|
ไทย VS สิงคโปร์ ศึกชิงเจ้าความงามแห่งเอเชีย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
*การสร้างแบรนด์ของธุรกิจความงามในแถบเอเชียที่มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว…
*ในอดีต...สิงคโปร์ถือว่าเป็นจ้าวตลาดความงาม
*แต่วันนี้...ไทยสามารถก้าวขึ้นแท่นผู้นำเบอร์หนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
*การที่จะรักษาแชมป์ให้อยู่ในมือจึงเป็นเดิมพันทางธุรกิจที่สำคัญ
*หวังผลักดันให้เป็นเมดิคัลฮับแห่งเอเชีย...
10 ปีที่แล้วศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ในแถบเอเชียอยู่ที่ สิงคโปร์ แต่ปัจจุบันพฤติกรรมชาวต่างชาติจากเดิมที่เข้าไปใช้บริการในประเทศสิงคโปร์เริ่มเปลี่ยนไป จนทำให้ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาใช้บริการด้านความงามในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้น่าจะมาจากปัจจัยรอบด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าหรือการให้บริการที่ไม่เหมือนใครของคนไทยบวกกับฝีมือของแพทย์ไทยที่ถูกยอมรับไปทั่วโลกเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพมาตรฐานพอที่ชาวต่างชาติจะไม่ลังเลในการตัดสินใจ
หลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มรู้ตัวว่ากำลังสูญเสียตลาดความงามให้กับไทยนั้น มีการปรับตัวเพื่อหวังช่วงชิงตลาดกลับคืนทันที ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่ดูแลเกี่ยวกับการส่งเสริมธุรกิจด้านความงามขึ้นมาลงสนามแข่งขันสู้กับประเทศไทย เม็ดเงินจำนวนมหาศาลถูกนำมาใช้ด้านการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้ทีมแพทย์เดินทางไปดูงานต่างประเทศ จนกระทั่งล่าสุดกรณีที่นำคู่แฝดชาวอิหร่านศรีษะติดกันไปผ่าตัดถึงประเทศสิงคโปร์โดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เพียงเพื่อโปรโมทศักยภาพของทีมแพทย์และเครื่องมืออันทันสมัย แต่ผลสุดท้ายความฝันก็ดับลง
ระยะเวลากว่า 5 ปีที่รัฐบาลสิงคโปร์กัดฟันต่อสู้กับประเทศไทยเรื่องธุรกิจความงาม หลังจากนั้นก็มีการประเมินงานซึ่งผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามเป้าและต้องปิดฉากหน่วยงานดังกล่าวลงในที่สุด
แม้ว่าเครื่องมือเทคโนโลยีของสิงคโปร์จะมีมาตรฐานสูสีกับไทย...อีกทั้งทีมแพทย์เองฝีมือก็อยู่ในระดับต้นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่สิงคโปร์ยอมแพ้คือ การให้บริการที่ไม่เหมือนใครของคนไทย นั่นเอง และถ้าหากสิงคโปร์จะกลับมาสู้เรื่องการให้บริการจะต้องใช้เวลาถึง 20 ปีทีเดียว เพราะโดยพื้นฐานแล้วการปลูกฝังเรื่องบริการต้องเริ่มจากเด็ก ดังนั้นเหตุผลนี้เองที่ทำให้สิงคโปร์ยอมยกธงขาวให้กับไทย
แผนการที่ถูกวางไว้เพื่อที่จะลงสนามสู้ศึกกับไทยในธุรกิจความงามจึงถูกพับไว้ก่อน...แต่สิงคโปร์กลับไปลงทุนเรื่องของการเทคโอเวอร์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันแทน...ซึ่งเห็นได้จากการเข้าซื้อหุ้นของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์หวังต่อยอดธุรกิจให้แข็งแรงเพื่อผลักดันให้ตัวเองเป็น เมดิคัล ฮับ แห่งเอเชีย
