|
โรงกลั่นค่าย ปตท.
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ในยุคน้ำมันแพงเช่นปัจจุบันถือเป็นโอกาสดีสำหรับโรงกลั่นน้ำมันระยอง ที่จะอาศัยจังหวะนี้เข้าตลาดหุ้น เพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนขยายธุรกิจตามที่วางแผนเอาไว้
บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) ระดมทุนโดยการขายหุ้นจำนวนทั้งสิ้น 1,379.5 ล้านหุ้น แบ่งให้นักลงทุนรายย่อย 479.5 ล้านหุ้น นักลงทุนสถาบันในประเทศ 220 ล้านหุ้น ส่วนที่เหลือเป็นของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเตรียมหุ้นสำหรับการจัดสรรส่วนเกิน (Greenshoe Option) ในกรณีที่นักลงทุนให้ความสนใจมากกว่าที่เตรียมไว้อีก 200 ล้านหุ้น
หลังจากการกระจายหุ้นครั้งนี้จะทำให้ ปตท.ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันระยอง จาก 99.99% เหลือประมาณ 46.66% โดยมีระยะเวลาห้าม ปตท.ขายหุ้นส่วนที่เหลือในเวลาหนึ่งปีครึ่ง นอกจากนี้ในสัญญากู้เงินของโรงกลั่นน้ำมันระยองยังมีเงื่อนไขที่กำหนด ให้ ปตท.ต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 45%
โรงกลั่นน้ำมันระยองก่อตั้งขึ้นในปี 2535 โดยมีเชลล์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 64% และ ปตท.ถือหุ้น 36% ด้วยงบลงทุนในขณะนั้น 2,250 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินกู้ 1,500 ล้านดอลลาร์และทุน 750 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ก่อสร้างเสร็จและเริ่มทำการผลิตได้เพียงไม่นาน รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้บริษัทประสบปัญหาทางการเงิน จนต้องปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งในที่สุด ปตท. ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากเชลล์และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงผู้เดียว
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ที่เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลการขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมันระยองกล่าวเน้นย้ำอยู่หลายครั้งว่า สัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท. ในโรงกลั่นน้ำมันระยองภายหลังการเข้าตลาดหุ้นยังมีจำนวนมากกว่าการถือหุ้นเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งบริษัท ดังนั้นการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้จึงไม่ใช่การลดสัดส่วนหุ้นของ ปตท. แต่อย่างใด
ธุรกิจหลักของโรงกลั่นน้ำมันระยอง ได้แก่ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป โรงกลั่นของบริษัทมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 145,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 14.3% ของกำลังการกลั่นทั้งหมดของไทย โดยเงินที่ได้จากการขายหุ้นในครั้งนี้จะนำไปใช้ขยายกำลังการผลิตมูลค่าโครงการรวมประมาณ 560 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้บริษัทเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 65,000 บาร์เรลต่อวัน และยังสามารถผลิตรีฟอร์เมต ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมีส่งต่อให้บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อีกด้วย
โครงการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2551 โดยไม่มีความเสี่ยงในเรื่องการหาวัตถุดิบและการตลาดแต่อย่างใด เนื่องจาก ปตท.เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้ทั้ง 100% ขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้จากโครงการนี้ทั้งรีฟอร์เมตและน้ำมันสำเร็จรูปจะจำหน่ายให้กับอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) และ ปตท.ทั้งหมด
ผลการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมันระยองถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 89,215 ล้านบาทในปี 2546 มาเป็น 117,106 ล้านบาท และ 142,766 ล้านบาทในปี 2547 และ 2548 ตามลำดับ ขณะที่ไตรมาส 1 ปีนี้มียอดขายจำนวน 44,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว 35%
ส่วนของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติเพิ่มขึ้นจาก 3,991 ล้านบาทในปี 2546 มาเป็น 7,616 ล้านบาทและ 6,568 ล้านบาทในปี 2547 และ 2548 โดยสาเหตุที่กำไรของปีที่แล้วลดต่ำลงเป็นผลมาจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงไตรมาส 4 เป็นเวลา 36 วัน
"การซ่อมใหญ่จะทำทุก 4 ปี ครั้งต่อไปในปี 2010 เพราะฉะนั้นจนถึงตอนนั้นจะไม่มีการ shutdown ใหญ่ เลยสามารถกลั่นได้เต็มที่" ชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่โรงกลั่นน้ำมันระยองกล่าว
สำหรับกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติงวดไตรมาสแรกปีนี้มีจำนวน 2,337 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว 43%
นโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจของโรงกลั่นน้ำมันระยอง จะยังคงเน้นที่การกลั่นน้ำมันเป็นธุรกิจหลัก โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากอายุโรงกลั่นเพียง 10 ปี ถือว่ามีความทันสมัยและเป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศที่ใช้น้ำมันดิบจากตะวันออกกลางในการกลั่นได้ทั้ง 100% ขณะเดียวกันการขยายการลงทุนจะพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 15% ขึ้นอยู่กับลักษณะการลงทุนของแต่ละโครงการ
ชายน้อยกล่าวถึงจุดเด่นของโรงกลั่นน้ำมันระยองตั้งแต่มี ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้การสนับสนุนทั้งการจัดหาวัตถุดิบ 100% ตามราคาตลาดและยังรับซื้อน้ำมันสำเร็จรูปในสัดส่วน 80% ที่ราคาตลาดในประเทศ นอกจากนี้ความต้องการน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์สูง ทั้งในประเทศและทั่วโลก ขณะที่การเพิ่มซัปพลายยังต้องใช้เวลา เนื่องจากการสร้างโรงกลั่นใหม่ต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|