Innovation Trend

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

อาจไม่เป็นเรื่องบังเอิญที่องค์กรขนาดใหญ่ของโลกอย่างไอบีเอ็มประกาศทิศทางที่ชัดเจนว่าจะนำเรื่อง Innovation มาเป็นธงหลักสำหรับใช้ในการทำธุรกิจในยุคหลังจากนี้ ซึ่งเป็นคำประกาศที่ตรงกับองค์กรอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของไทยอย่างเครือซิเมนต์ไทย
ได้เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว

ทั้งไอบีเอ็ม และเครือซิเมนต์ไทย มองเรื่อง Innovation ในนิยามที่คล้ายคลึงกัน คือ Innovation เป็นเครื่องมือและทางออกสำคัญสำหรับใช้หลีกหนีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นของทั้ง 2 ธุรกิจ

แม้กระบวนการนำมาใช้และวิธีการนำเสนอเรื่องของ Innovation ของทั้ง 2 องค์กรอาจแตกต่างกันตามธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรม

แต่การที่ทั้ง 2 องค์กร ที่เป็นองค์กรใหญ่ มองเห็นถึงจุดเดียวกัน นั่นอาจหมายถึงการส่งสัญญาณให้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องการนำ Innovation มาพิจารณาในการปรับพันธกิจของตนเอง

ต้นเดือนเมษายน ไอบีเอ็ม ประเทศไทย นัดหมายพบปะบรรดาสื่อมวลชนสายเทคโนโลยีสารสนเทศจากสำนักพิมพ์หลายแห่ง เพื่อกระชับสัมพันธภาพพร้อมๆ กับใช้โอกาสดังกล่าวบอกเล่าถึงทิศทางในการทำตลาดของไอบีเอ็มนับจากนี้เป็นต้นไป

การนัดหมายของไอบีเอ็ม โดยมีศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้นำทัพ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการทันทีหลังจากที่ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ เริ่ม kickoff แนวทางในการทำธุรกิจของไอบีเอ็มเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

และหลังจากที่ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศรุกแนวทางเดียวกันกับไอบีเอ็ม ระดับโลกต่อหน้าพนักงานนับพันชีวิต ณ สโมสรกองทัพบก บนถนนวิภาวดี ถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่เปิดเผยแนวทางดังกล่าวเพียงไม่กี่วัน

แนวทางของไอบีเอ็มนับตั้งแต่นี้อยู่ใต้คำจำกัดความที่ว่า "Innovation Partner" หรือหากแปลตรงตัวตามภาษาไทยก็คงให้ความหมายได้ว่า "พันธมิตรด้านนวัตกรรม"

หลายปีก่อนหน้านี้ไอบีเอ็มพยายามผลักดันให้องค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญของคำว่า "on-demand" หรือการทำให้องค์กรสามารถอยู่ได้อย่างยืดหยุ่นภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ทั้งสภาพเศรษฐกิจและการแข่งขัน การทำให้โครงสร้างทางการเงินหรือค่าใช้จ่ายยืดหยุ่นต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้น การหา Core business ที่แท้จริงและผลักภาระงานที่ไม่ถนัดออกไปให้คนอื่นทำ หรือตัดสินใจขายออกไปจนถึงการเปลี่ยนองค์กรให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจที่ไอบีเอ็ม เรียกว่าการทำ transformation

กรณีศึกษาในการทำ on-demand ไม่ใช่ใครที่ไหน ไอบีเอ็มยกตัวอย่างตัวเองเป็น case study ให้องค์กรเหล่านั้นได้เห็นแทนการใช้องค์กรอื่นเป็นตัวอย่าง

ผู้บริหารของไอบีเอ็มในแต่ละประเทศ รวมถึงศุภจี ซึ่งเป็นผู้นำของไอบีเอ็มในประเทศไทย มีหน้าที่เดินทางไปพบปะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ เพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปในไอบีเอ็มตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาหลังการทำ transformation ในองค์กรของไอบีเอ็มเอง ซึ่งผลที่ได้คือ ผู้บริหารนั้นๆ มักคิดอยากจะให้ตนเป็นแบบไอบีเอ็มบ้าง กลายเป็นการเจรจาธุรกิจเพื่อให้ไอบีเอ็มเข้ามาช่วยเหลือในท้ายที่สุด

วันนี้ไอบีเอ็มประกาศชัดเจนว่า on-demand ของไอบีเอ็มถึงเวลาขยับเข้าสู่ยุค "innovation" หรือ "นวัตกรรม" แทน เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยต่อยอดธุรกิจขององค์กรได้ดีกว่าการปล่อยให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างเดิมๆ

