ณรงค์ สีตสุวรรณ กับโจทย์ข้อใหญ่ใน RATCH

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ณรงค์ สีตสุวรรณ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ RATCH ท่ามกลางนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนว่าบทบาทในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคตจะตกอยู่กับองค์กรใด หลังจากแผนการนำ กฟผ.เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นถูกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เป็นโมฆะ

ณรงค์ สีตสุวรรณ เพิ่งเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา แทนที่บุญชู ดิเรกสถาพร กรรมการผู้จัดการคนเดิม ที่ต้องกลับไปรับตำแหน่งรองผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เป็นการเข้ามารับตำแหน่งในชั่วเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้พระราชกฤษฎีกาแปรรูปกิจการ กฟผ.โดยการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นโมฆะ ซึ่งมีผลให้ กฟผ.ต้องกลับไปสู่สภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ

คำพิพากษาดังกล่าว มีผลต่อแผนการลงทุนของ กฟผ. ซึ่งจะต้องกลับเข้ามาสู่ข้อจำกัดของเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ในการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ท่ามกลางความวิตกกังวลของหลายฝ่าย ที่เกรงว่าการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคต

ความวิตกกังวลดังกล่าว ทำให้จุดสนใจของสังคมจึงโฟกัสลงมาที่ RATCH ซึ่งถือเป็นบริษัทลูกที่ กฟผ.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 45% เพราะดูเหมือน RATCH จะกลายเป็นแขนขาสำหรับการลงทุนที่มีบทบาทสำคัญแทนที่บริษัทแม่

และก็เช่นกันที่จุดสนใจของสังคมจะต้องโฟกัสมาที่ณรงค์ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะเบอร์ 1 ของ RATCH

แต่เพียงไม่ถึงสัปดาห์หลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งที่ RATCH คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (Regulator) ได้มีการปรับระเบียบการประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ใหม่ ซึ่งแนวทางหนึ่งในการปรับระเบียบดังกล่าวจะไม่ให้บริษัทลูก ของ กฟผ.คือ RATCH และบริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCOMP) มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว

แนวทางตามระเบียบการประมูลใหม่ดังกล่าว จึงขัดแย้งกับบทบาทในอนาคตของ RATCH ที่ถูกคาดหมายจากสังคมโดยสิ้นเชิง

"เรายังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว" เป็นคำตอบของณรงค์ต่อคำถามของ "ผู้จัดการ" ถึงบทบาทในอนาคต ของ RATCH ที่จะมีต่อแผนการลงทุนขยายกำลังผลิตไฟฟ้าทดแทนบทบาทของ กฟผ.

แม้ว่าในการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการของผู้บริหารของทั้ง 2 องค์กร เห็นพ้องในแนวทางที่ RATCH คงต้องเข้าไปมีบทบาทในการลงทุนทดแทน กฟผ. แต่ก็ยังไม่มีภาพที่ชัดเจนออกมาว่า RATCH จะต้องเข้าไปรับบทบาทอะไรบ้าง เพราะยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของฝ่ายพัฒนาธุรกิจ

ส่วนทางออกในการแก้ปัญหาการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้า IPP รอบใหม่ กรรมการ ผู้จัดการ RATCH ย้ำว่า พวกเขายังมีโอกาส ที่จะเข้าร่วมการประมูลแข่งขันกับผู้ผลิตไฟฟ้า เอกชนรายอื่นๆ ได้

"แม้ RATCH จะเป็นกิจการที่มี กฟผ. ถือหุ้นอยู่ 45% ก็ตาม แต่ราชบุรีโฮลดิ้งก็เป็น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสัญชาติไทย ที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทย และมีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค ประสบการณ์การบริหารธุรกิจผลิตไฟฟ้าและเงินลงทุน" ณรงค์อธิบายถึงจุดยืนของ RATCH ต่อประเด็นปัญหานี้

การเข้ามารับตำแหน่งใน RATCH ของณรงค์ จึงมีโจทย์ใหญ่รอให้ขบคิดอยู่มากพอสมควร!!!

ณรงค์เป็นสามีของศิริเพ็ญ สีตสุวรรณ กรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN)

เขาเริ่มต้นชีวิตใน กฟผ. ตั้งแต่ปี 2515 ไต่เต้าจากการทำงานในหน่วยงาน ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า ก่อนรับตำแหน่ง President หน่วยซ่อมบำรุง และเลื่อนขึ้น เป็น President ใน General Business ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รวมเอาธุรกิจโรงไฟฟ้า เหมือง เชื้อเพลิง และหน่วยซ่อมบำรุงกลางทั้งหมดเข้ามาไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ณรงค์ยังเคยนั่งเป็นกรรมการของ EGCOMP ด้วย

ทั้งณรงค์และภรรยาต่างมีเป้าหมาย ชีวิตการทำงานที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่ได้มุ่งหวังอยากขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในองค์กร แห่งใด เพราะต่างไม่ถนัดกับการทำงานเบื้องหน้า

"ตำแหน่งที่ผมได้มานี้ มันเกินจากเป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ผมเคยตั้งไว้อย่างมาก ผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น แต่เป้าหมายสูงสุดของผมอยู่แค่เบอร์ 2 ไม่ได้อยากเป็นเบอร์ 1" กรรมการผู้จัดการ RATCH วัย 58 บอก