ปรับธุรกิจรับกระแส
ธุรกิจสวยๆงามๆของไทยมีเป้าหมายไปที่คนไทยที่ร่ำรวย ชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยว และเดิมทีอุตสาหกรรมความงามเครื่องมือแพทย์ถูกนำมาใช้น้อยมาก...ลองจินตนาการไปสัก 4-5 ปีที่ผ่านมากลุ่มที่ใช้จะจำกัดอยู่ในวงแคบโดยเฉพาะกลุ่มของเมดิคัล...ซึ่งต่อมาระยะหลังๆแนวโน้มของเทคโนโลยีเปลี่ยนไปรวมทั้งแพทย์เองก็กระโดดเข้ามาในธุรกิจความงามกันมากขึ้น สังเกตได้ว่าในช่วงแรกแพทย์ผิวหนังจะเข้ามาก่อน โดยเฉพาะการรักษาสิว
ขณะที่กลุ่มตลาดความงามทั้งคนไทยและต่างชาติกับให้ความนิยมเพิ่มขึ้นและดูถ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ...สังเกตได้จากเมื่อสิวหายก็อยากให้ผิวพันธุ์ดูดีเรียบสวย จึงมีการต่อยอดธุรกิจเกิดขึ้นสิ่งนี้เองทำให้แพทย์ผิวหนังเห็นโอกาสช่องทางธุรกิจจึงกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ ขณะเดียวกันแพทย์กลุ่มที่สองที่ทำเกี่ยวข้องกับศัลยกรรมตกแต่งก็ตามเข้ามาจนเกิดศูนย์ความงามแบบครบวงจรขึ้นในปัจจุบัน
คนเริ่มรู้คุ้นเคยกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ 2.ราคาค่าใช้จ่ายถูกลงและแน่นอนถูกกว่าในต่างประเทศ กอปรกับเมื่อมีธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหยิบนำมาใช้เป็นจุดขายด้วยการออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคกล้าพอที่จะออกมาใช้บริการสอดคล้องกับสโลแกน “สวยด้วยแพทย์”เป็นการันตีถึงความปลอดภัยของ รพ.ยันฮี จึงทำให้เป็นแบรนด์ที่รู้จักคุ้นหน้าคุ้นตาของกลุ่มลูกค้า
อาณิสงส์ตกที่เครื่องมือแพทย์
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนทำให้ตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกลุ่มผู้ประกอบการขายเครื่องมือแพทย์จึงไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดไป.....
“ธุรกิจของคนอื่นผมไม่ทราบแต่ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 46-48 ธุรกิจของบริษัทตัวเลขยอดขายเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์นั้นโตเกือบเท่าตัวทุกปี”อนุวัตร เลิศพิทักษ์สุนทร กรรมการผู้จัดการ ฟิลเทค เอ็นเตอรืไพรส์(1994) จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องมือแพทย์บอกกับผู้จัดการรายสัปดาห์
ขณะเดียวกันเมื่อผู้บริโภคยอมรับและเชื่อมั่นว่าเทคนิคต่างๆปลอดภัยรวมทั้งค่าใช้จ่ายถูกลง...การเข้าทำตลาดของธุรกิจความงามดูง่ายขึ้น จึงไม่แปลกที่จะทำให้ธุรกิจความสวยความงามที่ผ่านมาเป็นธุรกิจบูมมาโดยตลอด
“ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงที่พีคมากสำหรับธุรกิจทางด้านนี้ถ้าเกี่ยวข้องกับแพทย์นะ”อนุวัตร ออกปากยืนยัน
หากแยกตลาดความสวยความงามด้วยเครื่องมือแพทยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ 1.ส่วนที่เป็นบุคคลากรแพทย์ 2.ส่วนที่เป็นสปา และ 3.ส่วนที่เป็นร้านเสริมสวยบางแห่ง...
