02 สหวิริยา โอเอ "งบฝืด"

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทย ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ค่อนข้างจะไม่เป็นไปตามที่คิดหมายกันไว้ ทำให้หลายธุรกิจต้องได้รับผลกระทบในด้านผลประกอบการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่แม้จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ไม่วายจะต้องเจอผลกระทบกับภาวการณ์ที่ผ่านมา ยิ่งเมื่อแจงงบดุลต่าง ๆ ออกมาก็ยิ่งฉายภาพได้ชัดขึ้น

บริษัท สหวิริยา โอเอ บริษัทค้าคอมพิวเตอร์หนึ่งในไม่กี่รายของเมืองไทย ก็หนีไม่พ้นภาวะดังกล่าว บริษัทลูก คือ ไทยซอฟท์ ปรากฏผลการดำเนินงานขาดทุน 5.19 ล้านบาทเป็นปีแรก หลังจากที่ส่งผลกำไรเข้ามายังบริษัทแม่มาโดยตลอด ในขณะที่สภาพคล่องและสินค้าคงเหลือก็อยู่ในภาวะที่น่าวิตก ว่าจะสามารถเคลียร์บัญชีตัวเลขให้ดีขึ้นได้หรือไม่ภายในไตรมาสสุดท้ายที่เหลืออยู่ของปี 2539 นี้

เฉพาะไตรมาสที่สองของปีนี้ สหวิริยา โอเอ มีกำไรสุทธิ 26.2 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 43.87 ล้านบาท หรือคิดเป็นอันตรากำไรลดลง 40.25%

ในแง่ของยอดขายนั้น บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 18.8% ในไตรมาส 2 เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน หรือมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 702.26 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมียอดขายเพียง 591.14 ล้านบาท

ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่กำไรกลับลดลงนั้น แสดงว่าบริษัทมีปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งเมื่อพิจารณางบกำไรขาดทุนในส่วนนี้แล้ว ปรากฎว่า รายการด้านนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกรายการ

ต้นทุนขายและบริการเพิ่มขึ้น 20.56% เฉพาะงวดไตรมาสสองของปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็เพิ่มขึ้น 22.75% และดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 37.61%

สหวิริยาฯ มีรายได้หลักจากการขายและบริการมากกว่า 90% โดยในไตรมาสสองมีรายได้จากการขายและบริการรวม 702 ล้านบาท จากรายได้รวม 757 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดคอมพิวเตอร์เป็นไปดังที่คาดการณ์กันมา คือ

มีการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในเรื่องค่าใช้จ่าย จากงบกำไรขาดทุน ตัวเลขค่าใช้จ่ายและรายได้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% โดยเฉลี่ย แต่ผลกำไรจะเริ่มลดน้อยลง ช่องทางทำกำไรของธุรกิจคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มลดลง แม้จะมีตัวเลขยอดขายสูงขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายก็สูงตามกันมาเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

วกกลับมาดูสภาพคล่องของสหวิริยาจากตัวเลขในงบดุลของครึ่งปีแรกของปี 2539 สัดส่วนระหว่างหนี้สินหมุนเวียนและสินทรัพย์หมุนเวียนใกล้เคียงกันมาก ยังสามารถคุมไว้อยู่

แต่น่าสังเกตว่า บริษัทมีสินทรัพย์อื่นเพิ่มสูงและเป็นรายการที่มีมูลค่าสูงในรายการสินทรัพย์รวมด้วย

นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สินของบริษัทยังมาจากรายการเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมธนาคารเป็นหลัก การเป็นเจ้าหนี้การค้าเพิ่มมากขึ้นเป็น 572 ล้านบาท ในปี 2539 จากปี 2538 ที่มีการเป็นเจ้าหนี้การค้าเพียง 131 ล้านบาท ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากนโยบาเยรื่องการใช้ซัปพลายเออร์ เครดิต

ว่ากันว่า ปัญหาการเงินบางส่วนมาจากการที่บริษัทเร่งจำหน่ายสินค้าออกไปจากสต็อก แต่ไม่สามารถเร่งรัดเก็บหนี้สินเข้ามาได้ ทำให้บริษัทขาดเงินสดหมุนเวียนที่ควรจะมีมากกว่าที่เห็น

