ม.ล. ชัยวัฒน์ ชยางกูร MD ไทยคนแรกที่ DEC


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ม.ล.ชัยวัฒน์ ชยางกูร กรรมการผู้จัดการบริษัทดิจิตอล อีควิปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม นอกจากจะเป็นเอ็มดีไทยคนแรกของบริษัทข้ามชาติแห่งนี้แล้ว ยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้จุดประทัดได้ดังกว่าใครในดิจิตอลอีกด้วย นับเป็นสไตล์ที่ต่างจากดอน คาร์คีค กรรมการผู้จัดการที่หมดวาระลง

ในตลาดที่เบียดอัดกันแน่น หลายบริษัทข้ามชาติเริ่มมอบตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดให้แก่นักการตลาดมากกว่าวิศวกร ดูเหมือน ม.ล.ชัยวัฒน์ เข้าใจเป็นอย่างดีว่า กลยุทธ์ง่าย ๆ คือการสร้างความกระหึ่มให้แก่บริษัทคอมพิวเตอร์อันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งยังมิอาจกล่าวได้ว่า มีชื่อคุ้นหูคนไทย

ความกระหึ่มประการแรก คือ ประกาศว่าจะเป็นที่ 1 แทนไอบีเอ็ม ภายในปี 2000 สร้างความคึกคักให้แก่วงการคอมพิวเตอร์ยิ่งนัก นี่เป็นการวางเป้าหมายสูงซึ่งก่อให้เกิดความกระตือรือร้น และความกดดันแก่พนักงาน แต่มันก็เป็นสไตล์ฝรั่งที่มีความหมายระหว่างบรรทัดว่า ถ้าไม่แน่จริง ไม่ขยันขันแข็งจริง คุณก็คงก้าวหน้าที่ดิจิตอลไม่ได้

สำหรับคลาดที่เบียดอัดกันแน่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องโน้ตบุ๊ค เดสก์ท็อป เวิร์กสเตชั่น เซิร์ฟเวอร์ แม้กระทั่งการขายชิป กลยุทธ์ในทำนองนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะนำมาใช้เสมอ แต่บ่อยครั้งก็เป็นการวางกับดักตนเอง

คำพูดเป็นนายตนเอง ม.ล.ชัยวัฒน์ คงไม่จ๊าบเกินไปจนไม่เคยได้ยินภาษิตข้อนี้

ชัยวัฒน์ ในสไตล์ผู้บริหารอารมณ์ดีกล่าวว่า "วนารักษ์เขาโทรมาแสดงความยินดีกับผม ผมก็บอกกับเขาว่า คุณไม่ต้องไปคิดอะไรมากหรอก เมื่อถึงปี 2000 ซึ่งดิจิตอลเป็นที่ 1 แทนไอบีเอ็ม ในเวลานั้นคุณก็คงออกจากตำแหน่งเอ็มดีไอบีเอ็มแล้ว"

วนารักษ์ คนนี้ก็คือวนารักษ์ เอกชัย กรรมการผู้จัดการไอบีเอ็มประเทศไทยนั่นเอง ฟังถ้อยคำแบบอารมณ์ดีของ ม.ล.ชัยวัฒน์แล้ว ไม่รู้ว่า "คุณโจ" จะต้องฝืนยิ้มหรือไม่ แต่ทั้งสองคนก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนไดบีเอ็มมาด้วยกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ ม.ล.ชัยวัฒน์ สร้างความกระหึ่มขึ้นมาคือ การคิดจะย้ายออฟฟิศใหญ่ย่านบางนาเข้ามาอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันดิจิตอลมีออฟฟิศใหญ่อยู่ที่ หมู่ 14 ถนนบางนา-ตราด กม.6 ตำบลบางแล้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายขาย ศูนย์ฝึกอบรมลูกค้า ศูนย์บริการซ่อมบำรุงรักษา สำนักงานกรรมการผู้จัดการ ความห่างไกลขนาดนี้ไม่ว่านักข่าวหรือลูกค้า ต่างบ่นกันพึมว่า ไม่รักกันจริงไม่ไปหาหรอก

