ศึกลิสซิ่งรถยนต์ระอุสารพันเงื่อนไขดันยอดขายทะลุเป้า


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

-บริษัทรถยนต์แห่งเปิดลิสซิ่งของตนเอง หวังใช้เป็นอาวุธหลักถล่มคู่แข่งช่วงยอดขายขาลง
-โตโยต้า เปิดลิสซิ่งกดดาวน์ลงเหลือ 5% ส่วนนิสสันไปตกสุดท้ายเปิดลิสซิ่งสู้ พร้อมใช้ระบบไอทีเพิ่มความรวดเร็ว

การเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคในประเทศไทยจะว่าไปแล้วก็มีอยู่มากมาย หลายประการ แต่หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของรูปร่างรูปทรง รถรุ่นไหนออกแบบได้เข้าตาก็มีวี่แววว่าจะขายได้ดีในตลาด เช่นที่ฮอนด้าแจ๊ส ประสบความสำเร็จในไทยนั้นฮอนด้ายอมรับว่าส่วนสำคัญที่สุดคือรูปทรง และการออกแบบที่ทำให้เป็นรถที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนไทย หรือเรื่องของสมรรถนะเครื่องยนต์ ซึ่งเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปิกอัพ วีโก้ของโตโยต้าสามารถสร้างยอดขายไล่กวดดีแมคซ์ ของอีซูซุได้อย่างมาก

อย่างไรก็ดี แม้รูปทรงที่โดดเด่น หรือสมรรถนะสูงๆ ของเครื่องยนต์ ก็อาจต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งในการช่วยผลักดันยอดขาย นั่นคือระบบลิสซิ่ง หรือการเช่าซื้อรถยนต์ รถยนต์เชฟเรเลตของค่าย เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย หรือ จีเอ็ม เป็นผู้ที่สำแดงศักยภาพของระบบลิสซิ่งให้เห็นจากการปั้นยอดขายที่ทำให้รถยนต์แบรนด์เชฟโรเลตสามารถก้าวข้ามค่ายรถหลายๆ ค่ายขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 ของยอดขายรถยนต์ไทยได้

ความสำเร็จของเชฟโรเลตน่าจะเป็นต้นแบบของการต่อสู้ด้วยเงื่อนไขการเช่าซื้อรถยนต์ที่มีรูปแบบใหม่ เช่น การดาวน์ต่ำ จนถึงออกรถโดยไม่ต้องดาวน์ หรือที่ใช้ชื่อกันว่า ดาวน์ 0% นั่นเอง ขณะที่รูปแบบ และลูกเล่นการตลาดด้านลิสซิ่งของเชฟโรเลตมีการเปลี่ยนรูปแบอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการลิสซิ่งที่เรียกว่าโปรแกรมบอลลูนเปย์เมนท์ คือการให้ลูกค้าสามารถกำหนดงวดผ่อนชำระได้เอง แต่จะมีเพดานขั้นต่ำกำหนดไว้ และเมื่อถึงงวดชำระสุดท้ายก็จะเปิดโอกาสให้ลูกค้านำยอดที่เหลือมาจัดผ่อนได้อีก ในกรณีที่ลูกค้าไม่ต้องการชำระเป็นก้อนงวดสุดท้าย ทำให้ลิสซิ่งถือเป็นถือเป็นอาวุธสำคัญของเชฟโรเลตในเวลานี้

แม้กระทั่งค่ายใหญ่อย่างโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ต้องทุ่มงบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้กับการตั้งบริษัทลิสซิ่งของตนเองในนาม โตโยต้าลิสซิ่ง แหล่งข่าวจากโตโยต้าระบุว่า การที่รถปิกอัพ ไฮลักษณ์วีโก้ สามารถสร้างยอดขายขึ้นมากดดันอีซูซุ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดปิกอัพในไทยมากกว่า 20 ปีนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากรุกตลาดผ่านโตดยต้าลิสซิ่ง โดยโตโยต้าสามารถสร้างเงื่อนไขให้ผู้บริโภคสามารถซื้อรถผ่านระบบลิสซิ่งได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้เงินดาวน์ขั้นต่ำ 15% เหลือเพียง 5% หรือแม้กระทั่งแคมเปญล่าสุดที่ใช้กับโตโยต้า ยาริส ด้วยการดาวน์ 0% ก็เป็นผลมาจากการมีลิสซิ่งของตนเอง

