สุรวุฒิ บูลกุล อีกหนึ่งบูลกุลกับธุรกิจนมแพะ

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วันนี้ ถ้าให้นึกถึงนมแพะ หลายคนคงนึกถึงแต่ชื่อ "นมแพะศิริชัย" แต่น้อยคนที่รู้ว่าฟันเฟืองสำคัญของความสำเร็จนี้ชื่อ "สุรวุฒิ บูลกุล" หลานอาคนสนิท ผู้ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจาก "ศิริชัย บูลกุล" นักธุรกิจรุ่นลายครามที่ยังไม่ยอมถอดลายให้สืบสานบิ๊กโปรเจ็กต์

ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ในจังหวัดที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุดในประเทศไทย อย่างกาญจนบุรี สีเขียวของภูเขาก็ยังไม่ทำให้หายเหนื่อย จนกระทั่งได้เห็นความน่ารักของฝูงแพะสีขาว จึงลืมความร้อนไปได้ชั่วขณะ

ณ ฟาร์มแพะของบริษัทมาบุญครอง แดรี่ โกทส์ ตั้งอยู่ติดแม่น้ำแควน้อย ในเขตอำเภอทองผาภูมิ คือจุดเริ่มต้นกระบวนการผลิตนมแพะศิริชัย และเป็นก้าวแรกที่ "ผู้จัดการ" ได้เริ่มทำความรู้จักกับชายคนนี้

สุรวุฒิ บูลกุล เป็นบุตรชายของศุภชัย พี่ชายของศิริชัย เจ้าของโปรเจ็กต์ธุรกิจนมแพะ และอีกหลายธุรกิจ แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นการเป็นผู้ก่อตั้ง "มาบุญครองเซ็นเตอร์" ที่แม้ทุกวันนี้จะถูกเปลี่ยนมือเจ้าของไปแล้วก็ตาม

ทันทีที่กลับจากอเมริกาในปี 2525 สุรวุฒิก็ได้นำความรู้ปริญญาโททางด้านวิศวกรรมโยธา มาคุมการก่อสร้างมาบุญครองฯ อภิมหาศูนย์การค้า (ในขณะนั้น) ก่อนรับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ศูนย์อาหารเชลล์ชวนชิม บนชั้น 6 มาบุญครองฯ ซึ่งเป็น talk of the town จนมีบันทึกว่าระยะแรกที่เปิดศูนย์อาหารแห่งนี้มีเงินสะพัดถึงวันละล้านบาทเลยทีเดียว

บริหารศูนย์อาหารอยู่ดีๆ ปัญหาหนี้สินก็ทำให้มาบุญครองฯ ต้องเปลี่ยนคณะผู้บริหาร ศิริชัยจึงมอบหมายให้สุรวุฒิมาคุมการก่อสร้างสนามกอล์ฟ ซึ่งยุคนั้นยังถือว่าเป็นกิจการที่ใหม่มาก

เมื่อสนามกอล์ฟสร้างเสร็จ สุรวุฒิตัดสินใจออกจากอ้อมอกอาเป็นครั้งแรก เพื่อไปทำงานที่เขารู้สึกว่าเขาถนัด นั่นก็คือ งานบริหารพื้นที่ให้กับเสรีเซ็นเตอร์ จนกระทั่งศิริชัยส่งสัญญาณให้เขากลับมารับภารกิจใหม่ นั่นคือ ธุรกิจนมแพะ เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว

ถึงจะมีหลานหลายคน แต่สุรวุฒิดูจะเป็นหลานรักที่มักถูกมอบภารกิจผู้ริเริ่มและดูแลโปรเจ็กต์สำคัญๆ ที่ศิริชัยมุ่งมาดจะปลุกปั้นให้ยิ่งใหญ่อยู่เสมอๆ

"ตอนแรกผมก็นึกว่าท่าน (ศิริชัย) มองเป็นงานอดิเรก เพราะท่านก็อายุ 60 กว่าแล้ว น่าจะ enjoy ชีวิตได้แล้ว เพราะท่านก็มีธุรกิจเม็ดมะม่วงหิมพานต์ สนามกอล์ฟ สปา และโรงแรม แต่ท่านก็ยังมีไฟ อยากทำธุรกิจนมแพะ แล้วก็ไม่เอาเล็กๆ ท่านมองยอดขายถึงห้าแสนขวด เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผมก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะทำได้ยังไง

เริ่มต้นผมก็ยังแปลกใจทำไมท่านมองนมแพะ แต่พอศึกษาหาข้อมูล ก็รู้ถึงจุดเด่นด้านคุณประโยชน์ ยิ่งพอรู้ว่าเมืองนอกมีแพะที่ให้นมได้ดี ก็เลยเชื่อว่าธุรกิจนี้มีศักยภาพที่จะไปได้" สุรวุฒิเล่าด้วยน้ำเสียงชื่นชมในวิสัยทัศน์ของอา

นมแพะศิริชัยเริ่มออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2547 ขณะที่บริษัทมาบุญครอง แดรี่ โกทส์ เริ่มก่อตั้งและพัฒนาระบบจัดการฟาร์มมาตั้งแต่ปี 2546

"เริ่มต้นทุกคนใหม่หมด ครั้นจะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็ไม่มี ไปดูต้นแบบจากต่างชาติ เขาก็ชำนาญเฉพาะประเทศเขา เจอสภาพบ้านเราเขาก็ทำอะไรไม่ถูก" สุรวุฒิเล่าย้อนความยากลำบากในฐานะผู้บุกเบิก

