อาถรรพ์ 20 ปี บัส ซาวนด์ ยังร่อแร่ อาร์.เอ็น.ที. ดึง เอฟเอ็มวัน กู้คลื่น 500 ล้าน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

อาถรรพ์บัสซาวนด์ รอปลุกชีพ 20 ปี ยังส่อแววเข็นไม่ขึ้น แม้อาร์.เอ็น.ที.ฯ จะได้เอฟเอ็มวัน มาเสียบแทน บัซ เอฟเอ็ม ที่จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ถอดใจยุบคลื่นหนีเศรษฐกิจ ได้ทันการณ์ไม่ผิดสัญญา แต่เงื่อนไขค่าตอบแทนของสัมปทาน 20 ปี ที่ต้องจ่ายให้ ขสมก. กว่า 500 ล้านบาท ยังคงเป็นปริศนาว่า บัสซาวนด์ จะยังคงเป็นสื่อที่มองไม่เห็นอนาคตต่อไปหรือไม่

เมื่อครั้ง อาร์.ที.เอ็น.เทเลวิชั่น ที่มี พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นสัญญากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เพื่อจัดทำรายวิทยุบนรถเมล์(Bus Sound) กว่า 9 พันคัน ตลอดอายุสัญญา 20 ปี โดย ขสมก.จะได้รับเงินตอบแทนรายได้เป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท นั้น อาร์.ที.เอ็น.ฯ ได้จับมือส่งงานใหญ่นี้ให้กับเจ้าแม่วงการวิทยุไทย สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา เป็นผู้ดำเนินการ โดยที่ผ่านมาไม่มีการชี้แจงถึงรายละเอียดของการแบ่งรายได้ที่อาร์.ที.เอ็น.ฯ จะได้รับเพื่อจ่ายค่าสัมปทานก้อนใหญ่ให้กับ ขสมก. และเหลือกำรี้กำไรเลี้ยงทั้งอาร์.ที.เอ็น.ฯ และจีเอ็มเอ็ม มีเดีย อยู่ได้ว่ามีรายละเอียดอย่างไร

หากแต่สิ่งหนึ่งที่พอจะเห็นได้ว่า โครงการวิทยุบนรถเมล์ต้องสร้างรายได้อย่างมหาศาล ที่จะพอเพียงต่อการสร้างความพึงพอใจให้กับทั้ง 3 กลุ่มได้ คือการตั้งราคาค่าโฆษณาที่สูงกว่า 4 เท่าตัว จากสปอต 30 วินาที ของคลื่น 88 พีค เอฟเอ็ม เดิม ราคา 4,000 บาท มาเป็น 18,000 บาท เมื่อแปลงคลื่นมาเป็น บัซ เอฟเอ็ม และออกอากาศผ่านรถเมล์เพิ่มอีกช่องทาง ซึ่งด้วยศักยภาพของจีเอ็มเอ็ม มีเดีย หรือในชื่อเอไทม์ มีเดีย เดิม ในสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นปกติ ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง

แต่ผ่านไปเพียง 2 เดือน เสียงตามสายบนรถเมล์กลับเปลี่ยนจาก บัซ เอฟเอ็ม กลายเป็น เอฟเอ็ม วัน สถานีวิทยุคู่แข่งทางธุรกิจรายสำคัญ

สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องยุติการผลิตรายการป้อนให้กับวิทยุบนรถเมล์ในชื่อ Buzz FM ว่า ปัญหาอยู่ที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนสื่อวิทยุ เจ้าของสินค้ามีการตัดลดงบโฆษณาลงไปมาก ซึ่ง Buzz FM ที่เพิ่งจะเปิดตัว ยังไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าของสินค้ามากนัก เมื่อต้องมาประสบกับปัญหาแผนงานในการติดตั้งเครื่องรับสัญญาณบนรถเมล์ ของบริษัท อาร์.เอ็น.ที เทเลวิชั่น จำกัด ไม่ครบถ้วนตามสัญญา อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาคลื่นแทรกซ้อน รวมถึงปัญหาเทคนิคต่าง ๆ ได้ จึงได้ยกเลิกการผลิตคลื่น Buzz FM ผ่านทางรถเมล์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะมีการคืนคลื่น 88 FM ให้กับกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ด้วย

วิโรจน์ นีละโยธิน หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ทางผู้บริหารขสมก. ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่า บริษัท อาร์.เอ็น.ที. เทเลวิชั่น จำกัด(มหาชน) ทำผิดเงื่อนไขสัญญาสัมปทานหรือไม่ ในการเปลี่ยนผู้ผลิตรายการของวิทยุบนรถโดยสารประจำทาง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานใด ๆ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วิทยุบนรถเมล์เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากทั้งผู้โดยสาร และพนักงานของ ขสมก. เป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนของบริษัทผู้จัดรายการรายใหม่ ขณะนี้ก็ยังคงให้ดำเนินรายการในรูปแบบเดิมต่อไป

