Equilibrium

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพสังคมธุรกิจไทยหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นภาพที่เป็นปริศนาพอสมควร แต่ดูคลี่คลายไปเอง เมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นหลังจากนั้น 3-4 ปี แต่ในที่สุดความคลุมเครือดูครอบคลุมกลับมาใหม่อีกในช่วงนี้

ความพยายามอรรถาธิบายด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์สังคมธุรกิจไทยในช่วงนี้ ผมเชื่อว่าเป็นความจำเป็นมากทีเดียว เพื่อความเข้าใจและปรับความคิดในสถานการณ์ในช่วงขาดสมดุลบางช่วง

"ธุรกิจครอบครัว" เป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยอย่างเข้มแข็ง และพัฒนาเครือข่ายอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นคลื่นช่วงที่ยาวประมาณ 50 ปีเลยทีเดียว ขณะเดียวกันสาระสำคัญของวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่ล่าสุดได้ส่งสัญญาณคุกคาม "ระบบธุรกิจครอบครัว" อย่างมาก ภายใต้สถานการณ์ที่ดูไม่แย่ไปกว่านี้ แต่วิญญาณธุรกิจครอบครัวยังสั่นไหวอยู่

คงไม่มีช่วงใดเท่าวิกฤติครั้งนั้น ที่ธุรกิจครอบครัวถูกบั่นทอนมากที่สุด กว้างขวางที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเพียงใด

ธุรกิจที่มาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างตระกูลหวั่งหลี และล่ำซำ ซึ่งถือว่ามีมากกว่ารุ่นเดียว ได้สูญเสียความเป็นปึกแผ่นของระบบธุรกิจครอบครัวไปแล้ว (ระบบธุรกิจครอบครัวในความหมายของผม คือ การรวมตัวอยู่ในโฮลดิ้ง คัมปะนี เข้าถือหุ้นข้างมาก และครอบงำการบริหารกิจการหลักที่มีเครือข่าย) กลุ่มที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น เตชะไพบูลย์ โพธิรัตนังกูร และพรประภา ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ และเติบโตมากในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ ในแนวคิดของผมมองว่า เป็นการเติบโตในรุ่นเดียวกันที่คงอยู่ค่อนข้างยาวนานในช่วงนั้น ได้ถูกบั่นทอนความเป็นเครือข่ายลงแล้ว

แม้ว่าผู้คนจะมองว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือว่าเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน ถือว่าเป็นการสร้างอาณาจักรของคนรุ่นเดียวกันที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคงต่อเนื่องจนทุกวันนี้ แต่น่าสังเกตว่านอกจากจะเป็นธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวกว่ายุคเดียวกันแล้ว มีความพยายามอย่างมากในการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการสร้างฐานธุรกิจใหม่ๆ รองรับบทบาทของรุ่นที่สองอย่างชัดเจนจะว่าไปแล้วความสำเร็จในธุรกิจเดิมของรุ่นหนึ่ง ไม่ถือเป็นหลักประกันธุรกิจในรุ่นที่สองได้ กลุ่มธุรกิจในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ กลุ่มนี้มีความเสี่ยงจากการเชื่อมต่อระหว่างรุ่นที่มองไม่เห็น

ล่าสุด รุ่นที่เติบโตหลังสงครามเวียดนาม ซึ่งมาเร็ว มาแรง ด้วยสไตล์เชิงรุก และดูทรงอิทธิพลในสังคมด้านต่างๆ อย่างเปิดเผยอย่างมาก (โดยทั่วไป ธุรกิจครอบครัวรุ่นก่อนมีอิทธิพลต่อสังคมเช่นกัน แต่มักจะอยู่วงในอย่างเงียบๆ) และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งใครๆ มองว่าได้ประโยชน์จากวิกฤติปี 2540 มากที่สุด แต่ผมคิดว่า พวกเขาได้เข้าสู่วังวนของความซับซ้อนนั้นแล้ว เข้าไปสู่ "ความไม่แน่นอน" เร็วกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นอย่างมากทีเดียว

แนวความคิดที่ว่า ด้วยอนาคต "ความเป็นเจ้าของ" มีความสำคัญอย่างมาก มากกว่า "ความเป็นอยู่ของกิจการ" ธุรกิจครอบครัวธุรกิจไทย หรือผู้ประกอบการธุรกิจ โดยทั่วไปให้ความสำคัญถึงระดับรากความคิดนี้เลยทีเดียว และที่สำคัญ แรงขับเคลื่อนของแนวความคิดนี้มีพลังอย่างมากทีเดียว

ปฏิกิริยาของสังคมธุรกิจไทยต่อระบบทุนนิยมระดับโลกในเชิงลบครั้งสำคัญครั้งแรก ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 มีนัยว่าเป็นความขัดแย้งโดยพื้นฐานระหว่างธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งเป็นทุนนิยมแบบหนึ่งกับระบบทุนนิยมที่พัฒนาจากผลประโยชน์ระบบครอบครัวไปสู่ผลประโยชน์ระดับบุคคล (Individual Investor) แล้ว ความขัดแย้งนี้ถือเป็นแรงเสียดทานของการปรับตัวอย่างหนึ่ง

กฎกติกาใหม่ของระบบทุนนิยมโลกที่นำเข้ามาในสังคมธุรกิจไทยจากนั้นมา มักจะจำกัดพลังของธุรกิจระบบครอบครัวไทยไม่มากก็น้อย

ภายใต้ระบบที่มีช่องว่างระหว่างธุรกิจระบบครอบครัวกับระบบทุนโลกนั้น "ลูกจ้าง" หรือ "มืออาชีพ" เกิดขึ้น บุคคลเหล่านี้เติบโต ทำหน้าที่ประนีประนอมกับความขัดแย้งทั้งสองระบบ และจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ากับระบบทุนนิยมโลกได้ดี และแนบเนียนกว่า

ที่สำคัญ ธุรกิจระบบครอบครัวไทยในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงต่อระหว่างรุ่น ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง

รุ่นปัจจุบันถือว่าเกิดและเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเรียกว่า ยุค Baby boom คนกลุ่มเหล่านี้มีประสบการณ์ มีความสามารถเป็นกลุ่มที่ทรงพลังที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมธุรกิจยุคปัจจุบัน ที่สำคัญพวกเขาเชื่อมั่นตนเองว่า รุ่นที่สอง ไม่มีความสามารถเพียงพอจะรับช่วงได้ดีจากกลุ่มตน ในขณะที่รุ่นที่สองไม่มีประสบการณ์ หรือไม่รับโอกาส แต่กลับเชื่อมั่นตนเองอย่างมาก ด้วยการมองความสำเร็จไว้ยิ่งใหญ่กว่ารุ่นก่อนด้วย

นี่อาจจะเป็นแรงขับดันและแรงกดดันสำคัญอย่างมาก ที่ทั้งขัดแย้งและเสริมกัน ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ อาจจะส่งผลให้สังคมธุรกิจไทยเสียสมดุลไปก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.