ดังนั้นเหตุผลที่ ม.ล.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า "ต้องการย้ายออฟฟิศ เพื่อใกล้ชิดลูกค้า และบริการลูกค้า ส่วนที่บางนาจะคงหน่วยงานไว้ส่วนหนึ่ง" นับว่าเป็นแนวคิดที่น่าเลื่อมใส

เหนืออื่นใด การเข้ามาบริหารของเขาแสดงว่า ดิจิตอลถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ จากบริษัทเทคโนโลยี เป็นบริษัทการตลาดอย่างเต็มตัว จึงต้องเลือกนักการตลาดซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเข้ามาบริหาร

รายได้สำคัญของดิจิตอลนั้นอยู่ที่ตลาดองค์กร ไม่ใช่ตลาดคอนซูเมอร์ และวิธีการขายของดิจิตอลนั้นก็เน้นที่การขายระบบ จึงต้องการผู้บริหารท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์กว้างขวาง พูดกับคนไทยรู้เรื่อง ในขณะเดียวกันก็พูดกับฝรั่งแล้วเข้าใจ

คุณลักษณะเด่นของ ม.ล.ชัยวัฒน์คือ เคยอยู่ในวัฒนธรรมฝรั่งเช่น ไอบีเอ็ม และอยู่ในสไตล์ท้องถิ่น เช่นสยามกลการ นับว่าเข้าตาดิจิตอลทีเดียว นอกจากนี้เขายังมีความชำนาญในเรื่อง EXHIBITION และการทำ ROAD SHOW ทั้งยังเคยประสบความสำเร็จในการขายเป็นล็อตใหญ่ เช่น ในสมัยอยู่ไอบีเอ็ม เคยทำโปรเจ็กต์ที่สยามกลการและบริษัทในเครือ มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท

ผู้บริหารท้องถิ่นของดิจิตอลในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ล้วนทำให้ดิจิตอลเติบโตกันแบบก้าวกระโดด ในอินโดนีเซียขยายตัว 60% ในมาเลเซียขยายตัว 80% ดังนั้นการที่จะฝากความหวังไว้ว่า ม.ล.ชัยวัฒน์จะทำให้ยอดขายของดิจิตอลเพิ่มขึ้นอีก 50% จึงไม่น่าที่จะเป็นฝันไกลนัก เพราะมอบอำนาจหน้าที่ให้เต็มที่ บริษัทแม่เพียงแต่เขียนไกด์ไลน์ให้เท่านั้นเอง

นี่เป็นไพ่เด็ดอีกใบหนึ่งของดิจิตอล ซึ่งเป็นเสมือนคนเรียนดีมาโดยตลอด กล่าวคือมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ล้ำเลิศจนลูกค้าต้องง้อและต้องวิ่งเข้าหา ไม่ต่างจากฮิวเลตต์ แพคการ์ด ไอบีเอ็ม และแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ในอดีต

บริษัทเหล่านี้ต่างเป็นบริษัท R&D มีการตั้งงบประมาณทางด้านนี้ไว้สูงมาก คือ 10-20% เนื่องจากเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีที่สูงส่งทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ จะช่วยเพิ่มจอดขายในตลาด แต่การตลาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็ได้ตอกย้ำชัดเจนว่าเทคโนโลยีล้ำเลิศอย่างเดียวไม่ช่วยให้เป็นผู้ชนะ แต่อาจจะทำให้ขาดทุนและพ่ายแพ้ได้

ตัวอย่างที่เห็นดันได้อย่างชัดเจนก็คือ แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ แม้การเป็นระบบปิดที่มีเทคโนโลยีเหนือใคร ทั้งในเรื่องชิป และระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จะทำให้แอปเปิ้ลได้มาร์จิ้นสูงในระยะแรก เพราะขายในราคาแพง แต่เมื่อเทคโนโลยีเริ่มตามกันทัน ในขณะที่ค่ายอื่นมีราคาถูกกว่า ก็เท่ากับแอปเปิ้ลทำร้ายตัวเองในแบบโดมผู้จองหองนั่นเอง

