อยู่แบบรักษ์ธรรมชาติกับงานสถาปนิก’ 49

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงทุกวันและกำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก อาจดูเป็นข้อจำกัด แต่ก็เป็นความท้าทายที่ปลุกให้แวดวงสถาปนิก
ตื่นขึ้นมาระดมสมอง เพื่อตอบคำถาม "อยู่อย่างไรให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ"

ไม่นานมานี้ ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นจนทะลุ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 20 กว่าปี ความตื่นตัวในการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็เหมือนจะพัดหวนกลับมาเป็นกระแสหลักในวงสังคมได้อีกระลอก

งานสถาปนิก'49 จึงชูแนวคิด "ก้าวอย่างสมดุล" เป็นอีกหนึ่งแรงที่ร่วมจุดประกายให้ประชาชนหันมาใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ ผ่านงานสถาปัตยกรรมที่ใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ถ่ายทอดถึงผลึกทางความรู้และจิตสำนึกของสถาปนิก ผสมอย่างลงตัวกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในตัวสินค้า

แนวคิดดังกล่าวถูกสื่อสารอย่างหนักผ่านหลากหลายนิทรรศการ และสัมมนาที่ถูกจัดขึ้นในปีนี้ เช่น หัวข้อ "บ้านประหยัดพลังงาน" หรือ "Energy Efficiency in the Residential and Commercial Buildings : sharing the French experience" เป็นต้น

ขณะที่หลายคนกำลังมองหาพลังงานทดแทนมาใช้แทนน้ำมัน ทั้งก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ หรือกระทั่งพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงระดับโลก เหล่านี้ล้วนแต่แสดงถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนอันเป็นข้อจำกัดสำคัญ

"ไม้" ก็คงมีนัยไม่ต่างกันสำหรับแวดวงสถาปนิก เพราะไม้ถือเป็นวัสดุที่ไม่เคยสร่างซาความนิยมในวงการก่อสร้าง ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

สำหรับผู้ที่หลงใหลเสน่ห์ลวดลายและความอบอุ่นแห่งไม้ แต่ก็ตระหนักดีถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม "ผู้จัดการ" ขอเสนอทางเลือกเป็นวัสดุทดแทนไม้ ผลิตผลแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เห็น แล้วลืมไม้จริงไปเลย

ไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด หรือ "ไม้สังเคราะห์" ที่นำเอาความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่มีความทนทานเหนือไม้จริง มาเป็นจุดขายสำคัญ ซึ่งปีนี้ผู้ผลิตต่างก็แข่งกันตกแต่งบูธสร้างให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกเลียนแบบไม้ธรรมชาติ และทำให้ครบทุกฟังก์ชันของไม้จริงที่สุด

นำขบวนมาโดย "เฌอร่า" ของกลุ่มมหพันธ์ ตกแต่งเป็นเรือนไม้ในละครไทยย้อนยุค โดดเด่นด้วยช่องลมฉลุลายและไม้เชิงชายลวดลายอ่อนช้อย จนดูเผินๆ นึกว่าไม้จริง ถัดไปไม่ไกล เฌอร่ายังนำเอาไม้เฌอร่าฉลุลวดลายใหม่มาตกแต่งในซุ้มดำ เล่นแสงเงาเพิ่มความโมเดิร์นอวดสายตาผู้ชม

พร้อมเปิดตัว "หลังคาปีกไม้เฌอร่า" ที่ถอดแบบมาจากหลังคาปีกไม้ธรรมชาติ เสนอเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มสถาปัตยกรรมสไตล์รีสอร์ต ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุธรรมชาติ

"คอนวูด" จากปูนซีเมนต์นครหลวง ยกทัพไม้สังเคราะห์มาจัดตกแต่งเป็นสวนหย่อมในบริเวณบ้าน ตอกย้ำคุณสมบัติของไม้สังเคราะห์ที่เหนือกว่าไม้จริง โดยเฉพาะในงาน outdoor ที่ทนแดด ทนฝน ทนปลวก และทำความสะอาดได้ง่าย

ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างเครือซิเมนต์ไทยก็เปิดบ้านหลังน้อยที่ประกอบขึ้นจาก "ไม้ฝาตราช้าง" เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยข้อแนะนำในการนำสารพัดสินค้าตราช้างไปใช้สร้างบ้านให้เย็นสบาย โดยไม่ต้องเปลืองแอร์

นอกจากนี้ยังมี "วีว่าบอร์ด" ผลิตภัณฑ์ไม้อัดซีเมนต์จากกลุ่มวิบูลย์วัฒนอุตสาหกรรม และยังมีผู้นำเข้าแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ชื่อ Eterpan จากเบลเยียม มาเพิ่มความหลากหลายให้กับตลาดไม้สังเคราะห์ของไทย

กลุ่มต่อมาคือ "ไวนิล" โดยผู้เล่นรายสำคัญในตลาดนี้ก็คือ Windsor

อานิสงส์ของกระแสรักษ์ธรรมชาติ ช่วยเสริมให้บ้านไวนิลหลังใหญ่ที่จำลองมาทั้งภายในและรอบบริเวณบ้านดูน่าสนใจมากขึ้น บวกกับเทคนิคสร้างลายไม้บนไม้ฝาไวนิล พื้นยางเลียนแบบไม้ และราวระเบียงที่ให้อารมณ์เหมือนไม้จริง ยิ่งกระตุ้นให้หลายคนแวะเข้าไปจับไปเคาะ

สุดท้าย "กระเบื้อง" เป็นอีกวัสดุตกแต่งที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนออยู่ทุกปี "คอตโต้" ในฐานะผู้นำกระเบื้องได้เปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ในงานนี้อีกเช่นเคย (รายละเอียดอ่าน "แรงบันดาล ใจบนกระเบื้อง Cotto")

ความน่าสนใจของกลุ่มกระเบื้องในปีนี้ก็คือ หลายค่ายทั้งที่เป็นผู้ผลิตไทยและผู้นำเข้า ต่างตบเท้านำเอากระเบื้องลายไม้มาจัดโชว์ภายในบูธ บ้างปูเป็นผนัง บ้างปูเป็นพื้น บ้างก็ทำเลียนแบบโต๊ะ เลียนแบบไม้จริงได้อย่างแนบเนียน จนหลายคนไม่ไว้ใจสายตา ต้องยื่นมือไปลูบคลำ บางแบรนด์สัมผัสไปแล้วยังต้องถามย้ำกับพนักงานอีกถึงจะมั่นใจ

นอกจากปริมาณสินค้าทดแทนไม้ที่มีให้เลือกหลากหลาย ดัชนีที่น่ายินดีอีกประการคงเป็นกระแสความสนใจจากสถาปนิกที่มีให้เห็นไม่ขาดสาย

และอีกสิ่งดีๆ ที่เห็นได้ชัดเจนในงานสถาปนิกปีนี้ก็คือ แบบบ้านภายใต้แนวคิด "ด้วยรักและผูกพัน" ที่ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชั้นนำ 15 แห่ง ที่มีแปลนบ้านแจกให้ฟรี (จ่ายแต่ค่าถ่ายเอกสาร) ซึ่งแบบบ้านส่วนใหญ่เป็นแบบบ้านประหยัดพลังงาน โดยมีผู้ชมงานรอถ่ายสำเนากันอย่างล้นหลาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.