|
TPI ดีลประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึก
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่มากมายในการปรับโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนานเกือบ 10 ปี จนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอ จึงได้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง
ปัจจุบันสถานะของทีพีไอ ธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีครบวงจร ที่เคยโด่งดังระดับภูมิภาค ตั้งแต่ก่อนและหลังประกาศล้มละลาย ได้เปลี่ยนมือจากตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มาเป็นบริษัทร่วมของ ปตท. ที่ใช้เงินกว่า 20,000 ล้านบาท เข้าถือหุ้นข้างมาก 31.5% ในทีพีไอ
วัตถุประสงค์ของ ปตท. ชัดเจนตั้งแต่เริ่มวาดหวังว่าจะได้ทีพีไอมาเป็นส่วนหนึ่งในแผนเพิ่มความแข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยการเพิ่มความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกๆ ความต้องการในทุกๆ พื้นที่ของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ภาพนี้อาจจะชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะขณะที่ศาลล้มละลายกลางกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาว่าจะมีคำสั่งให้ทีพีไอพ้นจากแผนฟื้นฟูฯ หรือไม่ ปตท.ก็เริ่มยิงสปอตโฆษณาทางโทรทัศน์ตัวใหม่ที่มุ่งชี้ให้เห็นว่า ปตท.นั้นเป็นเจ้าของแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตสินค้าที่มาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
"เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญบนเวทีโลก" เป็นธีมของโฆษณาชิ้นนี้
มีการคาดการณ์กันว่า ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้เริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาลงนับจากปีนี้ไปจนถึงปี 2552 จากกำลังการผลิตปิโตรเคมีของโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเลื่อนการผลิตจากปีก่อนมาเป็นปีนี้
ส่วนจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักยังสามารถผลิตเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ ได้มากขึ้นก็ตาม และในปีนี้ผู้ผลิตอาจต้องหันมาลงทุนขยายหรือพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับวัฏจักรราคาขาขึ้นในรอบต่อไป
แต่ปัจจัยเหล่านี้ดูจะไม่มีผลต่อราคาหุ้นทีพีไอ ที่แม้จะยังติดอยู่ในกลุ่มบริษัทที่ต้องฟื้นฟูกิจการฯ แต่ได้ดีดตัวทะยานขานรับการเริ่มต้นที่จะเดินร่วมทางสู่ความเจริญคู่กับ ปตท. เพราะนักลงทุนต่างก็รับกำไรอย่างทั่วถึงกัน จากการซื้อๆ ขายๆ เก็งกำไรกันเป็นช่วงๆ ตั้งแต่เช้ายันบ่ายระหว่างรอเวลาที่ศาลล้มละลายกลางจะประกาศคำตัดสิน
ปตท. ที่ถือหุ้นทีพีไอรายใหญ่กว่า 61,000 ล้านหุ้น น่าจะมีกำไรส่วนต่างราคาร่วม 30,000 ล้านบาทแล้ว หลังหักต้นทุนที่ซื้อมาในราคาหุ้นละ 3.30 บาท เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพ ในฐานะเจ้าหนี้ใหญ่ ซึ่งมีหุ้นอยู่ 2.59% หรือ 504 ล้านหุ้น จากการแปลงหนี้เป็นทุนในราคาหุ้นละ 5.50 บาท กำไรส่วนต่างตรงนี้ก็จะอยู่แถวๆ กว่าพันล้านบาท
ไม่นับเงินที่ธนาคารกรุงเทพได้รับจากการชำระหนี้โดยการขายหุ้นทีพีไอโพลีน บริษัทลูกของทีพีไอ ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ 10,250 ล้านบาท และเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กลุ่มพันธมิตรใหม่ และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 57,000 ล้านบาท ซึ่ง ปตท.ได้จ่ายคืนให้เจ้าหนี้แล้ว
จากการเข้ามาของ ปตท.ในทีพีไอ ได้ช่วยให้หนี้เสียของธนาคารกรุงเทพเมื่อสิ้นปี 2548 ลดลงเหลือ 100,800 ล้านบาทหรือลดลง 10.7% จากที่เคยมีสูงถึง 159,100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17% เมื่อสิ้นปี 2547 นอกจากนั้นยังขยายผลไปถึงเครดิตเรตติ้งของ ธนาคารที่เพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ ซึ่ง Fitch Ratings เพิ่งจะประกาศ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา
กรณีทีพีไอถือเป็นหนึ่งในที่สุดของประวัติศาสตร์แห่งวงการธุรกิจไทยที่ควรต้องบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จจากการสร้างธุรกิจ หรือความล้มเหลวในกิจการที่เกิดจากการก่อหนี้จำนวนมากมาย จนท้ายที่สุดต้องกลายไปเป็นธุรกิจที่มีหนี้เสียสูงสุดในประเทศถึง 2,700 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนเจ้าหนี้ที่มากมาย 150 ราย จาก 40 ประเทศทั่วโลกนั้น การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จึงเต็มไปด้วยความซับซ้อน จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
เมื่อกระทรวงการคลังเปิดปฏิบัติการในแบบที่ไม่เคยทำในอดีต คือการแทรกแซงกิจการเอกชนโดยตรง ด้วยการส่งคนเข้ามานั่งเป็นทีมผู้บริหารแผนฟื้นฟูทีพีไอ ผลการปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นออกมาอย่างที่เห็นคือ กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์เหลือหุ้นที่ถืออยู่ในนามประชัย และบริษัทเลี่ยวไพรัตน์วิสาหกิจ 0.65% และ 0.64% ตามลำดับ
ขณะที่ ปตท.กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 31.5% ตามมาด้วยธนาคารออมสิน 10% กองทุนบำเหน็จบำนาญ 8.6% กองทุนวายุภักษ์ 1 และ 2 ที่ถือหุ้นเท่ากันคือฝ่ายละ 10%
อนาคตของประชัยในทีพีไอก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นไร หลังผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ยื่นขอต่อศาลล้มละลายให้มีคำสั่งปลดเขาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการ และผู้บริหารทุกตำแหน่งในทีพีไอ จากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่า เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างราคาหุ้นทีพีไอโพลีน เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน
ด้านบอร์ดใหม่ของทีพีไอก็เตรียมจะประชุมพิจารณาประเด็นนี้เช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นตลาดฯ จะไม่อนุมัติให้หุ้นทีพีไอออกจากกลุ่มฟื้นฟูกิจการ ทั้งที่ศาลล้มละลายได้มีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูฯ ไปแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|