Stamina for Your Mobile Phone

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มี turn over rate ในระดับสูงมาก เพียงแค่ช่วงเวลาข้ามเดือนจะมีโทรศัพท์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดรวมกันทุกค่ายแล้วไม่ต่ำกว่า 10 รุ่น ที่นำเอาเทคโนโลยีในสาขาอื่นมาผนวกใส่เครื่องโทรศัพท์มือถือด้วยดีไซน์ล้ำสมัยในราคาที่ใครก็เป็นเจ้าของได้

สองตัวอย่างล่าสุดของเทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือที่ออกใหม่รับฤดูใบไม้ผลิ ได้แก่ (1) One Seg โดย Docomo เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ISDB-T (Integrated Services Digital Boardcasting Terrestrial) ซึ่งได้เข้ามาทดแทนระบบ analog

ระบบ ISDB-T ที่ว่านี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะและเริ่มแพร่ภาพ Hi-Vision มาตั้งแต่ปลายปี 2003 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นได้ขานรับแผนพัฒนาดังกล่าวโดยการพัฒนา Plasma TV, LCD TV ที่มี digital tuner รองรับการขยายช่อง TV ที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบช่อง

ไม่เพียงเท่านั้นยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวยังได้เตรียมแผนเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก กล่าวคือ โทรทัศน์ที่มี digital tuner แบรนด์ญี่ปุ่นนั้นสามารถใช้ได้กับระบบ Advanced Television System Comittee (ATSC) ในอเมริกาเหนือและระบบ Digital Video Broadcasting Terrestrial (DVB-T) ในภาคพื้นยุโรปได้อีกด้วย

มาถึงปี 2006 ระบบ ISDB-T ได้รุกหน้าเข้าสู่โทรศัพท์มือถือญี่ปุ่นและโทรทัศน์แบบพกพา โดยแต่ละช่องสถานีมีสัญญาณที่ครอบคลุมช่วงความถี่ทุก 6 MHz ซึ่งแบ่งเป็น 13 segment ในจำนวนนั้น 12 segment ใช้ส่งสัญญาณภาพดิจิตอลไปยังโทรทัศน์บ้านและที่เหลือ 1 segment (เป็นที่มาของคำว่า One Seg) ใช้แพร่ภาพมายังโทรศัพท์มือถือซึ่งสามารถลดคลื่นรบกวนทำให้ได้ภาพและเสียงในระบบดิจิตอลที่คมชัดและประหยัดพลังงาน

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้มีโทรศัพท์มือถือบางรุ่นที่สามารถดู TV ได้ก็ตาม แต่ยังต้องอาศัยดาวน์โหลดจากเว็บที่ให้บริการโดยเฉพาะและมีรายการที่จำกัดซึ่งแตกต่างจาก One Seg ที่สามารถเปิดดูได้ทุกรายการเหมือนกับโทรทัศน์ที่บ้านทุกอย่างและถือเป็นต้นกำเนิดของ Television Mobile Phone ที่แท้จริง

สาระสำคัญของบริการ One Seg ไม่ได้อยู่แค่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว การติดตามรายงานข่าวสดชนิดนาทีต่อนาที ในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ เช่น พายุไต้ฝุ่นหรือแผ่นดินไหว เมื่ออยู่นอกบ้านนั้นน่าจะก่อเกิดประโยชน์อย่างมากกับผู้ใช้บริการ One Seg

(2) Lismo โดย AU เป็น การนำเทคโนโลยี MP3 มาใส่ไว้ในโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะเครื่องรุ่น W41T Music-HDD (Toshiba) ที่มีความจุถึง 4 GB เครื่องรุ่นใหม่ในระบบ WIN ของ AU สามารถดาวน์โหลดเพลงจาก Lismo Music Store หรือ sync เพลงจากซีดีผ่าน AU Music Port บนเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งทำงานในลักษณะเดียวกันกับ iTunes

นับวันจำนวนผู้ใช้บริการ Lismo มีแต่จะเพิ่มขึ้นทั้งนี้เป็นเพราะ Lismo Music Store มีเพลงที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าญี่ปุ่นมากกว่าใน iTunes Music Store อีกทั้งยังสะดวก ไม่ต้องพกพาทั้งโทรศัพท์และ MP3 หากแม้ต้องการจะเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่ก็ทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการในราคาที่ถูกกว่าซื้อ iPod เป็นไหนๆ

ทุกวันนี้เครื่องโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่ไม่มีกล้องดิจิตอลขนาด 2 ล้านพิกเซลขึ้นไป หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยี Felica สำหรับโทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์และ/หรือ 3G (Vodafone) ก็คงจะขายได้ค่อนข้างลำบากอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นขยายวงกว้างครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเด็กประถม ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้าง awareness ให้กับสังคมในประเด็นด้านความปลอดภัยเป็นหลัก

