|
ได้เวลาของ Central World
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้บริหารของ Central Group เคยเกริ่นเอาไว้คร่าวๆ ในวันงานแถลงข่าวประจำปีของกลุ่มเมื่อต้นปีที่ผ่านมาถึงความเปลี่ยนแปลงในโครงการ Central World Plaza ว่าจะได้รับการปรับปรุงก่อสร้างใหม่เพิ่มเติมบนพื้นที่เดิม และถือเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนมากที่สุดของกลุ่มในปีนี้ทั้งปี
แต่ล่าสุด กอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN และ วัลยา จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ โครงการ Central World ก็ควงคู่กันออกมาพบปะสื่อมวลชนอีกครั้ง เพื่อเปิดเผยรายละเอียดแทบทั้งหมด เกี่ยวกับตัวโครงการที่จะมีโอกาสได้ยลโฉมกันภายในสิ้นเดือนมิถุนายน
กอบชัยและวัลยา จิราธิวัฒน์ บอกเล่ารายละเอียดในโครงการเสียจนผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ การตลาด และอสังหาริมทรัพย์ มีเวลาถามคำถามหลังจากงานแถลงข่าวนั้นไม่มากนัก
ตั้งแต่เรื่องของมูลค่าของโครงการ เมื่อเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2551 จะสูงถึง 26,000 ล้านบาท ความเปลี่ยนแปลงในด้านรูปโฉม ที่ใครผ่านไปผ่านมาบนถนนเพลินจิตตัดกับปทุมวัน คงเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงกันบ้างแล้ว
Central ปรับโฉมโครงการ "Central World" ที่ไม่มีคำว่า "Plaza" ตามท้ายดังแต่ก่อน ใหม่ทั้งกระบิ ตั้งแต่การ re-build ตึกเก่าให้ใส โปร่ง เห็นภายนอกตัวอาคารด้วยกระจกรอบทิศ การตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด แยกตามโซนของตึกตามคอนเซ็ปต์ของพื้นที่ต่างๆ ที่ Central จัดแบ่งเอาไว้ดึงดูดลูกค้าในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
การสร้างตึกใหม่เสริมหลายตึกเชื่อมเข้าถึงกันแทบทุกตัวอาคาร รวมถึงห้างสรรพสินค้า ZEN โฉมใหม่ที่กำลังถูกสร้างใหม่ให้มีความสูงถึง 20 ชั้น เช่นเดียวกันกับโครงการโรงแรมขนาดห้าดาวที่กำลังเร่งก่อสร้างในพื้นที่ติดกัน ซึ่งจะเสร็จสิ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงถึง 55 ชั้น รองรับลูกค้าได้มากกว่า 500 ห้อง
Central ยังเพิ่มเติมรายละเอียดใหม่ๆ เข้าไป ทั้งการเพิ่มความโดดเด่นของโครงการด้วยการก่อสร้าง Flag Ship หรือร้านที่ได้ชื่อว่าเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะมากถึง 36 ร้าน ทั้ง Zara ซึ่งทุบสถิติพื้นที่มากสุดจากห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว MNG, Timberland และร้านค้าที่เป็นแบรนด์ของกลุ่ม Central อยู่แล้ว อาทิ ร้าน B2S, Super Sport, Powerbuy และ Central World Food Hall ไม่นับรวมร้านค้าเปิดใหม่ ที่เพิ่งจะเจรจาต่อรองกับต่างประเทศให้มาเปิดในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ ไปจนถึงโรงภาพยนตร์อีก 18 โรง และลานกิจกรรมด้านหน้าห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ถึง 8,000 ตารางเมตร
Central World ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีพื้นที่มากถึง 555,000 ตารางเมตร ซึ่งนับเป็นพื้นที่ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด นับเป็นการเดิมพันครั้งใหม่อีกครั้งของกลุ่ม Central โดยเฉพาะธุรกิจห้างสรรพสินค้าและอสังหาริมทรัพย์
"ต้องมั่นใจว่าจะขายได้และอยู่ได้" ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้บริหารของกลุ่มกำลังคิดและวางแผนอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะด้วยงบลงทุนที่ลงไปมากมาย และการยกให้โครงการแห่งนี้เป็นโครงการแห่งเดียวของกลุ่ม ไม่มีที่สองในพื้นที่อื่นอีกนับจากนี้ ย่อมมีค่ามากกว่าการมองแค่มุมที่ว่า ห้างข้างๆ อย่างสยามพารากอนชิงตัดหน้าเปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้ได้อย่างสมเกียรติอย่างที่ตั้งใจไว้ และกลุ่ม Central ต้องเปิดห้างสรรพสินค้าของตนในแถบเดียวกันให้ใหญ่ และใหม่กว่าเพียงเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|