อย่างไรก็ตามยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านความงาม แต่ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ยังเจาะตลาดเข้าไปไม่ได้เท่าที่ควรคือตลาดทำรูปร่างให้สวยงาม จนทำให้มีหลายบริษัทเปิดตัวธุรกิจประเภทนี้ออกมาแข่งขันกันอย่างจริงจังที่เห็นๆก็คือ บอดี้เชฟ กับ เมอรี่ฟร๊าน สองยักษ์ใหญ่ที่ออกแคมเปญมาฟาดฟันกันเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาและจนทำให้มีการคาดการณ์กันว่าตลาดธุรกิจความงามโดยเฉพาะทำรูปร่างสวยมีเม็ดเงินสะพัดมูลค่ากว่า 4-5 พันล้านบาท
“ถ้าเป็นเรื่องสวยๆงามๆ งบประมาณบอกได้เลยว่าไม่จำกัด” นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดธุรกิจความงามเติบโตและบูมสุดๆ บวกกับฝีมือของแพทย์ที่ทำแล้วได้ผลจริง แถมพ่วงด้วยการให้บริการที่แสนจะประทับใจลูกค้า...ส่งผลให้ธุรกิจความงามของไทยที่จากเดิมเป็นเพียงแค่ลูกค้าขาจรเข้าไปใช้บริการและแปรเปลี่ยนไปเป็นลูกค้าประจำในที่สุด...
กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้กับธุรกิจความงามในปัจจุบันนอกจากรูปแบบที่ทำให้สวยขึ้นแล้วคงจะไม่เพียงพอ เพราะถ้าสวยแล้วต้องให้สวยนานที่สุด ทำให้กลุ่มลูกค้าประเภทนี้จึงต้องกลับมาใช้บริการอยู่ตลอดและต่อเนื่อง
สถานบริการเร่งปรับตัว
การเข้ามาใช้บริการความงามของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยจนทำให้ตลาดมีความต้องการในอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง แน่นอนศักยภาพของการรองรับตลาดกลุ่มนี้ต้องเกิดขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลคือหนึ่งในธุรกิจความงามที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับตลาดส่วนนี้เป็นพิเศษ
ภาพการปรับโฉมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจึงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างล่ามหลายภาษาเข้ามาประจำอยู่ในโรงพยาบาล หรือการให้บริการต่อวีซ่ากันถึงภายในโรงพยาบาลเอง และก็มีบางแห่งถึงกับสร้างคอนโดมิเนียมเพื่อไว้บริการญาติผู้ป่วย นอกจากนี้ป้ายประชาสัมพันธ์ภายในโรงพยาบาลบางแห่งยังมีหลากหลายภาษาเพื่อความสะดวกต่อลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นภาษา ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ และไทย
ความเคลื่อนไหวที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นและสามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กล้าพอจะตัดสินใจเข้ามาใช้บริการทันที และสามอันดับแรกของนักท่องเที่ยวชาวต่างชิติที่เข้ามาใช้บริการคือ 1.ตะวันออกกลาง 2.ยุโรป แถบสแกนดิเนเวียและ 3. สหรัฐอเมริกา
ด้วยศักยภาพความพร้อมด้านเครื่องมือการแพทย์ บวกกับฝีมือของแพทย์ไทยที่มีชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลกทั้งสองปัจจัยไม่อาจทำให้สิงคโปร์กระเทือนได้ ยกเว้นเรื่องของหัวใจด้านบริการที่สิงคโปร์ไม่มี และถ้าปัจจัยทั้งหมดถูกนำมารวมกันเพื่อบริหารจัดการในธุรกิจความงามจึงทำให้ไทยสามารถขึ้นมาผงาดเป็นจ้าวตลาดได้โดยไม่ยากนัก
ปัจจุบันในแถบภูมิภาคเอเชียประเทศไทยคือเบอร์หนึ่งในด้านผู้นำเรื่องของธุรกิจความงามไปแล้ว ขณะเดียวกันการเป็นผู้นำทางธุรกิจคือเดิมพันที่ประเทศไทยต้องรักษาไว้ให้นานที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเมดิคัลฮับแห่งเอเชีย และแม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะยอมถอยในส่วนของธุรกิจความงาม แต่ก็ยังมีประเทศเวียดนามที่คาดว่าเป็นประเทศหนึ่งที่จะก้าวขึ้นมาลงสนามแข่งขันกับประเทศไทย นอกจากปัจจัยที่เหมือนกันแล้วโดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่ายที่มีราคาถูก และหากเวียดนามมีการพัฒนาด้านศักยภาพด้านการแพทย์รวมทั้งเครื่องมือให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นมาเมื่อไร....วันนี้น่าจะเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวไม่น้อย
.........................................