จดหมายความยาวหลายหน้าในรายงานประจำปี 2548 ของไอบีเอ็ม ที่ระบุสุนทรพจน์ของ Samuel J. Palmisano ประธานกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอบีเอ็ม ซึ่งเผยแพร่และแจกจ่ายไปทั่วโลก เป็นหนึ่งในการ kickoff แนวทางของไอบีเอ็มที่เห็นชัดที่สุดอย่างหนึ่ง ได้นำเสนอใจความสำคัญที่ใครอ่านก็ย่อมรู้ดีว่า "ไอบีเอ็ม" เจ้าแห่งวงการไอทีกำลังให้ความสำคัญกับคำว่า "นวัตกรรม" มากเพียงใด

ไอบีเอ็มเป็นองค์กรระดับโลกที่เพิ่งประกาศวิสัยทัศน์ของตนเองอย่างชัดเจนว่านับจากนี้ จะเป็นปีแห่ง "นวัตกรรม" และเป็นปีที่ไอบีเอ็มจะวาง position ของตัวเองว่าเป็น "Innovation Partner" หรือเป็นผู้ที่ช่วยเหลือให้องค์กรเหล่านั้นบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมอย่างจริงๆ จังๆ เสียที หลังพบว่า "นวัตกรรม" จะเป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่ต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรทั่วไปเท่านั้นแต่หมายถึงต่อยอดธุรกิจของตนด้วยในเวลาเดียวกัน

"ใครจะรู้ว่าธนาคารจะมีไปรษณีย์เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ขณะที่บริษัทโทรคมนาคมโดยเฉพาะโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะมีคู่แข่งสำคัญคือการไฟฟ้า ซึ่งให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายไฟฟ้าได้แล้ว" ศุภจียกตัวอย่างให้เห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรไว้อย่างน่าสนใจ

ศุภจีบอกกับ "ผู้จัดการ" เมื่อมีโอกาสได้พบปะกับเธออีกครั้งหลังการนัดหมายครั้งก่อนหน้าว่า ไอบีเอ็มประเทศไทยเองก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มานานพอสมควร และเชื่อว่าบริษัทในประเทศไทยบางบริษัทก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ปลายปีที่แล้ว ไอบีเอ็มมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงหรือซีอีโอของบริษัททั่วโลก 700 กว่ารายทุกสายอุตสาหกรรม เธอบอกว่าแทบทุกคนกล่าวไปในทางเดียวกันว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องจำเป็นและช่วยให้ธุรกิจของตนเติบโตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเข้ามาช่วยให้องค์กรไม่ต้องห่วงมากนักเรื่องผลกำไรหรือขาดทุน เพราะหากว่าบริษัทสามารถสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองได้แล้ว นั่นย่อมหมายถึงรายได้ที่เกิดจากการดึงดูดกำลังซื้อจากผู้บริโภคเข้ามาได้ในที่สุดนั่นเอง

แม้นวัตกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญมากเท่าไร แต่ศุภจีก็แสดงออกถึงความห่วงใยอย่างชัดเจนว่า หัวใจสำคัญของนวัตกรรมกลับไม่ได้อยู่ที่ใครมองว่ามันสำคัญแค่ไหน แต่อยู่ที่ใครสามารถนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดผลมากกว่า

แม้กระทั่งซีอีโอจากองค์กรต่างๆ ที่ไอบีเอ็มลงมือสัมภาษณ์กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรเหล่านั้น สนใจเรื่องนวัตกรรมแทบทั้งสิ้น แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งขององค์กรเหล่านี้เท่านั้นที่สนใจที่จะเอามาใช้จริงๆ ทั้งตัดสินใจตั้งทีมในองค์กรจัดตั้งงบประมาณ หรือว่าทำโครงสร้างสนับสนุนให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นในองค์กร

ไอบีเอ็มเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชูประเด็นที่ว่า องค์กรไหนอยากที่จะสร้างความแตกต่าง และอยู่รอดได้ในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น อย่างที่ Samuel J. Palmisano กล่าวเอาไว้ในสุนทรพจน์ว่า "องค์กรต้องรับมือกับโลกธุรกิจที่กำลัง 'แบนลง' สิ่งที่องค์กรต้องทำคือสร้าง 'กับดักหนูที่ดีกว่า' "

แม้จะไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของตนอย่างเห็นได้ชัด แต่ไอบีเอ็มก็เปลี่ยนแนวทางในการทำตลาด โดยการสอดแทรกเนื้อหาของการสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร และแนะนำให้องค์กรที่ตนพบปะเห็นความสำคัญและเร่งนวัตกรรมให้ได้

ตารางนัดพบระหว่างศุภจีและผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ยังแน่นขนัดเช่นเคย การพูดคุยยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์กรไอบีเอ็มเช่นที่ผ่านมา แต่ว่าสรุปสุดท้ายเมื่อแนวทางการดำเนินธุรกิจของไอบีเอ็มเปลี่ยนไป เนื้อหาที่ปิดท้ายอาจจะแถมพ่วงด้วยเรื่องที่ว่าด้วยการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างไรไปโดยปริยาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.