สันติ โฮ สร้างคลื่นลูกที่สามให้จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะเกิดมาในตระกูลค้าเพชรพลอยที่มีศูนย์ค้าเพชรขนาดใหญ่อย่างจิวเวลรี่ เทรดเซ็นเตอร์ ตั้งตระหง่านริมถนนสีลม แต่สันติ โฮ หนึ่งในทายาทของ ดับบลิว เค โฮ กลับเลือกที่จะเดินเข้าสู่ธุรกิจอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี หรือไอที คลื่นลูกที่สามของธุรกิจในยุคนี้

ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจค้าเพชรส่งออก ทำให้สันติต้องเดินทางไปค้าขายยังประเทศต่าง ๆ และเขาก็พบว่าช่องทางขายในอดีตที่มีตู้วางสินค้า มีพนักงานมายืนรอลูกค้านั้นล้าสมัยไปแล้ว ในยุคโลกาภิวัฒน์ เมื่อสันติสามารถขายจิวเวลรี่นับเป็นพัน ๆ ชิ้น มูลค่านับล้านเหรียญได้ภายในนาที โดยผ่านสื่อทีวีในอเมริกา แทนที่จะวางขายตามห้างสรรพสินค้าที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน

จากจุดนี้ สันติเริ่มหันมาศึกษาอย่างจริงจัง และเขาก็พบอีกว่าแม้เมืองไทยจะเป็นแหล่งผลิตจิวเวลรี่แห่งหนึ่งของโลก แต่กลับต้องสูญเสียสิ่งที่ควรจะได้จากผลผลิตที่สร้งขึ้น เพียงเพราะไม่มีช่องทางจัดจำหน่ายเป็นของตัวเอง

"หากติดตามกระบวนการขาย จะพบว่าเราต้องเสียรายได้ไปเยอะมาก สมมติว่าคนไทยขายของถึงผู้บริโภคในต่างประเทศได้ 2,000 บาท คนไทยจะได้เพียง 200 บาท แม้ว่าเราจะออกแบบผลิตทำได้ทุกขั้นตอน เพียงเพราะเราไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นของตัวเองเท่านั้นเอง"

สิ่งที่สันติวาดหวังก็คือ การสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายในเมืองไทย เพื่อเป็นสื่อในการนำสินค้าที่ผลิตได้ส่งไปขายเมืองนอกภายใต้ยี่ห้อของตัวเอง เพื่อให้มูลค่าเพิ่มทั้งหมดที่ผลิตได้ยังอยู่ในไทย ทั้งความรู้ การค้า การออกแบบ รวมทั้งการพัฒนาตลาดแทนที่จะตกอยู่ในมือของต่างชาติ

วิธีสร้างช่องทางจำหน่ายในความหมายของสันติ ไม่ใช้การเข้าไปสร้างร้านค้า หรือ การส่งคนไปขายสินค้าในต่างประเทศ แต่หมายถึงการนำอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี มาสร้างเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าไปยังผู้บริโภคต่างแดน ซึ่งสันติพบว่าสื่อเหล่านี้กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากทุกที

"เมื่อก่อนผมต้องหิ้วกระเป๋าไปขายทีละเมือง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเสียเวลา แต่ต่อจากนี้เราจะส่งข้อมูล ส่งอีเมล หรือใช้วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ใช้ไอทีเข้าช่วยขายสินค้า" สันติกล่าว

ด้วยเหตุนี้บริษัทแม่โขงมีเดียกรุ๊ปที่สันติตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจหลายประเภทในอินโดจีน ทั้งลาวและเวียดนาม จึงหันเหมาสู่คลื่นลูกที่สาม ที่เป็นยุคของไอทีอย่างเต็มตัว โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ส ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ รีเทลริ่งอย่างเต็มตัว

สันติเรียกสิ่งที่เขาทำว่า การบุกเมือง แทนที่จะหนีเข้าป่าซึ่งเป็นที่นิยมกัน

ด้วยแนวความคิดที่ว่าทำอะไรต้องทำให้ใหญ่และถึงแก่น เดิมทีสันติเคยคิดจะทำ "มีเดียพาร์ค" บนเนื้อที่ 18 ไร่ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตข้อมูลที่มีคนงานหลายร้อยคนสร้างข้อมูล และนำข้อมูลเหล่านี้ไปขายในต่างประเทศ แต่ต้องเจอกับอุปสรรคบางประการ มีเดียพาร์คของสันติจึงถูกลดขนาดมาเป็น "มัลติมีเดียเซ็นเตอร์" ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 4 ของอาคารจิวเวลรี่ เทรดเซ็นเตอร์

แต่เนื่องจากตัวแปรสำคัญของธุรกิจไอที คือความรู้และความเข้าใจของคนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของธุรกิจทางด้านนี้ ดังนั้นส่วนประกอบของมีเดียเซ็นเตอร์ที่สันติกำหนดไว้มีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน

สันติ เล่าว่า ส่วนแรกศูนย์เทรนนิ่งเซ็นเตอรืซึ่งจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมวิชา หรือแนวทางความคิดที่เกี่ยวกับไอทีที่จัดขึ้นมาเฉพาะนักธุรกิจในเมืองไทย ให้รู้จักการใช้ไอทีให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัท

"ผมไม่ได้ทำให้นักเรียน หรือทำ เพื่อบันเทิง แต่ทำ เพื่อนักธุรกิจให้เขารู้ว่า ซีดี-รอมคืออะไร อีดีไอ คืออะไร เพราะถ้าเขาไม่รู้ เขาก็จะใช้ไม่ได้ จุดนี้เป็นอุปสรรคสำคัญ" สันติชี้แจง

ส่วนที่สอง คือ ดิจิตอลดีไซน์สตูดิโอ หรือ สตูดิโอผลิตสื่อเพื่อธุรกิจ ซึ่งจะเริ่มด้วยการให้เช่าสตูดิโอสำหรับทำโฮมเพจบนอินเตอร์เน็ตแก่ลูกค้า

สันติ มองว่าปัจจุบันลูกค้าที่ต้องการทำโฮมเพจไม่มีทางเลือกมากนัก เมื่อเป็นสมาชิกกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) รายใด ส่วนใหญ่มักจะทำโฮมเพจกับไอเอสพีรายนั้น ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในเรื่องประโยชน์จากขนาดของกำลังการผลิต (Economy of Scale)

"ลูกค้าเพียงแต่เอาไอเดียมาให้ เราจะผลิตออกมาให้ เพราะกระบวนการผลิตของเราจะเป็นโรงงานเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เราทำให้ทุกคน เพียงแต่เอาความคิด เอาโพรดิวเซอร์มา หรืออยากจะผลิตเองแต่ไม่มีเครื่องมือ ก็มาเช่าสตูดิโอของเราได้ ซึ่งส่วนนี้เท่ากับเราเป็นผู้สร้างปัจจัยพื้นฐานให้ลูกค้า (infrastructure)" สันติชี้แจง

เมื่อสร้างปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานเสร็จแล้ว ก็มาถึงอิเล็กทรอนิกส์ รีเทลริ่ง ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการรวบรวมเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้สำหรับสร้างช่องทางจัดจำหน่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการนำสินค้าของตนขายผ่านสื่อดังกล่าว

"เพราะตัวผมเป็นพ่อค้า และสื่อนี้เป็นวิธีที่ผมจะขายของได้ โดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินเช่าร้าน ตกแต่งร้าน แต่สามารถขายของได้โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในจุดนี้"

สื่อ หรือ ช่องทางจัดจำหน่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่สันติกำหนดไว้ ไม่ได้มีเพียงการขายของบนอินเตอร์เน็ต เครือข่ายในยุคไซเบอร์สเปซเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น ซีดีรอม หรือ วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของลูกค้า

สันติรู้ดีว่าธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายหากทำโดยลำพัง โดยเฉพาะการเป็นหน้าใหม่ที่มาเป็นผู้เริ่มต้น วิธีที่ง่าย สะดวก และรวดเร็วที่สุดคือการหาผู้ร่วมทุน ที่บริษัทไอทีในเมืองไทย เพราะนอกจากจะได้ทั้งเงินทุนประสบการณ์แล้ว ยังรวมถึงเครดิตด้วย

วิธีที่เขาเลือกใช้ในการหาผู้ถือหุ้น สันติก็เลือกใช้วิธีทางการตลาด คือ การลงโฆษณาตัวเอง เพื่อดึงดูดให้ผู้สนใจ แน่นอนว่า ต้องท้าทาย และเชื่อมั่นอย่างสูง

"บางคนคิดว่าคนไทยเป็นคนขี้ขลาด ซึ่งไม่กล้าหาญเดินไปในทิศทางใหม่ คอยดูสิ"

"บางคนคิดว่าคนไทย มีความฉลาดที่จะมองภาพกว้างจนกว่ามันอยู่บนทีวี เราไม่ มันมีอีกทางหนึ่ง แม่โขงมีเดีย"

"บางคนคิดว่าคนไทยเป็นก๊อปปี้แคทที่ไม่มีความรู้นำคนไปในยุคของไอที คนไทยชอบเลียนแบบคนอื่น และไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่เราไม่ มันมีอีกทางหนึ่ง"

ในวันสุดท้าย สันติ ซื้อเนื้อที่โฆษณาสองหน้าเต็ม ใส่ข้อความไปว่า "บางคนคิดว่าคนไทยเป็นผู้นำในอนาคต และจะไม่ตามเขาอย่างเดียว เราเห็นด้วย มันมีอีกทางหนึ่ง และพูดถึงว่า ความฉลาดที่จะมองในอนาคต ความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างอย่างกะทันหันอย่างสิ้นเชิง ความรู้ที่จะแปรให้ความไม่แน่ใจเป็นความชัดเจน อำนาจที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปถึงความร่มเย็นเป็นสุข แม่โขงมีเดียเป็นบริษัทประเภทใหม่ ที่มองการณ์ไกลของประเทศไทย ที่จะนำสินค้าไทยตรงไปยังตลาดโดยตรง โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์"

สันติ เล่าว่า หลังจากลงโฆษณามีบริษัทในวงการไอทีและโทรคมนาคม ติดต่อเข้ามาทันที 2 - 3 ราย ในจำนวนนี้เซ็นสัญญากันไปแล้ว 1 ราย และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาอีกหลายราย

แม้ว่าทางเดินของแม่โขงมีเดียกรุ๊ปยังต้องอาศัยเวลาอีกยาวไกลเพื่อรอการพิสูจน์ หรืออาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่ยังไม่มีบทสรุป แต่ก็นับเป็นก้าวใหม่ของตระกูลโฮ ที่กำลังก้าวสู่คลื่นลูกที่สาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.