|
ธนาคารสีส้ม
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีธนาคารธนชาตก็สามารถสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำของลูกค้าได้สำเร็จ นอกจากสีส้มที่เริ่มคุ้นตากันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ธนชาตโดดเด่นขึ้นมาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้นเช่นปัจจุบันนี้ก็คือ ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงจนจูงใจผู้ฝากเงินได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น ธนชาตยัง "ขยัน" ในการปรับอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนชาตอยู่ที่ 3% สูงที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั่วไป นอกจากนี้ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังได้ออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ 9 เดือนให้อัตราดอกเบี้ย 5.25% ต่อปี ซึ่งช่วยรักษาฐานเงินฝากของลูกค้าเก่าและยังขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก
"แคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ 9 เดือน เราได้ยอดเงินใหม่เข้าธนาคารประมาณ 2 หมื่นล้านบาท" บัณฑิต ชีวะธนรักษ์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการธนาคารธนชาตกล่าว
สิ้นปี 2548 ที่ผ่านมา ธนชาตมียอดเงินฝากจำนวน 180,000 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดเงินฝากสิ้นปีนี้เอาไว้ที่ 220,000 ล้านบาท
การให้ดอกเบี้ยสูงเป็นผลมาจากการที่ธนชาตกำหนดบทบาทเป็นธนาคารที่เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย ทำให้ต้องเร่งขยายฐานลูกค้าทั้งในด้านเงินฝากและการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันยังเร่งเพิ่มจำนวนสาขาให้มากขึ้น ซึ่งถือว่าแตกต่างจากนโยบายของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กรายอื่น ที่ไม่เน้นการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นมากนัก โดยเฉพาะธนาคารทิสโก้และเกียรตินาคิน ที่ยกระดับขึ้นมาจากบริษัทเงินทุนเหมือนกัน
"ที่เราต้องเปิดสาขาเพิ่มก็เพื่อมารองรับการที่เราออกโปรดักต์มาขายให้กับลูกค้า แต่ก็พยายามลดต้นทุนในสาขาจะมีบริการทุกอย่างทั้งธนาคาร ประกัน หลักทรัพย์ และต่อไปก็จะเพิ่มธุรกิจให้มากขึ้น"
ธนาคารธนชาตเป็นธุรกิจหนึ่งของกลุ่มธนชาติ ซึ่งให้บริการทางการเงินหลายประเภทด้วยกัน ทั้งธนาคาร หลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุนรวม ประกันชีวิต ประกันภัย เช่าซื้อและลีสซิ่ง ปัจจุบันธนาคารธนชาตมีสาขาจำนวน 80 แห่ง ตั้งเป้าจะเปิดเพิ่มให้ได้ถึง 150 แห่งภายในสิ้นปีนี้และจะเพิ่มให้ได้ถึง 300 สาขาภายในสิ้นปี 2551
ในด้านการปล่อยสินเชื่อ นอกจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีสัดส่วนกว่า 60% ของยอดรวมสินเชื่อทั้งหมดแล้ว ธนาคารธนชาตยังได้พยายามรุกในตลาดสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดได้เปิดตัวสินเชื่อเพื่อการศึกษาปริญญาโท (Scholar Loan) สำหรับผู้ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจหรือสาขาที่ใกล้เคียง ในระยะแรกเริ่มต้นที่สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน 9 แห่งในกรุงเทพฯ โดยปล่อยสินเชื่อ 100% ของค่าใช้จ่าย ทั้งหมด มีระยะเวลาปลอดหนี้ในปีแรก และผ่อนชำระได้นาน 8 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MLR+3%
ในปีนี้ธนชาตเตรียมวงเงินในการปล่อยกู้ Scholar Loan เอาไว้ 300 ล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มจำนวนสถาบันการศึกษามากขึ้น รวมทั้งขยายไปสู่หลักสูตรปริญญาโททางด้านไอทีอีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|