สิ่งสำคัญคือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการตลาด และเกมการตลาดมากกว่า เพราะทุกวันนี้ยุคสมัยที่ตลาดเป็นของผู้ขายนั้นหมดไปแล้วจากวงการคอมพิวเตอร์

ดิจิตอลเริ่มมีจำหน่ายในไทยในปี 1987 และตั้งสำนักงานประจำประเทศไทยขึ้นในปี 1988 สินค้าของดิจิตอลนั้นได้แก่คอมพิวเตอร์ในตระกูล PDP VAX DEC ALPHA AXP ซึ่งมีขีดความสามารถตั้งแต่การใช้งานส่วนบุคคล ไปจนถึงเครื่องเมนเปรมสำหรับองค์กรขนาดใหญ่

ดิจิตอลเฟื่องฟูมาตลอดในตลาดการเงินการธนาคารอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งยังเป็นบริษัทที่ออกแบบซอฟต์แวร์ และเชี่ยวฃาญระบบเน็ตเวิร์กอีกด้วยแต่การที่มีคู่แข่งหนาแน่นก็ทำให้ผู้นำเทคโนโลยีแบบดิจิตอล เริ่มต้องสั่งสมฝีมือด้านการตลาด ทั้งนี้ ชิปอัลฟ่าซึ่งเป็นชิปที่เร็วที่สุดของดิจิตอล ก็ไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง

ดังนั้น ม.ล.ชัยวัฒน์ จึงต้องเปลี่ยนบริษัท R&D แห่งนี้ให้เป็นบริษัทการตลาด โดยการเดินเกมรุก อาศัยสายสัมพันธ์เพื่อสร้างเม็ดเงินจากการขายเป็นระบบ ปัญหาของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี คือ เมื่อเทคโนโลยีที่ตนเองผลักดันออกมาไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่อยากที่จะยุบสายงานที่เกี่ยวข้องทิ้ง เพราะเสียดายงบวิจัยพัฒนาที่ลงไปแล้วมหาศาล จึงต้องเดินเกมยุทธศาสตร์ขายเป็นระบบ เพื่อให้โปรดักส์ทุกตัวเกื้อหนุนกัน

"ผมไม่หนักใจในการประกาศให้ดิจิตอลเป็นที่ 1 เพราะเรามีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ที่เหลืออยู่ก็คือการเข้าถึงลูกค้าแนะนำให้เขารู้จัก และสร้างความกระหึ่มขึ้นมาให้ได้ ต่อไปคนจะต้องจดจำชื่อดิจิตอลได้เหมือนกับไอบีเอ็ม"

สิ้นปีงบประมาณที่ผ่านมา ดิจิตอลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีการเติบโตทางธุรกิจคือ อัลฟ่าเซิร์ฟเวอร์ 55% เวิร์กสเตชั่น 250% ธุรกิจครบวงจรรวมระบบ 60% พีซี 27% บำรุงรักษา 40%

นี่เป็นภาพจำลองที่พอเทียบเคียงกับประเทศไทยได้ ซึ่งแผนงานของชัยวัฒน์ก็คือการขายเป็นระบบเคียงคู่ไปกับการมีพันธมิตรชั้นนำอย่างออราเคิล ไมโครซอฟท์ และแน่นอนว่าจะต้องนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้กับสินค้าและการขายด้วย

ก็แค่ข้ามเดือนเองที่ ม.ล.ชัยวัฒน์เข้าไปชิมลางที่ดิจิตอล

อันที่จริง ภารกิจของเขาน่าจะเป็นเรื่องภายในมากกว่าเรื่องภายนอก นั่นคือการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับการเป็นนักการตลาดมากขึ้น นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนการแถลงข่าวอย่างแน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.