เพราะถ้าสินค้าระบายไม่หมดใน 6 เดือน หลังจากนำเข้า อีกปัญหาหนึ่งที่จะตามมาติด ๆ ก็คือ ตัวเลขสินทรัพย์รวมจะลดลงทันที เมื่อมีการตีมูลค่าสินค้าคงเหลือใหม่อีกครั้งหลังจากหักค่าเสื่อมราคา อันเนื่องมาจากสินค้าตกรุ่น เพราะผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์เป็นสินค้าที่มีพัฒนาการเร็ว ถึงขั้นที่ว่าภายใน 6 เดือนหากจำหน่ายไม่หมด ราคาสินค้าจะลดลงเหลือเพียง 20% จากราคาเดิมทันที

ทำให้ต้องมาลุ้นกันว่า ภายในสิ้นปีนี้ สินค้าคงเหลือของสหวิริยาในครึ่งปีแรก ที่มีอยู่มากขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2538 คือ จำนวน 914 ล้านบาท จะสามารถล้างออกไปได้หมด สต็อกก็จะถูกหักค่าเสื่อมราคาหรือไม่

แจ็ค อธิบายปัญหาเรื่องงบดุลและงบกำไรขาดทุนว่า "เรื่องดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม แม้แต่ธนาคารยังเจอ แต่เราเป็นลูกค้าชั้นดี ไม่มีปัญหา จุดที่มี คือ เรื่องสินค้าคงเหลือกับรายการลูกหนี้ค้างรับ ซึ่งตรงนี้เราไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ แต่เชื่อว่าไตรมาส 3 จะฟื้นตัวและไตรมาส 4 จะกลับคืนสู่ปกติ"

นอกจากนี้ เราเชื่อว่าปัญหาเรื่องลูกหนี้ค้างรับไม่ใช่เกิดกับเขาเพียงรายเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกิดทั้งอุตสาหกรรมและทุกอุตสาหกรรม "ณ วันนี้ ปัญหาที่ใหญ่ทีสุด คือ การเรียกเก็บเงิน ทุกคนจ่ายเงินช้ากว่ากำหนดทั้งนั้น"

"ผมมีวิธีการแก้ปัญหาหลายแบบ เช่น สินค้าคงเหลือจะไปอยู่ที่ดีลเลอร์ หรือเอนยูสเซอร์บ้าง ไม่ใช่ที่เราทั้งหมด เราต้องหาวิธีบริหาร พยายามให้มี fast moving มีกิจกรรมที่จะระบายของออกไปหรือสร้างโอกาสให้คนต้องการซื้อ นอกจากนี้ ที่อาจช่วยได้อีกก็คือ เราพยายามที่จะขอซัพพลายเออร์เครดิต และเราพยายามที่จะขายลดราคาเมื่อชำระด้วยเงินสด (cash discount)" แจ็คเผยไต๋เทคนิคบริหารซึ่งเป็นการตอบโต้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากและเป็นการกล้าสู้ปัญหาด้วย

ด้านดอกเบี้ยจ่าย เขาเชื่อว่า เขาสามารถคุมอยู่ และทิศทางรวมของเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นได้ "ถ้าเลวร้ายมากกว่านี้ ผมคิดว่าเราจะเกิดพฤษภาทมิฬอีกครั้งก็ได้ !" แจ็ค กล่าว

ต่อประเด็นเรื่องการลงทุนในส่วนโทรคมนาคมซึ่งยังไม่ได้สร้างรายได้เข้ามานั้น แจ็คให้เหตุผลว่าเขาได้บอกไว้ชัดเจนแต่แรกว่าการลงทุนนี้ต้องมีผลการขาดทุนในช่วงแรกนาน 2-3 ปีได้ ทั้งนี้เขาเพิ่งเริ่มธุรกิจด้านนี้แค่ปีถึงปีครึ่งเท่านั้น

ขณะที่ธุรกิจหลักนั้น เขายังมองว่าผลการดำเนินงานยังอยู่ในทิศทางที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ ด้านไอที เทอร์มินัล คาดว่าจะโต 40% แต่ปีนี้อาจจะได้แค่ 25-30% เท่านั้น เมื่อถึงสิ้นปี ซึ่งอัตราการเติบโตที่ลดลงนี้ก็จะมีผลต่อรายได้เมื่อสิ้นปีแน่

แต่ในส่วนของเอสไอนั้น เป็นธุรกิจที่ทำได้ดีมาก แจ็คคาดหมายว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า 10% จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ จะโตถึง 30% -35% จากที่เคยคาดว่าจะโตแค่ 20% - 25%

ดังนั้น เมื่อถึงสิ้นปีจึงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้และจนถึงปี ค.ศ.2000 สหวิริยา โอเอ ต้องเติบโตปีละ 30% ทุกปี ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ระหว่าง 20% - 30%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.