ม.ล.ภาริพงศ์ ทองใหญ่ กรรมการบริหาร บริษัท เรดิโอ อาร์ม จำกัด ผู้บริหารคลื่น เอฟเอ็มวัน กล่าวว่า คงไม่ใช่เป็นการแย่งสัมปทานใครมา เพราะกรณีนี้ อาร์.เอ็น.ที.เทเลวิชั่น ซึ่งทำธุรกิจคุ้นเคยกับเรดิโอ อาร์ม เป็นผู้มาเสนอภายหลังจากจีเอ็มเอ็ม มีเดีย ตัดสินใจยกเลิกการผลิตคลื่นบัซ เอฟเอ็ม ด้วยเหตุผลที่เป็นข่าวออกมา ซึ่งปัญหาที่กล่าวถึงการติดตั้งเครื่องรับสัญญาณบนรถเมล์ไม่ครบถ้วน รวมถึงปัญหาทางเทคนิคของเครื่องรับ ตนก็เห็นเช่นกับทางจีเอ็มเอ็ม มีเดีย แต่ก็เห็นว่าทางอาร์.เอ็น.ที.ฯ ได้พยายามแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ

"ผมถามปัญหาเหล่านี้กับทางอาร์.เอ็น.ที.ฯ เหมือนที่หลายคนสงสัย เครื่องรับยังสามารถจูนไปหาคลื่นอื่นได้หรือไม่ ทำไมเสียงถึงดังเกินไป หรือเบาเกินไป และคนขับรถจะเปิดฟังหรือไม่ เหล่านี้ ได้รับคำตอบจากอาร์.เอ็น.ทีฯ ว่าจะดำเนินการแก้ไขให้ดีขึ้น จนขณะนี้เครื่องที่ติดตั้งอยู่บนรถเมล์ส่วนใหญ่ล็อคไว้ที่ 103.5 MHz คลื่นเดียว ปุ่มเสียงก็ถูกล็อกให้อยู่ในระดับพอดี ไม่เป็นการรบกวนผู้โดยสาร ส่วนปัญหาคลื่นแทรก คงเป็นเฉพาะรถเมล์ที่วิ่งย่านชานเมือง และถูกคลื่นวิทยุชุมชนรบกวน ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาที่เราทุกคนในวงการวิทยุต้องช่วยกันแก้ไขมากกว่า เพราะปัจจุบันวิทยุชุมชนออกอากาศกันได้ง่าย ๆ ไม่ใช่ปัญหาที่จะไปโยนให้อาร์.เอ็น.ที."

ม.ล.ภาริพงศ์ กล่าวว่า การตกลงนำเอฟเอ็มวันเชื่อมต่อกับวิทยุรถเมล์ นอกจากเป็นการขยายกลุ่มผู้ฟังแล้ว ในแง่การสร้างมูลค่าให้กับช่วงเวลา ก็จะสามารถสร้างเวลาไพร์มไทม์ให้กับรายการได้มากขึ้น จากเดิมที่อยู่บนวิทยุไพร์มไทม์ จะเป็นช่วง 08.00 - 10.00 น. และ 15.00 - 19.00 น. ก็จะสามารถขยายเป็นไพร์มไทม์ได้ตลอดทั้งวัน เช่นช่วงที่นักเรียน นักศึกษา ไปโรงเรียน และกลับโรงเรียน ช่วงเดินทางไปทำงาน และเดินทางกลับ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเวลาโฆษณาได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของรูปแบบรายการจะไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ เหมือนกับที่จีเอ็มเอ็มมีเดีย เคยเปลี่ยนจากพีคเอฟเอ็ม มาเป็นบัซเอฟเอ็ม เพราะมั่นใจว่า กลุ่มผู้ฟังของเอฟเอ็มวัน ที่เปิดเพลง Easy listening ก็เป็นเพลงที่คนส่วนใหญ่สามารถฟังได้ แต่จะมีการเพิ่มในส่วนการจัดกิจกรรมที่จะเล่นกับผู้ฟังบนรถเมล์ 10 ช่วงต่อวัน เพื่อแจกทุนการศึกษา หรือโหวตพนักงานดีเด่น และต่อไปทางครีเอทีฟของเอฟเอ็มวัน ก็คงต้องคิดกิจกรรมที่จะร่วมสนุกกับผู้ฟังบนรถเมล์ออกมาเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ ในส่วนของการขายเวลาโฆษณา แม้ทาง ขสมก. และอาร์.เอ็น.ที. จะคาดการณ์ว่า ผู้ฟังบนรถเมล์มีอยู่ราว 5 ล้านคน ซึ่งหมายความถึงกลุ่มเป้าหมายของการซื้อโฆษณาของเอฟเอ็มวัน ที่เคยมีอยู่ราว 6 - 7 แสนคน จะขยายขึ้นอย่างมโหฬาร แต่บริษัทฯ จะไม่มีการปรับราคาโฆษณาที่อยู่ในหลักพัน ขึ้นเป็นหลักหมื่นบาทเหมือนบริษัทอื่น หากแต่การปรับราคาโฆษณาของบริษัทจะเกิดขึ้นจากการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรายการหรือการออกอากาศให้ดีขึ้นมากกว่า ส่วนการนำเอฟเอ็มวัน ไปออกอากาศทางรถเมล์ ไม่ได้ลงทุนอะไรมากนัก