โรงเรียนประถมหลายแห่งอนุญาตให้นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือได้ภายใต้ความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง ครูและเด็กนักเรียน ในขณะเดียวกันก็เป็นการฝึกระเบียบวินัยและมารยาทการใช้โทรศัพท์มือถือในที่สาธารณะสำหรับเด็กอย่างเช่นการไม่ใช้โทรศัพท์ระหว่างการเรียนการสอน (หากจำเป็นต้องขออนุญาตก่อนใช้) การเปิดระบบสั่นในที่สาธารณะ แถมยังเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เด็กจดจำอักษรคันจิได้มากขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือเครื่องโทรศัพท์สำหรับเด็กนั้นมีระบบที่ใช้ติดต่อกับดาวเทียม GPS ซึ่งครอบคลุมทุกพื้นที่ในญี่ปุ่นช่วยให้ผู้ปกครองทราบตำแหน่งของเด็กจากโทรศัพท์มือถือของตัวเองได้ตลอดเวลา

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่ว่าโทรศัพท์มือถือจะก้าวล้ำไปไกลเพียงใดก็ตามทุกอย่างจำต้องจบลงเมื่อยามแบตเตอรี่หมด

โดยปกติแบตเตอรี่ในโทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่นสามารถใช้งานต่อเนื่องเฉลี่ย 200 นาที และ standby ได้กว่า 10 วันต่อการชาร์จหนึ่งครั้งแต่ด้วยลูกเล่นมากมายในเครื่อง อาจเป็นสาเหตุให้แบตเตอรี่หมดเร็วโดยเฉพาะในยามจำเป็น

กรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกและน่ากังวลแต่อย่างใด เพราะ (อย่างน้อย) ภายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศจะมีเครื่องชาร์จแบตเตอรี่สำรองจำหน่ายในราคาประมาณ 700 เยน มีทั้งแบบใช้ได้ครั้งเดียวและแบบเปลี่ยนถ่านก้อนได้ซึ่งจะมีราคาแพงขึ้นอีกเล็กน้อย

กระนั้นก็ดีท่ามกลางสภาวะการแข่งกันสร้างนวัตกรรมโทรศัพท์มือถือที่รุนแรงขึ้นทุกที Sanyo ได้ใช้ความชำนาญในการผลิตแบตเตอรี่ที่มีอยู่แล้วผลิต mobile Lithium-ion battery (รุ่น KBC-L1) ออกมาเป็นรายแรกโดยเริ่มเจาะตลาดในกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์ Foma ของ Docomo

KBC-L1 (Sanyo) เป็น Lithium-ion battery มีคุณสมบัติเหมือนแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือทุกประการ สามารถชาร์จซ้ำได้ 500 ครั้ง เมื่อชาร์จ KBC-L1 (จากปลั๊กไฟบ้านซึ่งใช้เวลา 4 ชั่วโมง) เต็มแล้วสามารถพกพาไปชาร์จใส่โทรศัพท์มือถือได้ 2 ครั้ง ซึ่งเท่ากับว่ามีอายุการใช้งานได้ 1,000 ครั้ง

ราคา price list ตั้งไว้ที่ 7,140 เยนแต่ในความเป็นจริงสามารถซื้อหาได้ในราคาประมาณ 4,000 เยน เมื่อคิดค่าใช้จ่ายต่อการชาร์จ 1 ครั้งเพียง 4 เยนนั้น ถูกและดีกว่าอย่างเทียบไม่ได้กับเครื่องชาร์จแบตเตอรี่สำรองแบบเก่าที่ขายตามร้านสะดวกซื้อในราคา 700 เยน อีกทั้งยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและลดปริมาณขยะเคมีของแบตเตอรี่ได้

คุณสมบัติเด่นอีกประการของ KBC-L1 คือระบบตรวจสอบปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ทราบได้จากจังหวะกะพริบของหลอดไฟ LCD

จากการตอบรับและกระแสเรียกร้องของตลาดใหม่นี้คาดว่าจะมี Lithium-ion battery สำหรับโทรศัพท์มือถือกลุ่มอื่นตามมาอย่างแน่นอนและยังเป็นการแนะช่องทางใหม่สำหรับแหล่งพลังงานสำรองให้กับเครื่องพกพาอื่นๆ เช่น DVD, MP3 หรือแม้กระทั่งโน้ตบุ๊ก

แม้ Lithium-ion battery จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ก็ตาม แต่ไอเดียใหม่นี้สร้างโอกาสทองและช่องทางธุรกิจให้กับ Sanyo ที่มองเห็นภูเขาหลังเส้นผมได้ก่อนใคร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.