ดอกเบี้ยแพง หากจะกู้ควรทำอย่างไรดี

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อตลาดยังมีปัจจัยความเสี่ยงมารุมล้อม ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าแบงก์จะเพิ่มความถี่ถ้วนในการพิจารณาเงื่อนไขแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้กู้ก่อนอนุมัติสินเชื่อ และระดับความเข้มข้นนี้อาจเป็นเรื่องที่ผู้ยื่นขอเงินกู้ควรคำนึงถึงให้มาก

เป็นเวลา 5 เดือนมาแล้วที่นวรัตน์ สาวโสดวัย 29 ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานการเงินแผนกบัญชีในบริษัทข้ามชาติ ต้องรัดเข็มขัด ยอมหั่นค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ไม่จำเป็นลง เพราะแต่ละเดือนเธอต้องผ่อนดาวน์ห้องชุด และต้นปีหน้า เธอก็ต้องยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารแล้ว แม้ยังไม่รู้ว่าดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไร แต่คาดว่าอย่างไร ก็คงต้องจ่ายแพง

ในภาวะอัตราดอกเบี้ยแพง การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจเข้มงวดขึ้นกว่าแต่ก่อน เดือนนี้จึงเป็นเดือนเริ่มต้นที่นวรัตน์อาจต้องเฉือนค่ากินค่าเที่ยวลงมาอีก เพื่อให้แน่ใจว่าในแต่ละเดือนเธอจะรักษาสัดส่วนเงินออมต่อค่าใช้จ่ายของเธอไว้ได้ที่ 60 ต่อ 40 จากที่ราคาสินค้าต่างๆ อาจมีราคาแพงขึ้น เพราะตรงนี้ ถือเป็นพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้กู้ที่ธนาคารต่างๆ จะนำมาเป็นเงื่อนไขในอนุมัติสินเชื่อ

โดยยังไม่นับรวมเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจมีตามมา เช่นความมั่นคงของบริษัทที่ผู้กู้ทำงาน ซึ่งในเวลานี้เจ้าหน้าที่ประจำสาขาของธนาคารกรุงเทพบอกเธอว่า ธนาคารคงต้องหันมาดูเงื่อนไขตัวนี้บ้างแล้ว เพราะต้นทุนภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นอย่างแรง จากนโยบายดอกเบี้ยสูงต่อเนื่องของทางการ เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จากแรงดันน้ำมันที่มีราคาแพงต่อเนื่องหลายรอบ

นวรัตน์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่จะขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อขนาดไหน ทั้งยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรอีกบ้างที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เธอจึงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าพยายามยึดวินัยการใช้จ่ายไว้อย่างเหนียวแน่นหลังจากที่เธอเริ่มมีภาระหนี้สินแล้ว

แต่ไหนแต่ไรมา เธอไม่เคยอยากรู้เงื่อนไขแคมเปญเงินกู้ซื้อบ้านอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งที่เป็นเวลาหลายปีแล้วที่แคมเปญแบบนี้ถือเป็นเทรนด์หลัก ซึ่งธนาคารพาณิชย์และผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยผูกขึ้นเป็นความร่วมมือ เพื่อปลุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เคยซบเซาอย่างหนักจากยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก และสร้างฐานสินเชื่อรายย่อยในธนาคารที่ยังเข็ดกับหนี้เสียจากการปล่อยกู้ธุรกิจรายใหญ่ในยุคเฟื่องฟู

กระทั่งปลายปีก่อน ที่เธอตัดสินใจซื้อห้องชุดราคาล้านต้นๆ จากโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งเปิดตัวขึ้นแถวๆ ส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นวรัตน์ผู้ไม่เคยคิดกู้เงินธนาคารพาณิชย์ กลับต้องมาใช้วันหยุดสุดสัปดาห์กับการเดินเข้าออกตามสาขาของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเปิดให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า เพื่อขอดูเงื่อนไขสินเชื่อแคมเปญเงินกู้ซื้อบ้านอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และลองขอคำแนะนำด้านการเลือกใช้บริการจากเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์

เจ้าหน้าที่ที่สาขาธนาคารไทยพาณิชย์บอกเธอว่า การจะตัดสินใจเลือกแคมเปญแบบใดนั้นขึ้นกับมุมมองการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของตัวผู้กู้เอง และหากใครที่เชื่อว่าดอกเบี้ยจะยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป ก็ควรเลือกแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ให้ระยะเวลาในการคงดอกเบี้ยยาวที่สุด เพราะจะช่วยให้ผู้กู้ตัดยอดเงินต้นลงอย่างเท่ากันทุกๆ เดือนในช่วงต้นของการผ่อนส่งค่างวด

แต่หากเชื่อว่าดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาลงแล้ว ควรเลือกแคมเปญดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เพราะจะช่วยให้มีเงินส่วนเกินจากดอกเบี้ยที่ลดลง มาช่วยลดยอดส่วนที่เป็นเงินต้นลงได้อีก หากดอกเบี้ยลงมาอย่างที่คาด

