การประกาศจับมือกันระหว่าง พระนครยนตรการ และเจเนอรัล มอเตอร์ส แอคเซปแตนซ์
คอร์ปอเรชั่น (จีเอ็มเอซี) เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในเมืองไทย
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 นั้น ไม่อาจตีความได้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง
กิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีทั้งความหมายด้านบวก และด้านลบที่มีต่อประนครยนตรการ
เป็นความหมายที่ไปกันคนละทิศคนละทางในทันที แล้วแต่ว่าใครจะคิดอย่างไร
แต่คำถามที่ว่า จีเอ็มจะเอาอย่างไรกับพระนครยนตรการ ? มาวันนี้เริ่มเห็นคำตอบชัดขึ้น
ชัดขึ้นทุกที
ยิ่งไปกว่านั้น เส้นทางจากนี้ ถ้าพิจารณาให้ดี จะเห็นว่าจีเอ็ม มีแต่ให้
พระนครยนตรการมีแต่รับเลยทีเดียว
เจเนอรัล แอคเซปแตนซ์ (ประเทศไทย) คือบริษัทร่วมทุนที่เกิดขึ้น และนับเป็นกิจกรรมต่อเนื่องอันแรก
ภายหลังจากที่ จีเอ็ม ประกาศการลงทุนในเมืองไทย เมื่อ 11 มิถุนายน 2539 ด้วยโครงการโรงงานประกอบรถยนต์โอเปิลที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก
มูลค่าการลงทุนขั้นต้นสูงถึง 18,750 ล้านบาท กำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี
โดยจะเริ่มส่งสินค้าออกจากโรงงานได้ในปี 2542
กิจกรรมแห่งความร่วมมือครั้งแรก เพื่อรองรับโครงการใหญ่ จะมองว่าเป็นพัฒนาการของพระนครยนตรการ
ภายใต้วิถีที่จะต้องปรับปรุงตัวเอง พัฒนาขึ้นมาให้ทันกับการที่จีเอ็ม ทุ่มการลงทุนเข้ามาในเมืองไทย
ก็อาจจะมองอย่างนั้นได้ โดยไม่ต้องขัดเขิน
เพราะก่อนหน้านี้ ธวัชชัย จึงสงวนพรสุข ทายาทคนสำคัญ และมีบทบาทอย่างมากคนหนึ่งในองค์กรพระนครยนตรการ
และค่อนข้างแต่ตอนว่าเขาผู้นี้จะเป็นผู้สืบทอดกิจการในส่วนนี้ต่อจาก บันเทิง
จึงสงวนพรสุข ได้เคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า องค์กรแห่งนี้จะต้องปรับปรุงตัวเองอีกมาก
ต้องปรับโครงสร้างการบริหาร และแน่นอนว่าจะต้องขยายงานในส่วนต่าง ๆ ที่จะเกื้อหนุนธุรกิจหลักที่ดำเนินการอยู่
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการรุกเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์
การร่วมมือครั้งนี้ถ้ามองในแง่ดี ก็เท่ากับว่าเป็นก้าวสำคัญของพระนครยนตรการ
ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจ แหล่งลงทุนที่จะเข้ามาเกื้อหนุนและเสริมกลยุทธ์ของกิจการในเครือไม่เฉพาะการจำหน่ายรถยนต์โอเปิลเท่านั้น
บริษัทสินเชื่อ เช่าซื้อรถยนต์แห่งใหม่นี้ ทางจีเอ็มคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี
2539 นี้ และจะเป็นการดำเนินการในวงกว้าง ไม่เจาะจงเฉพาะรถยนต์ยี่ห้อของจีเอ็มเท่านั้น
"เอเชียเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ธุรกิจของจีเอ็มและจีเอ็มเอซี
เนื่องเพราะที่นี่ยังมีลู่ทางการค้าอีกมากมายมหาศาล ซึ่งรอการสำรวจเจาะตลาด
เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งเราพบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถยนต์พร้อมบริการสินเชื่อกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง"
คำกล่าวของ ริชาร์ด เจ. เอส. เคลาท์ รองประธานบริหาร ฝ่ายปฏิบัติการต่างประเทศของจีเอ็มเอซี
ดูจากเป้าหมายของจีเอ็มแล้ว ก็ไม่ได้ต่างไปจากพระนครยนตรการ ปัญหาที่เกิดขึ้น
และเป็นอุปสรรคในการเติบโตของตลาดโอเปิลในไทย จีเอ็มรู้แค่ไหน พระนครยนตรการน่าจะรู้ซึ้งมากกว่าด้วยซ้ำ
