|

ไร้”ทักษิณ”ชิน คอร์ป” ลำบาก เทมาเส็กฯ สูญ 4.6 หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ชัดเจน!! ทักษิณ ลงจากอำนาจ ธุรกิจชิน คอร์ปทั้งเครือกำไรทรุด ทำเทมาเส็กฯ เจ๊งแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท แถมมีโอกาสสูญมากกว่าเดิมทั้งสงครามราคาของเอไอเอส กทช.เข้มงวด และไอทีวีที่ส่อแววชนะยาก เป็นพิสูจน์ธุรกิจโตได้เพราะการเมือง งานนี้ไทยรักไทยไม่มาลำบากหนัก
นับตั้งแต่การประกาศยุบสภาของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2549 หลังจากที่ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ได้ขายหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) SHIN เพียง 1 เดือน(23 มกราคม 2549)
ครั้งนั้นกองทุนเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของสิงคโปร์ ภายใต้ร่างทรงอย่างซีดาร์ โฮลดิ้งส์ และแอสเพน โฮลดิ้งส์ เสนอซื้อจากผู้ก่อตั้ง 49.59% ที่ราคา 49.25 บาทต่อหุ้น และยังต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น SHIN ทั้งหมด เบ็ดเสร็จทั้งซีดาร์ และแอสเพน โฮลดิ้ง ถือหุ้น SHIN กว่า 2,905 ล้านหุ้น ใช้เงินในการซื้อราว 143,113 ล้านบาท
ส่วนหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แม้ต้องทำคำเสนอซื้อเช่นกันแต่มีผู้นำเสนอขายน้อยเนื่องจากมีการกำหนดราคาซื้อไว้ที่ 72.31 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาในขณะนั้นสูงเกินกว่า 90 บาท
นับตั้งแต่การขายหุ้นชิน คอร์ป ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะประเด็นที่การซื้อขายเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว แรงบีบคั้น การออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนถึงความไม่เหมาะสมที่ผู้นำประเทศและเจ้าของที่แท้จริงของชิน คอร์ป สุดท้ายหัวหน้าพรรคไทยรักไทยก็ต้องประกาศยุบสภา
การซื้อหุ้นชิน คอร์ปในครั้งนั้น ด้วยความที่ชิน คอร์ป เป็นโฮลดิ้ง คอมปานี ที่ถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 42.80% บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) 41.34% บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 52.93% บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ถือในนาม ชิน บรอดแบนด์ 40.02%
ภาพไทยรักไทยลบ
สินค้าที่เทมาเส็กซื้อไปแล้วมีปัญหาแล้วคือ ไอทีวี ที่คำตัดสินของศาลปกครองเมื่อ 9 พฤษภาคม ได้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ส่งผลให้ไอทีวีต้องชำระค่าสัมปทานให้รัฐปีละ 1 พันล้านบาทและต้องกลับไปนำเสนอรายการข่าว สาระกับรายการบันเทิงที่อัตรา 70 : 30 จากที่เคยทำตามมติของอนุญาโตตุลาการที่จ่ายสัมปทานแค่ 230 ล้านบาทต่อปีและปรับการการข่าว สาระกับรายการบันเทิงที่ 50 : 50 ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของการอุทธรณ์
ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายนที่ผ่านมา ที่มีพรรคใหญ่อย่างไทยรักไทย ลงสมัครเพียงพรรคเดียว และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วไม่ว่าการเลือกตั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันที่ 22 ตุลาคม 2549 แต่ดูเหมือนว่ามติของ กกต.จะไม่ได้รับการตอบสนองจากที่ประชุม 3 ศาลและประชาชนทั่วไป
ระหว่างนี้พลพรรคไทยรักไทยเริ่มมีการทยอยลาออกกันบ้างแล้ว ดังนั้นโอกาสของการกลับมาบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของพรรคไทยรักไทย ภายใต้บรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมืองอย่างนี้ มีความเป็นไปได้น้อยกว่าเดิม
ภายใต้ระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่การประกาศยุบสภา แม้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยที่เป็นพรรคใหญ่ลงรับสมัครเพียงพรรคเดียวแข่งกับพรรคเล็ก ๆ ชัยชนะที่ได้จึงท่วมท้น แต่ก็ต้องติดกับปัญหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ไร้ทักษิณกำไรหด