หาข้อมูลและตระเวนดูฟาร์มอยู่หลายแห่ง แพะพันธุ์ซาเนนตัวใหญ่ขาวอวบ "สุดยอดแห่งแพะนม" ก็เริ่มถูกนำเข้ามาจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน จากฟาร์มทดลองเนื้อที่ 11 ไร่ ที่ปทุมธานี กับแพะแค่ 300 ตัว กลายเป็นหลักพัน จนวันนี้มีแพะกว่า 7 พันตัว บนเนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ในกาญจนบุรี ถือว่าเป็นฟาร์มแพะที่ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เงินกว่า 300 ล้านบาท ลงทุนไปกับฟาร์มแพะและโรงงานพาสเจอร์ไรส์ เพื่อทำให้มาบุญครอง แดรี่ โกทส์ กลายเป็นผู้ผลิตนมแพะรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ขณะที่งานในระบบฟาร์มก็ดำเนินไป การทำตลาดนมแพะก็เป็นงานหนักอีกชิ้นที่ต้องทำคู่กัน

"ตอนทำศูนย์การค้า มันก็คืองานขายพื้นที่ พอมาทำนมแพะก็คือขายนม ก็ต้องใช้การตลาดเป็นหลักเหมือนกัน เพียงแต่นมแพะยังใหม่มาก และเป็นสินค้าอาหาร มันค่อนข้าง sensitive มาก ก็เลยอาจจะยากกว่า" สุรวุฒิเปรียบเทียบกับงานบริหารศูนย์การค้าที่เขามีประสบการณ์มากว่า 10 ปี

ความหินของการตลาดนมแพะอยู่ที่ทัศนคติติดลบของผู้บริโภค เพราะคนส่วนใหญ่ยังกลัวเรื่องความสะอาดปลอดภัย กลิ่นและรสชาติที่ไม่คุ้นเคยของนมแพะ

"สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ให้ความรู้กับเขาว่านมแพะมีประโยชน์แค่ไหน และต้องสร้างความมั่นใจว่านมแพะของเราได้มาตรฐาน ปลอดภัย พร้อมกับกระจายสินค้าให้เขาหาซื้อได้สะดวกที่สุด จะได้ไม่เสียโอกาส"

จากเดิมที่เคยสั่งซื้อได้ทาง call center และตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น วันนี้นมแพะศิริชัยหาซื้อได้ทั้งในคาร์ฟูร์ โลตัส และ 7-eleven จากที่เคยมีเพียงรสจืด วันนี้นอกจากเพิ่มรสน้ำผึ้ง และรสช็อกโกแลต นมแพะศิริชัยยังมีนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต และจากที่เคยเป็นเครื่องดื่ม นมแพะศิริชัยยังขยายไลน์ไปสู่สินค้าเครื่องสำอางยี่ห้อ GmK

สุรวุฒิยอมรับว่า ถ้านมแพะศิริชัยเกิดมาก่อนหน้านี้ วันนี้ก็อาจจะดับไปแล้วก็ได้ แต่เพราะกระแสห่วงใยสุขภาพที่ระบาดในเมืองไทยเมื่อ 2-3 ปีก่อน มีส่วนทำให้นมแพะเป็นที่ยอมรับเร็วขึ้น จากเริ่มต้นที่ขายได้ 1-2 พันขวดต่อวัน ก็เพิ่มมาถึง 1 หมื่นขวดเมื่อต้นปี 2548 และก็ขยับมาเป็น 2-3 หมื่นขวดต่อวันกลางปี 2548 ก่อนที่จะมาสะดุดเพราะโรคระบาดในแพะที่กระจายทั่วแถบภาคกลาง

อย่างไรก็ดี ก้าวสำคัญต่อไปก็คือนมแพะยูเอชที ซึ่งสุรวุฒิเชื่อมั่นว่าเฟสนี้จะทำให้นมแพะศิริชัยเป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้บริโภคระดับแมสได้กว้างขึ้น และถ้าเฟสนี้สำเร็จ นี่ก็หมายถึงวาระสำคัญที่ต้องขยายฟาร์มและโรงงาน เพื่อเตรียมพร้อมกับการโกอินเตอร์ของนมแพะศิริชัยในอนาคตไม่ไกลเกินที่ศิริชัยจะรอ

ซึมซับการทำงานจากอามาหลายปี สุรวุฒิก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ศิริชัยใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการเลือกจับธุรกิจ แต่สิ่งที่เขาเรียนรู้ได้จากสไตล์การทำงานของศิริชัยก็คือ

"ท่านเป็นคนมองไกล แล้วก็มองใหญ่ กล้าได้กล้าเสีย ถ้าตัดสินใจแล้วก็ต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด ซึ่งความกล้าได้กล้าเสียนี่แหละ ที่ผมยังเป็นได้ไม่ถึงท่าน เพราะผมยังต้องคิดนาน ส่วนท่านจะเร็วมาก แต่หลายๆ อย่างมันก็ใช่อย่างที่ท่านมองจริงๆ"

ธุรกิจนมแพะวันนี้ ก็คงเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้สุรวุฒิยิ่งเชื่อมั่นอาคนนี้มากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.