"อาจเป็นเพราะนิสัยของผมก็ได้นะ คือผมไม่ค่อยชอบออกนอกหน้า ผมชอบทำตัวสบายๆ ไม่ชอบมีพีธีรีตอง เพราะสมัยเด็กผมมักจะถูกบีบบังคับให้ต้องไปงานโน้นงานนี้ ต้องแต่งตัวอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องทำตัวอย่างโน้นอย่างนี้จากคุณพ่อคุณแม่ซึ่งระเบียบจัดมากๆ พวกคุณหญิงคุณนายอะไรก็ไม่รู้ ผม against เรื่องนี้มากเลย"

ณรงค์ยังเป็นคนที่มีนิสัยชัดเจนอยู่อีกประการคือ หากเขาตั้งเป้าหมายที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เขามักจะพาตัวเองให้บรรลุสู่สิ่งที่เขาต้องการได้อยู่บ่อยครั้ง

เขาเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่โรงพยาบาลศิริราช เติบโตอยู่แถวๆ ตลาดท่าดินแดง ฝั่งธนบุรี

พ่อของเขาเคยทำงานอยู่ที่บริษัทรวมทุนไทย 1 ใน 5 บริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทยสมัยปี พ.ศ.2500 ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน ผู้เข้มงวดอย่างยิ่งกับการอบรมเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 4

มีความเป็นไปได้ว่าชีวิตวัยเด็กนั้น ณรงค์เป็นคนที่ค่อนข้างจะสุขสบาย เพราะที่บ้านสีตสุวรรณมีทั้งคนรับใช้ของแม่ และคนขับรถของพ่อ

ณรงค์เรียนชั้นมัธยม 1-3 ที่โรงเรียนวัดราชบพิตร ก่อนย้ายไปเรียนต่อจนจบชั้นมัธยม 8 ในโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์

ผลการเรียนในวัยเด็กของเขาไม่ค่อยดี เอามากๆ ต่างจากพี่ชายและพี่สาวอีก 3 คน

"ตอนเด็กๆ ผมนิสัยไม่ค่อยดี ค่อนข้าง เกเร ต้องเรียนห้องบ๊วยทุกปี มีอยู่หลายครั้งที่เกือบถูกให้ออกจากโรงเรียน เพราะผลการเรียนไม่ดี"

พี่ทั้ง 3 ของเขาสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด พี่ชายคนโตเรียนบัญชี พี่สาวคนที่ 2 เรียนแพทย์ ส่วนพี่สาวคนที่ 3 เข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ ความฝันของผู้เป็นพ่อจึงอยากเห็นลูกชายคนเล็กสอบติดจุฬาฯ เหมือนอย่างพี่ๆ จนตั้งเงื่อนไขว่าถ้าสอบได้จะซื้อรถให้ 1 คัน

เงื่อนไขดังกล่าว สร้างความมุ่งมั่นให้กับเขาจนสามารถสอบเข้าคณะวิศวกรรม ศาสตร์ จุฬาฯ ได้เป็นผลสำเร็จ

ณรงค์มีชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีสีสัน มีทั้งสอบตก ทะเลาะกับเพื่อนต่างคณะ แม้กระทั่งการทะเลาะกับคณบดี จนถึงขั้นถูก ไล่ออกจากห้องเรียน แต่เขาก็สามารถเรียนจบด้วยคะแนนสูงจนได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 ของคณะ

หลังเรียนจบณรงค์ไม่มีความคิดที่จะเรียนต่อ แต่อยากจะออกหางานทำ แต่ผู้เป็น พ่อต้องการให้เขาเรียนต่อ เพราะเกรงว่าเขาอาจจะออกเรือนเร็วเกินไป จึงตัดสินใจส่งเขาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา

วันที่เขาขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตรงกับวันที่ Neil Armstrong มนุษยอวกาศคนแรกของสหรัฐ อเมริกา ได้ก้าวเท้าลงเหยียบพื้นดวงจันทร์เป็นคนแรกของโลก

ชีวิตในสหรัฐอเมริกาของเขาค่อนข้างสมบุกสมบันไม่แพ้ในเมืองไทย เขาคบกับคนทุกระดับตั้งแต่ระดับอันธพาลไปจนถึงลูกของ คนมีฐานะจากเมืองไทย ที่ถูกส่งไปชุบตัว ในเมืองนอก ซึ่งทำให้เขามีความเข้าใจในเรื่องของการใช้ชีวิตเป็นอย่างดี

เขาเรียนต่อปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกลและอวกาศ (Mechanical and Aerospace Engeneering) ที่ Illinois Institue of Techonology โดยต้องเรียนหนักมากถึง 60 หน่วยกิต จากเงื่อนไขเบื้องต้นที่กำหนดไว้เพียง 33 หน่วยกิต และใช้เวลาเรียนนานถึง 6 เทอม เหตุเพราะ committee เห็นว่าเขายังไม่ควรจบเพราะมีบางวิชาที่อ่อนในบางด้าน จึงควรลงเรียนใหม่

หลังเรียนจบในปี 2515 ณรงค์เริ่มคิดจะหางานทำต่อในอเมริกา แต่ถูกพ่อเรียกตัวให้กลับเมืองไทย โดยเขาเริ่มสมัครงานที่ปูนซิเมนต์ไทย แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนวิถีชีวิตมาอยู่ใน กฟผ. ซึ่งเขาใช้เวลาในการทำงานที่นี่นานกว่า 30 ปี จนได้รับตำแหน่งใหม่ใน RATCH ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานที่เขาจะต้องใช้ความมุ่งมั่นครั้งใหญ่อีกครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.