|

พิพิธภัณฑ์ภูเขาไฟในโอแวร์ญ (Auvergne)
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ไปเมืองแคลมงต์-แฟรองด์ (Clermont-Ferrand) หลายครั้ง แต่ไม่เคยออกเที่ยวรอบนอกอย่างจริงจัง และแล้วสุดสัปดาห์ที่มีวันหยุด 3 วัน ญาติพี่น้องนัดหมายไปกัน อันว่า แคลมงต์-แฟรองด์นั้นอยู่ในจังหวัดปุย-เดอ-โดม (Puy-de-Dome) ขึ้นกับมณฑลโอแวร์ญ (Auvergne) เป็นเมืองของมิชแลง (Michelin) ด้วยว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตยางมิชแลง และปุย-เดอ-โดมนี่เองที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำแร่ Volvic นอกจากนั้น แคลมงต์-แฟรองด์ยังเป็นปราการสุดท้ายของชาวเซลต์ (Celtes) ภายใต้การนำของแวร์แซงเจโตริกซ์ (Vercingetorix) ในการต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิโรมันและพ่ายแพ้ในที่สุด ลานกลางใจเมืองจึงมีรูปปั้นของแวร์แซง เจโตริกซ์ตั้งอยู่ แคลมงต์-แฟรองด์ ส่งออกสงครามครูเสดครั้งแรกด้วย
นั่งรถไฟที่สถานี Gare de Lyon มุ่งลงไปใต้ จุดหมายปลายทางอยู่ที่แคลมงต์-แฟรองด์ เส้นทางนี้ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า TGV (Train a grande vitesse) จึงเมื่อยแล้วเมื่อยอีกเป็นเวลาสามชั่วโมงครึ่ง เมื่อไปถึงนั้นเป็นเวลาบ่ายแก่ๆ พลันที่มวลสมาชิกพร้อมหน้า จึงพากันขึ้นเขาไปยังสุสานบรรพบุรุษมองจากเนินเขา แสงอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้าสวยมหัศจรรย์ ยืนชมกันจนความมืดโรยตัว แวะรับประทานอาหารที่โบเรอการด์-ปงต์-เลเวค (Beauregard-Pont-L'Eveque) เมื่อกลับออกมาอีกที พบหมอกจัด อุณหภูมิ 4 องศา เป็นความหนาวแรกที่ได้พานพบ ด้วยว่าอากาศร้อนอ้อยอิ่งคลุมประเทศอยู่นานจนใบไม้ไม่ยอมร่วงเสียที ผิดแผกจากฤดูใบไม้ร่วงทุกปี
วันรุ่งขึ้น ขับรถขึ้นไปยังยอดเขาสูงสุดของมณฑลโอแวร์ญคือปุย-เดอ-โดม (Puy-de-Dome) สวมเสื้อพูลโอเวอร์สองตัว ทับด้วยเสื้อโค้ตและผ้าพันคอผืนใหญ่ เพื่อต้านลมแรงบนยอดเขา เช้าวันนั้นอากาศดี ฟ้าค่อนข้างแจ่ม มองเห็นดอยจากในเมือง จึงเห็นนักท่องเที่ยวมุ่งขึ้นเขา ยอดเขาปุย-เดอ-โดมเป็นที่ตั้งสถานีรับส่งโทรทัศน์ มีซากปรักของ Temple de Mercure ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโรมัน มองลงไปเบื้องล่าง เห็นทิวทัศน์เมืองแคลมงต์-แฟรองด์และเมืองใกล้เคียง เทือกเขาบริเวณนี้เป็นแหล่งภูเขาไฟมาก่อน ยอดเขาหลายลูกเป็นปล่องภูเขาไฟ จึงไม่แปลกที่เห็นอาคารบ้านเรือนในแคลมงต์-แฟรองด์สร้างด้วยหินลาวา ดูทึมๆ ไม่สดใสเท่าที่ควร
ปุย-เดอ-โดมอยู่ในอุทยานแห่งชาติ จึงต้องเสียเงินค่าเข้าไป รถหลายคันจอดครึ่งทางแล้วแบกเป้เดินต่อ เป็นการออกกำลังกายในวันหยุดไปในตัว
ช่วงบ่ายพากันไป Vulcania, Parc europeen du volcanisme พิพิธภัณฑ์ภูเขาไฟแห่งแรกในยุโรป Vulcania นี้อยู่ไม่ไกลจากปุย-เดอ-โดมนัก ห่างจากเมืองแคลมงต์-แฟรองด์ 15 กิโลเมตร พิพิธภัณฑ์สร้างในใต้ดิน จึงเห็นหินลาวาอยู่ทั่วไปให้ความรู้เกี่ยวกับโลกและกำเนิดภูเขาไฟ องค์การบริหารมณฑลโอแวร์ญเป็นผู้สร้าง ทั้งนี้เป็นความริเริ่มของวาเลรี ยิสการด์ เดสแตง (Valery Giscard d'Estaing) อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของโอแวร์ญอยู่นานปี เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2001