ไม่เฉพาะเงื่อนไขการดาวน์ต่ำ หรือดาวน์ 0% เท่านั้น แต่การมีลิสซิ่งของตนเองยังช่วยให้สามารถลดภาระการเช่าซื้อให้กับลูกค้าด้วยการให้ดอกเบี้ยที่ต่ำ และการผ่อนชำระที่ยาวนานขึ้น บางค่ายให้ลูกค้าผ่อนชำระกันนานถึง 72 เดือน

สำหรับค่ายนิสสัน ของสยามนิสสัน ออโตโมบิล นั้น แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีลิสซิ่งของตนเอง แต่การที่สามารถรักษาฐานลูกค้า หรือปริมาณยอดขายไว้ได้ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะความเข้มแข็งของดีลเลอร์ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด บางแห่งใช้งบประมาณของตนเองในการทำระบบลิสซิ่ง บางแห่งให้ลูกค้าผ่อนรถด้วยระบบรายวัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการที่นิสสันตัดสินใจ เปิดบริษัท นิสสัน ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) ก็น่าจะเป็นอาวุธทางการตลาดที่จะทำให้แผนการขยายตลาดของนิสสันใน 2-3 ปีข้างหน้าสดใสมากขึ้น ด้วยทุนจะทะเบียน 300 ล้านบาท และการให้บริการสินเชื่อผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (IS Application) มาใช้เป็นรายแรกในประเทศไทย นิสสันตค่อนข้างมั่นใจว่าจะเป็นตัวกระตุ้นยอดขายในส่วนหนึ่ง และน่าจะทำให้บรรดาดีลเลอร์ที่มีอยู่ทำตลาดได้อย่างสะดวก สบายขึ้น

กมลเดช บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิสสัน ลีสซิ่ง บอกว่า ได้ทำข้อตกลงกับเครือข่ายบริษัทประกันภัยรถยนต์ชั้นนำ ในการรับทำประกันภัยรถยนต์ของลูกค้าที่ใช้บริการเช่าซื้อด้วย ปัจจุบัน นิสสัน ลีสซิ่ง มีเครือข่ายกับบริษัทประกันภัยหลายบริษัท ได้แก่ นวกิจประกันภัย สินมั่นคงประกันภัย วิริยะประกันภัย นิวแฮมป์เชอร์ประกันภัย ประกันภัยคุ้มภัย และมิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ นอกจากนี้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และลดภาระในการชำระค่างวดรายเดือน ลูกค้าสินเชื่อของ นิสสัน ลีสซิ่ง สามารถชำระค่างวด โดยหักผ่านบัญชีธนาคาร หรือชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารนครหลวงไทย หรือสามารถชำระค่างวดโดยสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าให้แก่ นิสสัน ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)

ในปี 2549 นิสสัน ลีสซิ่ง คาดว่าจะมียอดลูกหนี้เช่าซื้อประมาณ 5,450 สัญญาหรือคิดเป็น 10% จากยอดขายรถนิสสันทั้งหมดในประเทศไทย และภายหลังจากที่ นิสสัน ลีสซิ่ง สามารถวางระบบการให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปลายปี 2549 นี้แล้ว คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 คาดการณ์ว่าจะมียอดลูกหนี้เช่าซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 24% ของยอดขาย และจะเพิ่มขึ้นเป็น 35% ในปีถัดไป

ทั้งนี้ทิศทางและแนวโน้มการปั้นยอดขาย ผ่านระบบลิสซิ่งของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เอง มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงรูปแบบที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก โดยเฉพาะในสภาวะของตลาดที่การขยายตัวลดลงเช่นนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.