แต่เหตุที่พระนครยนตรการ ดูเหมือนว่าไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์นั้น
น่าจะเพราะศักยภาพขององค์กรที่มีจำกัด ซึ่งจีเอ็มก็น่าจะเข้าใจในจุดนี้ การรุกเข้ามาในส่วนของงานสินเชื่อเพื่อเสริมการเปิดตลาดรถยนต์โอเปิดในไทย
ด้วยการร่วมทุนกันครั้งนี้จึงน่าจะเข้าใจได้ว่าอย่างน้องจีเอ็มกับพระนครยนตรการก็จะยังเกื้อกูลกันต่อไป
มองถึงการเข้ามาของจีเอ็มเอซีแล้ว ทำให้มั่นใจไม่น้อยว่าตลาดรถยนต์โอเปิลหรือทุกยี่ห้อภายใต้สังกัดจีเอ็ม
จะต้องโลดแล่นไม่เบาทีเดียว เพราะศักยภาพขององค์กรแห่งนี้ยิ่งใหญ่ระดับโลก
และจัดว่าเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ของโลก โดยจีเอ็มถือหุ้นเต็ม และนับจากเปิดดำเนินการมา
จีเอ็มเอซี ได้ให้บริการสินเชื่อไปแล้วรวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 830,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
หรือเป็นการปล่อยสินเชื่อสำหรับรถยนต์และรถบรรทุกไปแล้วกว่า 136 ล้าคัน
การเข้ามาครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนว่า จะใช้กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อรุกขยายตลาดให้รถยนต์โอเปิล
ได้เติบโตในเวลาอันรวดเร็ว การจัดสร้างฐานกำลังด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งจีเอ็มมั่นใจว่า
จะเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งในอนาคต ในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และการต่อสู้ระหว่างผู้ค้าจะรุนแรงขึ้นจึงต้องเร่งสร้างให้เสร็จสิ้นก่อน
อนาคต ผู้บริหารได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ลูกเล่นจากตรงนี้ในการเปิดตลาดรถยนต์โอเปิลยังมีอีกมาก
เพียงแต่รอให้ถึงโอกาสจึงจะกล่าวได้เต็มปากเต็มคำกว่านี้
เอาทุนตรงนี้มารองรับหรือรับประกันราคารถยนต์โอเปิลไม่ให้ตกต่ำเกินไป หรืออาจรวมถึงยี่ห้ออื่นในเครือของพระนครยนตรการ
ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะคุยกันลงตัวแค่ไหน ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเท่าไรก็ได้
แม้กระทั่งอัตราดอกเบี้ยติดลบ (ผ่อนเร็วราคาลดมาก ผ่อนช้าราคาเท่าปกติ) ก็อาจได้ถ้าจะบูมโอเปิลจริง
ๆ รับเทิร์นรถด้วยราคาที่เต๊นท์มือสองมองว่าทำไปก็เจ๊ง อีกหลากหลายวิธีที่จะนำเงินมาลงเพื่อหวังมาบูมตลาดตรงนี้
และยิ่งจีเอ็มทุ่มลงมาสุดตัวมากเท่าใด ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
สำหรับพระนครยนตรการ
เพราะแม้ดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์กับพระนครยนตรการ แต่เมื่อตลาดโอเปิลมีแนวโน้มจะเติบโต
จากสิ่งที่จีเอ็มกำลังทุ่มลงไปเรื่อย ๆ มันก็เป็นของแน่นอนว่า เจ้าของก็ย่อมอยากจะทำเองขึ้นมาบ้าง
ตรงนี้คือเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่คิดกันว่าสถานภาพของพระนครยนตรการกำลังคลอนแคลน
ถ้าดูจากโครงสร้างการร่วมทุนในบริษัทสินเชื่อที่เกิดขึ้นแล้ว จะเห็นว่าจีเอ็มต้องการเข้ามาคุมบังเหียนด้วยตัวเองมากกว่า
โดยการร่วมทุนครั้งนี้ จีเอ็มเอซีถือหุ้นถึง 75% และให้พระนครยนตรการถือหุ้นเพียง
25% เท่านั้น
โครงสร้างการร่วมทุนลักษณะนี้ น่าเป็นห่วงพระนครยนตรการอยู่มาก เพราะแน่นอนว่าบทบาทย่อมลดลงเป็นลำดับเพราะมีแนวโน้มว่า
จีเอ็มจะไม่หยุดแค่บริษัทรอบข้างเท่านั้น
มีความเป็นไปได้มาก ที่ว่าจีเอ็มจะจัดโครงสร้างทางด้านการตลาดเสียใหม่