สวยด้วยเครื่องมือแพทย์...ธุรกิจผูกขาดความงาม
ด้วยข้อจำกัดการทำตลาดของธุรกิจความงาม ที่มีตัวบทกฎหมายข้อบังคับห้ามโฆษณาชวนเชื่อ จึงทำให้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์อยู่ในกรอบเฉพาะกลุ่มเท่านั้น การปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสอดคล้องกันจึงต้องเกิดขึ้น แน่นอนกลยุทธ์ในการทำตลาดจึงไม่ง่ายนักและที่แน่ๆเครื่องมือแพทย์ต้องเจ๋งจริงๆ หากต้องพึ่งพาองค์กรนั้นๆ ด้วยการออกเป็นโบว์ชัวร์ หรือโปสเตอร์ติดภายในองค์กร เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ทราบถึงข้อมูลว่ามีเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สถานบริการเหล่านั้นต้องทำขึ้นเอง และในทางกลับกันผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์เองต้องป้อนข้อมูลใหม่ๆให้กับสถาบันที่เป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน
ขณะที่ผู้ประกอบการขายเครื่องมือแพทย์เองก็ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจนเพราะกลุ่มลูกค้านั้นเป็นแพทย์ ดังนั้นกรรมวิธีที่ถูกหยิบมาใช้ในการทำตลาดคือ พนักงานขายที่ต้องคอยส่งข้อมูลต่างๆให้กับลูกค้าตลอดเวลา แต่จะใช้พนักงานขายอย่างเดียวก็คงไม่ได้สำหรับธุรกิจนี้ การเพิ่มผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อตอบสนองกระบวนการบริการหลังการขายนั่นเอง
“การไปหาลูกค้าจึงต้องมีคนของบริษัทเข้าไปถึงสองกลุ่มกลุ่มหนึ่งคือพนักงานขาย ส่วนอีกกลุ่มคือผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ซึ่งทั้งสองกลุ่มต้องทำงานร่วมกัน”อนุวัตร กล่าว
เนื่องจากเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์เปลี่ยนแปลงเร็วมากความสำคัญของข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่กลุ่มลูกค้ามีความต้องการเป็นพิเศษโดยเฉพาะแพทย์ที่ประกอบธุรกิจความงามเพราะเครื่องมือที่ใช้จะต้องทันสมัยและอัฟเดทอยู่ตลอด
“การให้ข้อมูลไม่จริงไม่ตรงกับเครื่องมือมีการดัดแปลงข้อมูลก็อาจเสียเครดิตและลูกค้าไปในที่สุด”อนุวัตร กล่าว
กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างองค์กรและลูกค้า คือการจัดสัมมนาขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่เป็นจริง กอปรกับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้กับลูกค้าโดยตรงอีกด้วย
“นี่คือยุทธวิธีที่ทำการตลาดของบริษัทที่มีทั้งก่อนและหลังการขายเครื่องมือแพทย์ออกไป”อนุวัตร กล่าว ขณะเดียวกันเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยและยาของสหรัฐอเมริกาก่อนทุกครั้ง เพราะนั้นหมายถึงการการันตีว่าเครื่องมือแพทย์ชิ้นนั้นจะขายได้อย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|