|
มดกับช้าง ใครได้ใครเสีย?
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ด้วยเหตุผลใดจึงทำให้งานแถลงข่าวการลงนามบันทึกความตกลง (MOU) ด้านการบินและการพาณิชย์ร่วมกัน ระหว่างบริษัทการบินไทยและบริษัทการบินกรุงเทพ หรือบางกอกแอร์เวย์ส เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ถึงเกิดขึ้นได้
ยิ่งถ้าบอกว่า MOU ดังกล่าว ได้หมายรวมถึงการเปิดทางให้การบินไทยสามารถใช้เส้นทางการบินของบางกอก แอร์เวย์ส ไปลงที่เกาะสมุย ผ่านทางการทำ Codeshare กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยิ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาอย่างแน่นอน
เกาะสมุย ถือเป็นหัวหอกสำคัญของบางกอกแอร์เวย์ส ในนามของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ความสำคัญของเกาะสมุยไม่ได้เป็นเพียงที่มั่นแรกของสายการบิน ซึ่งนายแพทย์ปราเสริฐลงทุนลงแรงบุกเบิกตั้งแต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นสวนมะพร้าว จนสามารถเปิดการบริการเส้นทางการบินได้เป็นหนแรกเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2532 เท่านั้น แต่เกาะสมุยยังเป็นแหล่งรายได้โดยตรงของบางกอกแอร์เวย์ส เพราะสามารถขนคนมาโดยตรงจากต้นทาง อาทิ ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยไม่ผ่านสนามบินกรุงเทพแต่อย่างใด และยังถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างรู้จักดี และสามารถขนคนเข้าออกเกาะเล็กๆ แห่งนี้ได้นับล้านคนต่อปี
การลงนามใน MOU ใหม่ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว จึงได้พลิกประวัติศาสตร์อีกหน้าของทั้งบางกอกแอร์เวย์สและการบินไทย ทั้งในแง่ของคนรับและคนรุกอย่างปฏิเสธไม่ได้
การทำ Codeshare ถือเป็นทางออกของการบินไทยที่จะเพิ่มโอกาสให้การบินไทยสามารถขายตั๋ว ณ จุดเริ่มต้นได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อตั๋วจากเมืองใดเมืองหนึ่งด้วยสายการบินไทย แต่จุดหมายอยู่ที่สมุย เพราะไม่ต้องเสียเวลาหาตั๋วจากกรุงเทพฯ ไปสมุยเอง หรือต้องเสียเวลาในการนั่งรอเครื่องจากกรุงเทพฯ ไปยังสมุย เพราะการบินไทยสามารถทำการเชื่อมเส้นทางด้วยการเลือกเวลาในการบิน หรือไฟลต์ของการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์สให้ใกล้เคียงกันที่สุดได้
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความพยายามที่จะเป็นผู้ให้บริการการบินแต่เพียงผู้เดียวบนเกาะสมุยย่อมไม่มีวันเป็นไปได้ เมื่อในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากไม่มีอะไรผิดพลาด การบินไทยจะผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และสามารถนำเครื่องบินโบอิ้ง 737 ขนาด 150 ที่นั่ง ขึ้นบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังเกาะสมุยได้ แทนการทำ Codeshare กับบางกอกแอร์เวย์ส และโอกาสของการบินไทยในการขนคนได้ด้วยสายการบินของตัวเองย่อมมีมากขึ้น
นั่นคือผลประโยชน์ที่เกิดกับการบินไทย หากย้อนกลับมามองในมุมของบางกอกแอร์เวย์ส หรือนายแพทย์ปราเสริฐ ซึ่งมักยกตัวอย่างกับคนรอบข้างว่าบางกอกแอร์เวย์สนั้นเปรียบเหมือนมด ขณะที่การบินไทยนั้นเป็นช้างแล้ว หลายคนเชื่อว่านี่คือปรากฏการณ์ ช้างง้อมด ขณะที่มดย่อมเห็นผลประโยชน์ในแรงที่ลงไปไม่น้อย แต่ผลกลับมามากมายจากช้างตัวใหญ่อย่างการบินไทยเป็นแน่ มิเช่นนั้นย่อมเป็นไปได้ยากที่จะเห็นงานแถลงข่าวการทำ MOU เกิดขึ้น
MOU ดังกล่าวยังได้ระบุการทำ Codeshare ระหว่างการบินไทยกับบางกอกแอร์เวย์สในเส้นทางบินอื่นๆ ด้วย โดยเริ่มต้นที่เส้นทางการบินในเมืองจีน ซึ่งเป็นเส้นทางการบินของบางกอกแอร์เวย์ส อาทิ กุ้ยหลิน เจิ้งโจว เชียงรุ้ง ซีอาน เสิ่นเจิ้น และหางโจว ล้วนแล้วแต่เป็นเส้นทางที่การบินไทยยังไปไม่ถึงแทบทั้งสิ้น
การทำ Codeshare ในเส้นทางเหล่านี้ย่อมเป็นโอกาสของบางกอกแอร์เวย์สที่จะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นจากการช่วยเหลือของการบินไทย โดยไม่ต้องออกแรงหาลูกค้าเองแต่อย่างใด
การบินไทยจะทำการต่อเชื่อมลูกค้าที่ต้องการบินจากเมืองที่การบินไทยบินไปถึง ให้สามารถบินไปยังเมืองที่บางกอกแอร์เวย์สให้บริการการบินได้ และสามารถให้บริการลูกค้าบินจากเมืองนั้นกลับสู่กรุงเทพฯ ได้โดยตรงด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์สแต่ออกตั๋วเป็นการบินไทยได้โดยตรง เพียงแต่ทำการเชื่อมโยงระบบการขายตั๋วของการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์สให้เอเยนซี่ได้เห็นเส้นทางการบินใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาเท่านั้นเอง
ไม่นับรวมเส้นทางการบินอื่นๆ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงความร่วมมือในการทำ Codeshare ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งเสียมราฐ สุโขทัย ร่างกุ้ง ตราด พนมเปญ พัทยา (อู่ตะเภา) และอื่นๆ ซึ่งบางกอกแอร์เวย์สให้บริการแล้ว แต่การบินไทยอาจไปไม่ถึงอีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|