สำหรับผลตอบแทนที่จะมอบให้กับอาร์.เอ็น.ที.ฯ คู่สัญญานั้น จะเป็นในรูปแบบแบ่งรายได้จากค่าโฆษณา ไม่มีการการันตีว่าต้องจ่ายมากแค่ไหน รายได้มากก็แบ่งได้มาก รายได้น้อยก็แบ่งได้น้อย ส่วนอาร์.เอ็น.ที.ฯ จะต้องจ่ายเป็นค่าสัมปทานให้กับ ขสมก. เป็นจำนวนเท่าไรนั้น ตนไม่ทราบ โดยปัจจุบันเวลาโฆษณาของเอฟเอ็นวัน ก็สามารถขายได้อยู่ในระดับ 70% ของเวลาทั้งหมด ซึ่งก็ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ เพราะ30% ที่เหลือ เป็นเวลาช่วงดึก ที่ปกติไม่ค่อยมีโฆษณาอยู่แล้ว

แหล่งข่าวในวงการวิทยุ กล่าวว่า แม้อาร์.เอ็น.ที. เทเลวิชั่น จะสามารถดึงเอฟเอ็มวัน เข้ามาเสียบแทนบัซ เอฟเอ็มได้ทันเวลา โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทาน หากแต่ผลตอบแทนที่เอฟเอ็มวัน จะแบ่งจากค่าโฆษณาให้กับอาร์.เอ็น.ที.ฯ นั้น ถ้ายึดตามหลักเกณฑ์เดียวกัน คือ มีรายได้เท่าไหร่ แบ่งเท่านั้น หมายความว่า หากเรดิโอ อาร์ม ขายโฆษณาได้ในระดับเดียวกับที่จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ขายได้ อาร์.เอ็น.ที จะมีรายได้ลดลงกว่า 4-5 เท่าตัว ทำให้น่าเป็นห่วงว่าสัญญาผลตอบแทนสัมปทาน ที่ผู้บริหารของ ขสมก.เคยให้ข่าวว่า มีมูลค่า 500 ล้านบาท นั้น จะไม่คุ้มกับการลงทุน ส่งผลให้บัสซาวนด์แจ้งเกิดไม่ได้อีกต่อไป

ย้อนอดีตบัสซาวนด์

วิทยุบนรถเมล์ หรือบัสซาวนด์ เกิดขึ้นครั้งแรก ราวปี 2528 ในสมัยที่นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยบริษัทผู้รับสัมปทานในขณะนั้น คือกลุ่มบริษัทสื่อสารหน้าใหม่นาม ชินวัตร ใช้ชื่อในการบริหารงานว่า บริษัท ซิสเต็ม เน็ตเวิร์ค จำกัด นับเป็นการทำธุรกิจสร้างรายได้จากคลื่นความถี่ธุรกิจแรก ๆ ของกลุ่มบริษัทชินวัตรในทุกวันนี้ แต่ด้วยระบบการส่งสัญญาณในขณะนั้น ไม่มีสถานีวิทยุหลักรองรับ ต้องส่งโดยการแทรกเป็นช่วง ๆ อยู่ในคลื่นที่ได้รับสัมปทาน ออกอากาศในระบบอะนาล็อก ทำให้คุณภาพการส่งสัญญาณไม่ชัดเจน มีคลื่นแทรก ประกอบกับเครื่องรับที่ติดอยู่บนรถประจำทางก็เป็นเครื่องระบบเปิดที่สามารถจูนหาคลื่นอื่นได้ อีกทั้งเป็นสื่อใหม่เอี่ยมที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย หาโฆษณายากลำบาก ส่งผลให้ชินวัตร ต้องปิดฉากธุรกิจวิทยุจนถึงทุกวันนี้

ผ่านมา 2 ทศวรรษ กลางปี 2548 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยนายปกศักดิ์ เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการในเวลานั้น มีโครงการที่จะสร้างรายได้จากการโฆษณาให้กับ ขสมก. โดยวิทยุบนรถเมล์ก็เป็นโครงการหนึ่งที่ถูกรื้อกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง นอกเหนือจากรายได้ค่าสัมปทานที่จะได้รับในฐานะสื่อชั้นดีที่มีกลุ่มเป้าหมายมากถึงกว่า 5 ล้านคน วิทยุบนรถเมล์ยังจะเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะสร้างภาพพจน์ ความเข้าใจระหว่าง ขสมก. กับประชาชนผู้ใช้บริการ ที่ดูจะมีปัญหามาโดยตลอด ทั้งจากมารยาทของพนักงาน และปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.