Innovation คำตอบสุดท้ายของเครือซิเมนต์ไทย

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้แต่องค์กรที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยอย่างเครือซิเมนต์ไทย ยังต้องพยายามสร้าง innovation ในองค์กร เพื่อหนีการแข่งขันที่นับวันจะมากยิ่งขึ้น

หากพูดถึง innovation หรือนวัตกรรม สิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงมักจะเป็นความใหม่ ของใหม่ หรือของแปลกที่ยังไม่เคยมีมาก่อน สอดคล้องกับความหมายของ "นวัตกรรม" ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ระบุว่า "เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิม ซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการหรืออุปกรณ์"

เมื่อดูจากความหมายแล้ว นวัตกรรมเป็นสิ่งที่เครือซิเมนต์ไทยต้องการมากที่สุดในเวลานี้!!!

เครือซิเมนต์ไทยเป็นองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยในปัจจุบัน มีอายุจะครบ 1 ศตวรรษ ในอีก 7 ปีข้างหน้า และยังได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศในด้านการบริหารจัดการไปจนถึงธรรมาภิบาล มีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในระดับอาเซียน ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทยเข้าใจดีว่า ธุรกิจหลักของเครือที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นสินค้า commodity ไม่ว่าจะเป็นซีเมนต์ กระดาษ ปิโตรเคมีและวัสดุก่อสร้าง ที่มีความแตกต่างหรือโดดเด่นจากผู้ผลิตรายอื่นไม่มากนัก

ขณะเดียวกันสถานะของการเป็นผู้ผลิต (Manufacturing sector) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมาร์จินต่ำที่สุดในซัปพลายเชนเมื่อเทียบกับเซกเตอร์อื่น และยังต้องเผชิญกับการแข่งขัน จากผู้ผลิตรายใหญ่ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งในที่สุดย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาไปได้ ทำให้เครือซิเมนต์ไทยเห็นแนวทางได้ชัดว่า หากต้องการอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวจำเป็นต้องสร้างหรือผลิตสินค้าที่มีความแปลกใหม่และแตกต่างจากคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่เครือเป็นเจ้าของความคิด หรือมีสิทธิบัตรในเทคโนโลยีก็จะยิ่งเป็นจุดเด่นเหนือผู้ผลิตรายอื่น

"ยกตัวอย่างไนกี้ เขามีแต่ดีไซน์ มี R&D มีแบรนด์ จะผลิตที่ไหนก็ได้ ถ้าเรายังเน้นแต่ว่าจะเป็นผู้ผลิตอยู่เราจะลำบาก เพราะฉะนั้น value added ต้องสูงขึ้น ถึงสรุปออกมาว่าเราต้องทำอินโนเวชั่น" กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษเป็นครั้งแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่งต่อจากชุมพล ณ ลำเลียง

เครือซิเมนต์ไทยตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม ตั้งแต่ปี 2546 ในยุคของชุมพลที่ได้ริเริ่มโครงการนวัตกรรมขึ้นในช่วงกลางปีดังกล่าว โดยมีกานต์ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธานคณะทำงานด้านนี้โดยตรง และนำไปสู่การจัดงาน Innovation Change for Better Tomorrow เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นการประกาศให้พนักงานและคนภายนอกได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมใหม่ของเครือซิเมนต์ไทยที่จะมี innovation เป็นองค์ประกอบสำคัญ

นวัตกรรมหรือ innovation ในความหมายของเครือซิเมนต์ไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังกินความไปถึงกระบวนการทำงาน รูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่เครือซิเมนต์ไทยจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยสิ่งใหม่เหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนหรือเป็นสิ่งที่เคยทำขึ้นแล้ว แต่นำมาต่อยอดเพิ่มขึ้น

การจะทำในสิ่งเหล่านี้ได้สำเร็จต้องเริ่มที่ "คน"

พนักงานเครือซิเมนต์ไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่มาจากสายงานวิศวกร การบริหารงานมีลำดับชั้นชัดเจน ผู้บริหารมีประสบการณ์ในสายงานที่กำกับดูแลเป็นอย่างดี ทำให้ลูกน้องเชื่อฟังหัวหน้าอย่างมาก จนอาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็นแปลกใหม่หรือความคิดนอกกรอบจากที่เคยปฏิบัติกันอยู่

"พวกเราจะเป็นเอ็นจิเนียร์กันหมด จะคิดคล้ายๆ กัน แล้วรู้ลึก รู้จริง ลูกน้องจะเสนออะไรก็รู้หมด พอจะเสนอแนวคิดอะไรเราก็จะบอกอันนี้อั๊วลองมาแล้ว เพราะฉะนั้นลูกน้องจะเชื่อผู้บังคับบัญชามาก จนถึงจุดหนึ่งผมเกรงว่าจะเป็นอันตราย เพราะอะไรก็จะให้นายตัดสินใจ" กานต์กล่าว