ธุรกิจของตระกูลชินวัตรที่ได้ขายให้กับผู้กล้าอย่างเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ เมื่อ 23 มกราคม 2549 เมื่อชิน คอร์ป พ้นชายคาจากความเป็นชินวัตร เราได้เห็นแล้วว่าผลการดำเนินงานบริษัทในเครือชิน คอร์ป ล้วนแล้วแต่มีผลการดำเนินงานที่ลดลงจากเดิม เริ่มจากบริษัทแม่อย่างชิน คอร์ป ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2549 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 10.21% แอดวานซ์ฯ ลดลง 5.28% แซทเทลฯ ลดลง 130.86% และไอทีวีลดลง 36.11%
นับเป็นการสะท้อนถึงวิธีการบริหารจัดการของบริษัทในกลุ่มชิน คอร์ป ว่า ผูกพันกับนโยบายทางการเมืองภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ที่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ หลายนโยบายที่เกื้อหนุนให้กิจการของบริษัทในเครือเติบโตเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น อำนาจบางอย่างของรัฐบาลช่วยเปิดทางในการสร้างรายได้ให้กับองค์กรของตัวเอง
เมื่อสถานะทางการเมืองเริ่มเสื่อมลง โอกาสในการกลับเข้ามาปกป้องธุรกิจ หรือโอกาสในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ซื้อใจกล้าจากสิงคโปร์น้อยลง ทุกอย่างถึงสะท้อนออกมาทั้งในเรื่องของผลประกอบการและราคาหุ้น
หากเปรียบเทียบกับราคาหุ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ซึ่งชัดเจนว่าทักษิณ ชินวัตร จะกลับเข้ามาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังลาพักผ่อนระยะหนึ่ง ในวันดังกล่าวหุ้น SHIN ปิดตลาดที่ 33.25 บาท และ ADVANC ปิดตลาดที่ 91.50 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ SHIN ที่ราคา 49.25 บาท นับได้ว่าผู้ซื้อขาดทุนไปแล้ว 16 บาทต่อหุ้นหรือ 32.49%
เม็ดเงินที่นอกเหนือจากซื้อตรงจากผู้ถือหุ้นใหญ่ในตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์กว่า 7.3 หมื่นล้านบาทแล้วยังต้องทำการรับซื้อหุ้นทั้งหมด เบ็ดเสร็จใช้เงินกว่า 1.43 แสนล้านบาท เทียบกับเมื่อครบ 3 เดือนของการยุบสภา มูลค่าเงินลงทุนของกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ที่ถือหุ้น 96.12% ในชิน คอร์ป จาก 1.43 แสนล้านบาท เหลือเพียง 9.66 หมื่นล้านบาท หายไปแล้ว 46,493 ล้านบาท
อาจสูญมากกว่าเดิม
โอกาสที่มูลค่าเงินลงทุนของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จะลดลงอีกจากธุรกิจหลักก็มี ไม่ว่าจะเป็น ADVANC ที่อยู่ในช่วงของสงครามราคา ส่งผลต่อรายได้ของบริษัท รวมถึงต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มวงจรเพื่อแก้ปัญหาโทรศัพท์โทรติดยาก และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เตรียมออกประกาศมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม โดยกำหนดให้มีสัญญามาตรฐานการให้บริการโทรคมนาคม ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องคืนเงินแก่ผู้ใช้บริการกรณีเป็นบริการแบบเติมเงิน หากมีเงินเหลือ ห้ามตัดสัญญาณเอง แต่ได้เปิดช่องให้กำหนดค่ารักษาเลขหมายได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรายได้ของบริษัท
ขณะที่ไอทีวีหากการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดไม่เป็นผล และต้องกลับมาใช้เงื่อนไขเดิมจะทำให้ไอทีวีมีผลขาดทุนทันที 1.58 พันล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะสะท้อนกลับไปยังบริษัทแม่อย่างชิน คอร์ป ที่มีโครงสร้างการถือหุ้นเป็นแบบโฮลดิ้งส์ คอมปานี ทันที
งานนี้ถือเป็นความใจกล้าอย่างมากของผู้ซื้ออย่างเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่เม็ดเงินส่วนใหญ่มาจากประชาชนสิงคโปร์ เข้ามาแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจแทนธุรกิจของนายกรัฐมนตรีของไทย และโอกาสเจ็บตัวมีมากกว่า 4.6 หมื่นล้านบาทสูงมาก ถ้าพรรคไทยรักไทยไม่สามารถกลับเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศอีก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|