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รายเดียวกันนี้แนะนำแบบอ้อมๆ ว่า หากเป็นเขาที่ต้องเป็นผู้กู้ในภาวะเช่นนี้ ดอกเบี้ยคงที่ที่มีระยะเวลาไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไปถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า เมื่อดอกเบี้ยขึ้นไปจนสุดแล้ว อาจจะมีโอกาสลดลง

ความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งต้องเพิ่มความถี่ในการปรับดอกเบี้ยในแคมเปญหลักที่แต่ละแห่งนำมาเสนอขายแก่ลูกค้าทั่วไป บางแห่งจะปรับทุกๆ 3 เดือน แต่บางแห่งอาจปรับทุกๆ 1 เดือน

แต่โดยรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะพวกรายใหญ่จะไม่ต่างกันมากนัก เพราะแต่ละค่ายต้องรักษาตลาดของตัว ส่วนที่อาจทำให้ต่างกันได้คือ รายละเอียดเงื่อนไขการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในโครงการที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์แต่ละราย ซึ่งปกติจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าลูกค้า walk in โดยทั่วไปในแคมเปญเดียวกันราว 0.25-0.5% ขึ้นกับเกรดและขนาดของโครงการ

สำหรับแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษสินเชื่อบ้านของไทยพาณิชย์ ที่ใช้ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าในโครงการที่ไทยพาณิชย์สนับสนุนสินเชื่อและลูกค้าขาจรนั้น ปัจจุบันยังอยู่ที่ 2 รูปแบบ คือ

แบบแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี คิดที่ 4.25%, ปีที่ 2 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1.25% และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไปจะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR+0.75%

แบบที่ 2 อัตราดอกเบี้ยลอยตัวแบบขั้นบันได โดยปีแรก คิด MLR-1.75%, ปีที่ 2 MLR-0.75 และปีที่ 3 เป็นต้นไป คิด MLR +0.75%

อัตราดอกเบี้ยในทั้ง 2 แคมเปญนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ จากนั้นธนาคารจะประกาศใช้เรตใหม่ใน 2 แคมเปญนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยปกติแล้วไทยพาณิชย์จะทิ้งช่วงการปรับดอกเบี้ยในแคมเปญทุกๆ 3 เดือน

ขณะที่เจ้าหน้าที่สาขาธนาคารกสิกรไทยบอกว่า แคมเปญเงินกู้อัตราพิเศษที่กสิกรไทยใช้อยู่นั้น ในทุกๆ เดือนจะปรับเรตดอกเบี้ยขึ้นใหม่

รูปแบบแคมเปญของกสิกรไทย ซึ่งใช้ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.2549 กำหนดเงื่อนไขสำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยใน 3 เดือนแรก ใช้ดอกเบี้ยคงที่ 2% จากนั้นใช้เป็นดอกเบี้ยลอยตัวที่เลือกได้ใน 3 รูปแบบคือ

แบบที่ 1 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว 1 ปี (ตั้งแต่เดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 12) ใช้ MLR-2.50%

แบบที่ 2 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว 2 ปี (ตั้งแต่เดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 24) ใช้ MLR-1.50%

แบบที่ 3 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว 3 ปี (ตั้งแต่เดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 36) ใช้ MLR-1% โดยหลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ MLR-0.25

ส่วนที่สาขาของธนาคารกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ประจำสาขาบอกว่า ดอกเบี้ยในแคมเปญสินเชื่อบ้านบัวหลวง ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ จะมีทางเลือกอยู่ 4 ทางเลือก คือ

ทางเลือกที่ 1 ดอกเบี้ยคงที่ 1.5% เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นใช้ดอกเบี้ยตามเรต MLR

ทางเลือกที่ 2 ดอกเบี้ยคงที่ 2 ปี โดยปีที่ 1 ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ 5.5% และปีที่ 2 ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.5% จากนั้นใช้เรตตาม MLR

ทางเลือกที่ 3 ดอกเบี้ย MLR-1.5% เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นใช้อัตราดอกเบี้ยตาม MLR

ทางเลือกที่ 4 ดอกเบี้ย MLR-1.75 ในปีที่ 1, ปีที่ 2 ใช้ดอกเบี้ย MLR-1 และปีที่ 3 ดอกเบี้ย MLR-0.5% จากนั้นใช้เรต MLR ปกติ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาขาของธนาคารกรุงเทพชี้ว่า ในภาวะแบบนี้ทางเลือกที่ 2 ของแคมเปญถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเธอให้เหตุผลเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารไทยพาณิชย์ว่า เป็นทางเลือกที่ให้ความนอนใจได้ว่า จะช่วยให้ลูกค้าตัดต้นเงินงวดได้มากกว่า เพราะไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มเป็นเท่าไรในตลาดก็ตาม จะไม่มีส่วนเพิ่มของดอกเบี้ยเข้าไปกินส่วนของเงินต้นที่ต้องส่งในแต่ละเดือน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.