เครือซิเมนต์ไทยจึงต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรกันเสียใหม่ ให้เป็นวัฒนธรรมนวัตกรรมที่สนับสนุนและสร้างบรรยากาศให้พนักงานทุกระดับมีการคิดนอกกรอบ เปิดใจรับฟังความคิดเห็น กล้าแสดงความเห็น กล้ารับความเสี่ยงในการทดลองสิ่งแปลกใหม่ มีการพัฒนาตนเองและให้รางวัลพนักงานที่มีส่วนในการพัฒนานวัตกรรมด้วย

โดยได้กำหนดลักษณะของพนักงานภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว มี 5 ประการด้วยกัน คือ กล้าเปิดใจรับฟัง กล้าคิดนอกกรอบ กล้าพูด กล้าทำ กล้าเสี่ยง กล้าริเริ่ม และกล้าเรียนใฝ่รู้ สำหรับผู้บริหารยังต้องเพิ่มบทบาทของความเป็นผู้นำอีก 3 ประการ ได้แก่ นำการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำเป็นแบบอย่าง

นอกจากการกระตุ้นให้พนักงานมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เครือซิเมนต์ไทยยังได้ขยายต่อไปถึงพนักงานที่จะรับเข้าทำงานใหม่ด้วย โดยเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่มีลักษณะหรือความคิดแตกต่างจากแพทเทิร์นเดิมๆ มากขึ้น รวมถึงการรับสมัครพนักงานในระดับ mid-career มากกว่าเดิมที่นิยมรับเด็กจบใหม่ ซึ่งมีผลให้ถูกปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรจนกลายเป็นบุคลิกของคนเครือซิเมนต์ไทยที่มีลักษณะเดียวกัน แต่การได้พนักงานระดับ mid-career จะช่วยให้พนักงานมีความคิดที่แตกต่างและหลากหลายยิ่งขึ้น

หนังสือ "CHANGE FOR BETTER TOMORROW" ซึ่งเป็นคู่มือที่อธิบายถึงสาเหตุและความจำเป็นของการทำ innovation ถูกจัดพิมพ์และแจกจ่ายให้กับพนักงานในเครือซิเมนต์ไทยทุกคน เช่นเดียวกับวารสารรายเดือน SCG Innonews ที่มีจำนวนพิมพ์เท่ากับจำนวนพนักงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารความเป็นไปและข่าวคราวเกี่ยวกับ innovation ของเครือให้กับพนักงานทุกคนได้รับรู้ เป็นหนึ่งในความพยายามที่เป็นรูปธรรมของเครือซิเมนต์ไทยที่จะกระตุ้นพนักงาน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมใหญ่ที่ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในปีที่แล้ว คือการจัดประกวดรางวัล SCG Power of Innovation เพื่อให้แต่ละธุรกิจภายในเครือจัดทีมส่งผลงานเข้าประกวด เกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาทั้งในด้านความคิด กระบวนการผลิต การตลาด ไปจนถึงโอกาสในการจดสิทธิบัตร โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องทำได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการก็ตาม

พนักงานเครือซิเมนต์ไทยส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ถึง 300 ทีม มีครบในทุกกลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่ปิโตรเคมี กระดาษ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จัดจำหน่าย แม้กระทั่งสายงานด้านการเงินและบัญชี ซึ่งเป็นสายงานที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของการประกวดครั้งนี้ก็ยังสามารถเสนอผลงานที่ฝ่าฟันเข้าสู่รอบ 11 ทีมสุดท้ายได้ ถึงแม้จะไม่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศรับเงินรางวัล 1 ล้านบาท แต่ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้บริหารของเครืออยู่ไม่น้อย

ความสำเร็จของ SCG Power of Innovation ครั้งแรกทำให้เครือซิเมนต์ไทยสานต่อการประกวดครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยเพิ่มรางวัลชนะเลิศจากเดิมที่มี 1 รางวัลเป็น 3 รางวัล โดยแยกเป็น Best of Innovative Product สำหรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ Best of Innovative Manufacturing Process สำหรับการสร้างสรรค์กระบวนการผลิตใหม่ และ Best of Innovative Service or Non-Manufacturing Process สำหรับการสร้างสรรค์กระบวนการทำงาน การบริการหรือรูปแบบธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มรางวัล Best Innovative Idea สำหรับการประกวดในระดับกลุ่มธุรกิจด้วย

ในหนังสือรายงานประจำปี 2548 นับเป็นครั้งแรกที่เครือซิเมนต์ไทยได้มีการสื่อสารผลงานด้านนวัตกรรมให้ผู้ถือหุ้นได้รับรู้ โดยมีการแยกหัวข้อด้านนวัตกรรมของแต่ละธุรกิจเพื่อให้เห็นความคืบหน้าอย่างชัดเจน

หลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา เครือซิเมนต์ไทยเปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย การที่องค์กรแห่งนี้เน้นให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการให้มากขึ้นนั้น อาจเป็นสัญญาณที่ภาคธุรกิจไทยไม่ควรวางเฉยก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.