เมื่อเข้าไปในตัวอาคาร ผู้คนเข้าแถวเข้าห้องจำลองแผ่นดินไหว (Simulateur de seIsmes) จำต้องเข้าไปลิ้มความรู้สึกเมื่อประสบแผ่นดินไหว ห้องจำลองแผ่นดินไหวนี้บรรจุคนได้เพียง 50 คน ห้องด้านนอกมีโทรทัศน์หลายเครื่อง ฉายให้ชมเหตุที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ อีกทั้งแผนที่โลกและจุดที่เกิดแผ่นดินไหว ในห้องซิมูเลเตอร์ มีจอภาพยนตร์ขนาดเล็ก ด้านหน้ามีราวเหล็กให้จับ และปุ่ม 2 ปุ่มสำหรับกดเพื่อขอความรุนแรงมากน้อยของแผ่นดินไหว เมื่อได้เวลา ผู้ควบคุมปรากฏบนจอภาพยนตร์ สาธิตการใช้ปุ่มและเริ่มส่งความสั่นสะเทือนมาที่พื้น เริ่มจาก 3 ริกเตอร์ และขอความเห็นผู้ชมว่าต้องการเพิ่มความรุนแรงหรือไม่ ผู้ขอเพิ่มมีมากกว่าผู้ขอลดทุกครั้ง ดังนั้นจึงได้ประสบกับความรุนแรงขนาดกว่า 7 ริกเตอร์ ทุกคนต้องยึดราวเหล็กไว้แน่น มิฉะนั้นจะล้มได้ ขณะที่พื้นห้องสั่นสะเทือน จอภาพยนตร์จะฉายภาพเหตุการณ์ของบ้านเรือนและผู้คนที่ประสบภัย คลื่นสึนามิที่ถาโถมใส่ เป็นต้น ห้องจำลองแผ่นดินไหวนี้ไม่อนุญาตให้เด็กความสูงต่ำกว่า 110 เซนติเมตร หญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเข้า
หลังจากนั้นลงไปชั้นสองของใต้ดิน ซึ่งจำลองภูเขาไฟและน้ำพุร้อน ติดตั้งเครื่องโทรทัศน์ไว้ตามจุดต่างๆ สามารถขอดูกำเนิดของหินแร่หรือการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศต่างๆ จึงได้ตระหนักว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศภูเขาไฟโดยแท้ ด้วยว่าเกิดการระเบิดของภูเขาไฟหลายครั้ง และได้ชมการระเบิดของกรากะตั้วด้วย
โรงภาพยนตร์ใหญ่ฉายภาพยนตร์สามมิติเกี่ยวกับภูเขาไฟ ทำได้ดีมากและสมจริงราวกับเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ช้างแมมมอธที่ยื่นงวงมาถึงหน้า ลาวาที่ไหลมาหาตัว นกยักษ์ที่บินโฉบมา เด็กเล็กร้องไห้กระจองอแงด้วยความตกใจ ตรงลานกว้างชั้นสองใต้ดินนั้นเป็นสวนในบริเวณภูเขาไฟ มีบันไดลงไปยังชั้น 4 ห้องหนึ่งติดเก้าอี้ที่เอนนอนได้ เพียงเพราะจะต้องนอนชมเพดานที่ฉายเกี่ยวกับจักรวาล สามารถกดเลือกภาษาบรรยายได้ตามชอบ อีกห้องหนึ่งฉายภาพยนตร์ความเป็นมาของภูเขาไฟในมาสซิฟ-ซองทรัล (Massif Central) เทือกเขาปุย-เดอโดมเป็นส่วนหนึ่งของมาสซิฟ-ซองทรัล อีกห้องหนึ่งฉายภาพเหตุการณ์การระเบิดของภูเขาไฟเซนต์-เฮเลนส์ (Saint Helens) ในมลรัฐวอชิงตันเมื่อปี 1980
สามชั่วโมงใน Vulcania ไม่สามารถชมได้ทุกอย่าง เมื่อกลับออกมานั้น ความมืดเข้าครอบคลุมแล้ว แถมฝนยังตกอีก ตลอดทางจากตัวอาคารไปถึงลานจอดรถนั้น ไฟริบหรี่เต็มที จึงเดินเกาะตามออกมากันเป็นพรวน เปียกด้วย หนาวด้วย จึงไม่แปลกใจที่ช่วงฤดูหนาวนั้น Vulcania จะปิดบริการ ด้วยว่าถนนจะจับเป็นน้ำแข็งหรือคลุมด้วยหิมะ
Vulcania เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ผู้ปกครองพาลูกหลานไปเที่ยวหนาตา นับตั้งแต่เปิดให้คนเข้าชม Vulcania ขาดทุนอย่างต่อเนื่องแม้จะเก็บค่าเข้าชมแพงมาก กล่าวคือ 19 ยูโรสำหรับผู้ใหญ่ นัยว่าองค์การบริหารส่วนมณฑลจะลดจำนวนพนักงานหรือให้สัมปทานแก่เอกชนในการบริหารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งน่าเสียดายยิ่ง ด้วยว่าการจัดแสดงต่างๆ นั้น ทำได้ดีมากทีเดียว ได้รับการยอมรับจากชาวเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ในระยะแรก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|