ตลาดอนุพันธ์เปิดแล้ว

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ราคาหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ส่อแววแกว่งตัวผันผวนยิ่งขึ้นหลังตลาดอนุพันธ์เปิดทำการ เหตุนักลงทุนต่างชาติและสถาบันเข้าเก็งกำไรข้ามตลาด

หลังจากที่ทำท่าว่าจะต้องเลื่อนวันเปิดทำการออกไปอีกครั้งจากสาเหตุของความไม่พร้อม สุดท้าย กิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของตลาดอนุพันธ์ ต้องออกมาประกาศไม่ยอมเลื่อนอีกแล้ว ทำให้ตลาดอนุพันธ์เปิดซื้อขายวันแรกได้เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา

บรรยากาศวันเปิดทำการนอกจากกิตติรัตน์แล้วยังมี ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปจนถึงผู้บริหารหน่วยงานด้านตลาดทุนของประเทศพร้อมหน้าทั้ง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการตลาดอนุพันธ์

การเปิดทำการตลาดอนุพันธ์เป็นความหวังของคนในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนที่จะใช้เป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน นอกเหนือจากโอกาสในการทำกำไร โดยตลาดอนุพันธ์นับเป็นพัฒนาการที่สำคัญของระบบการเงินต่อเนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เปิดทำการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 และการซื้อขายตราสารหนี้ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2547

SET 50 Index Futures เป็นสินค้าตัวแรกที่มีการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ โดยมีสัญญา 4 อายุด้วยกัน ได้แก่ สัญญาที่หมดอายุในเดือนมิถุนายน กันยายน ธันวาคม 2549 และมีนาคม 2550 สำหรับปริมาณการซื้อขายในวันแรกที่เปิดทำการยังซบเซา สอดคล้องกับการประเมินของบรรดาโบรกเกอร์ก่อนหน้านี้ที่เชื่อว่านักลงทุนจะรีรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อนที่จะเข้ามาทดลองลงทุน โดยวันแรกมีการซื้อขายทั้งสิ้น 161 สัญญา แบ่งเป็นสัญญาที่ครบกำหนดเดือนมิถุนายน 152 สัญญา กันยายน 8 สัญญา ธันวาคม 1 สัญญา ส่วนสัญญาในเดือนมีนาคม 2550 ไม่มีการซื้อขาย

เมื่อมองจากมุมของนักลงทุน ตลาดอนุพันธ์นอกจากจะมีความน่าสนใจในตัวเองแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอีกด้วย เนื่องจากความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET 50 จะส่งผลต่อราคา SET 50 Index Futures ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนต่างประเทศที่จะทำกำไรจากการลงทุนข้ามตลาด ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง

ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนซื้อ SET 50 Index Futures ไว้แล้วเข้าไล่ซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อดันดัชนี SET 50 ให้สูงขึ้นแล้วขายทำกำไรได้ทั้ง 2 ตลาด หรืออาจเป็นการขาย SET 50 Index Futures ไว้ก่อน แล้วไปขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อกดดัชนีให้ต่ำลง ก่อนจะซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อทำกำไรจาก SET 50 Index Futures

ด้วยเหตุนี้หุ้นขนาดใหญ่จึงมีโอกาสที่ราคาจะแกว่งตัวผันผวนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้ครบกำหนดสัญญา SET 50 Index Futures

"ผู้จัดการ" รวบรวมรายชื่อหุ้นขนาดใหญ่ 15 อันดับแรกในดัชนี SET 50 ซึ่งมีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 75% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดของดัชนี SET 50 เพื่อเปรียบเทียบราคาระหว่างวันที่ 27 เมษายน ซึ่งเป็นวันก่อนเปิดทำการตลาดอนุพันธ์และราคาหุ้นในวันที่ 18 พฤษภาคมเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นเหล่านี้และ SET 50 Index Futures ก่อนครบกำหนดงวดมิถุนายน 2549

SET 50 Index Futures งวดมิถุนายน 2549 มีการปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ที่เริ่มเปิดให้ซื้อขายสะท้อนถึงความคิดของนักลงทุนที่เชื่อว่าดัชนี SET 50 ในเดือนมิถุนายนจะมีการปรับตัวลงจากช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลมาสู่ราคาหุ้นขนาดใหญ่ใน SET 50 ที่มีการปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่ โดยในช่วงเวลาตั้งแต่ 28 เมษายนถึง 18 พฤษภาคม มีหุ้นขนาดใหญ่ใน 15 อันดับแรกของดัชนี SET 50 เพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นคือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ที่ราคาเพิ่มขึ้น 6.78% และท่าอากาศยานไทย ราคาเพิ่มขึ้น 8.7%

ส่วนหุ้นที่ราคาปรับลดลงมากที่สุดได้แก่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ราคาลดลง 15.2% และปูนซีเมนต์นครหลวง ราคาลดลง 14.89%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.