โดยจีเอ็มเข้ามาเปิดบริษัททางด้านการตลาดด้วยตัวเอง ซึ่งจะรวมงานขาย บริการ
และอะไหล่ไว้ด้วยกัน โดยจีเอ็มบริหารงานเองหมด ส่วนพระนครยนตรการนั้นน่าจะเปลี่ยนสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่นี้
และมีสภาพเป็นซูเปอร์ดีลเลอร์ ดูแลเขตกรุงเทพมหานครไปพร้อม ๆ กัน
ประเด็นที่น่าจะเกิดขึ้นนี้ ก็คือภาพด้านลบที่มองได้จากกิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้น
แม้แต่ บรรเทิงเอง ในฐานะประธานบริษัทพระนครยนตรการ ก็เหมือนว่าจะยอมรับไปแล้วกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวกับทางจีเอ็มไปบ้างแล้ว หากมีการสรุปผล ทางจีเอ็มจะเป็นผู้แถลงการณ์เอง
นี่คือคำกล่าวของบรรเทิง
เส้นทางเดินของพระนครยนตรการ แม้ดูจะมืดสลัวเสียเหลือเกินในยามนี้ อนาคต
บทบาทด้านการตลาดย่อมลดลงแน่นอน
แต่กระนั้นจีเอ็มก็ใช่ว่าจะไร้น้ำใจกับคู่ค้าที่อยู่ร่วมกันมากว่า 10 ปี
เพราะผลตอบแทนที่พระนครยนตรการจะได้รับจากโครงสร้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ มั่นใจได้ว่าไม่น้อยกว่าที่เคยได้ในแต่ละปี
เพราะบทบาทลดลง แต่เข้าไปร่วมในกิจกรรมที่ใหญ่โตขึ้นมาก หลากหลายมากขึ้น
ประการสำคัญถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้จะเห็นว่าจีเอ็มได้หาทางออก และเตรียมการณ์ให้กับพระนครยนตรการไว้อย่างดีทีเดียว
"พระนครยนตรการ จะร่วมกับทางซัพพลายเออร์จากอเมริกาที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับจีเอ็มรายหนึ่ง
ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนขึ้นในไทย เพื่อป้อนโรงงานของจีเอ็ม" บรรเทิง
กล่าวถึงบทบาทใหม่ของพระนครยนตรการ
โครงการโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดกับผู้ร่วมทุน
แต่ก็มาถึงขั้นซื้อที่ดินไว้แล้วจำนวน 400 ไร่ ที่จังหวัดระยอง และคาดว่าการลงทุนขั้นต้นจะใช้เงินประมาณ
500 ล้านบาท
"การทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ถือเป็นก้าวแรกของบริษัทที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์แบบครบวงจรมากขึ้น
และนอกจากซัพพลายเออร์ที่กล่าวถึงแล้ว หลังจากนี้จะยังมีรายอื่น ๆ อีกที่เราจะร่วมทุนเพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับทางจีเอ็ม"
บรรเทิงกล่าว
การผันตัวเองไปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อป้อนโครงการของจีเอ็ม แน่นอนว่าอยู่ในสาระการเจรจาระหว่างพระนครยนตรการ
และจีเอ็ม ในการที่จีเอ็มจะเข้ามารุกตลาดอย่างเต็มตัวด้วยตัวเองครั้งนี้
การยอมลงบทบาทจากหน้าฉาก ไปอยู่หลังฉากของพระนครยนตรการครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จไม่น้อยทีเดียวและครั้งนี้อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ที่ทำให้ขุมข่ายแห่งนี้มีอนาคตในระยะยาวต่อไป
ที่สำคัญ ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา พระนครยนตรการเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวที่มีข้อด้อยในเรื่องของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน
เพราะไม่เคยเข้ามาลงตรงนี้อย่างจริงจัง
แต่กระนั้น จีเอ็ม ก็ยังให้โอกาสและอาจคาดการณ์ได้ว่า พระนครยนตรการจะได้บทบาทในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนมาทดแทนบทบาทด้านการตลาด
ซึ่งศักดิ์ศรีไม่ได้ด้วยไปกว่ากัน
ให้ขนาดนี้แล้ว ยังจะว่าจีเอ็มทอดทิ้งพระนครยนตรการ ก็ดูจะเกินไปละ