในส่วนของบริษัทจีสตีล ขณะนี้ ผลิตไม่เพียงพอต่อยอดการสั่งซื้อที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งราคาเหล็กรีดร้อนจะขึ้นอยู่กับราคาเศษเหล็กปัจจุบันอยู่ที่ กิโลกรัมละ 9-10 บาท หรือ 11,000 บาท / ตัน ซึ่งราคาเหล็กรีดร้อนก็จะไต่ระดับตามราคาเศษเหล็ก เพราะต้องใช้วัตถุดิบจากเศษเหล็กมาใช้ในการผลิต ซึ่งเศษเหล็กเหล่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป 80%และใช้ภายในประเทศเอง 20%
ตอนนี้กำลังการผลิตของบริษัท จี สตีล อยู่ที่ 1.8 ล้านตัน/ปี ได้ เท่ากับ ใน 1 นาที่ผลิตได้ 2,500 ก.ก. หรือเท่ากับบริษัทสามารถผลิตรถยนต์ได้ ทุก 1 นาที คาดว่าในปี2550 นี้ทาง จีสตีลจะสามารถมีกำลังการผลิตได้กว่า 3 ล้านตัน / ปี ความโดดเด่นของ จีสตีลนั้นคือการที่สามารถรีดเหล็กได้บางถึง 1 ม.ม. ซึ่งการรีดเหล็กได้บางขนาดนี้ทำให้สามารถขายได้ในราคาเหล็กรีดร้อนทั่วไป ทั้งนี้กำลังการผลิตของ จี สตีลเกือบทั้งหมดต่างส่งขายภายในประเทศ เหลือเพียงแต่ 30%ที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่นประเทศ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน แคนาดา เวียดนามและฝรั่งเศส
สำหรับโครงการสร้างโรงงานถลุงเหล็กที่ทางจีสตีลวางเอาไว้นั้น นพเก้ากล่าวว่าคงจะต้องชะลอการลงทุนเหล่านี้ไปก่อนเพราะช่วงนี้ราคาแร่เหล็กสูงมาก ซึ่งจะต้องกลับมาพิจารณารายละเอียดกันอีกทีหนึ่ง
สวัสดิ์ชี้ FTA ดึงอุตสาหกรรมเหล็กร่วง
ด้าน สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการ บ. นครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าทิศทางของอุตสาหกรรมเหล็กจะเป็นเช่นไรต่อไป ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการค้าของทางรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพของรัฐบาลชุดใหม่หรือจะเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าจะสามารถเตรียมความพร้อมด้านการแข่งขันให้กับเหล่าผู้ประกอบการไทยได้หรือไม่ เพราะในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าตามกฏ WTO ที่จะต้องมีการลดภาษีเหลือ 0%แล้วไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่
อย่างไรก็ตามธุรกิจเหล็กในประเทศไทยนั้น สวัสดิ์มองว่าถ้ารัฐบาลมั่วแต่ตะลุยเปิด FTA กับประเทศต่างๆไปทั่วโดยไม่ได้มองว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอย่างไรบ้างนั้น ก็คงจะเป็นการยากที่ไทยจะสู้กับประเทศต่างๆได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยสวัสดิ์ เสนอให้มีการออกกฏให้บริษัทต่างๆนั้นต้องแบ่งกำไรส่วนหนึ่งที่ได้เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาค้นคว้าและวิจัย ซึ่งต่อไปไทยจะได้ไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 100% แต่ไทยสามารถผลิตได้เองบางส่วนก็จะเป็นโอกาสอันดี
"อย่างอุตสาหกรรมเหล็กของผม เราก็มองอนาคตแล้วว่ามีอนาคตก็อุตส่าห์ ทำเทคโนโลยีให้ทางญี่ปุ่นเขายอมรับ แต่พอเปิด FTA กับญี่ปุ่นแล้วบริษัทผมจะทำยังไง ญี่ปุ่นก็เอาเหล็กมาขายประเทศไทย" สวัสดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|