|
ชำนาญ เมธปรีชากุล ตัดสินใจเร็วไป 2 วัน?
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ได้ใช้เวลาไปแล้วเกือบ 1 ปีเต็ม กว่าที่ชำนาญ เมธปรีชากุล จะตอบตกลงเข้ารับตำแหน่งในเอไอเอส แต่การตัดสินใจครั้งสุดท้ายของเขา เกิดขึ้นเพียง 2 วัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของชินคอร์ปตัดสินใจขายหุ้น 49% ให้เทมาเส็ก โฮลดิ้ง จากสิงคโปร์
"ผมมาคุยกับที่นี่ตั้งแต่ชั้น 27, 28 และ 29 ชั้น 27 นี่ผมคุยกับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งตอนนั้นยังเป็นกรรมการผู้อำนวยการและตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการด้านการตลาด ส่วนชั้น 28 คุยกับคุณสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย และชั้น 29 คุยกับคุณบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร หรือซีอีโอ กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ต้องเดินทางมาคุยครั้งละชั้น กินระยะเวลาเกือบหนึ่งปีเต็ม ไม่ใช่ว่าเขาจะรับเรา แล้วเราไม่ตัดสินใจ แต่ว่าเอไอเอสก็คงต้องมีระยะเวลาในการคิดทบทวน ที่สำคัญเอไอเอสเองก็อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยในเวลาเดียวกัน"
คำพูดของชำนาญ เมธปรีชากุล ที่บอกกับ "ผู้จัดการ" หลังมีโอกาสพบปะและนั่งพูดคุยกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดตัวต่อสาธารณชน ในฐานะรองกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด คนล่าสุดของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
บ่งบอกได้ดีถึงความเข้มงวดด้านระยะเวลา ที่ผู้บริหารของเอไอเอสใช้ในการคัดเลือกคนเข้ามานั่งตำแหน่งดังกล่าว เช่นเดียวกันกับความหมายโดยนัยของคำพูดที่แฝงเอาไว้ให้เข้าใจว่า คนคนนี้คงน่าสนใจและ profile ดีไม่น้อยถึงอยู่ในสายตา และผ่านด่านผู้บริหารที่นั่ง 3 ชั้นบนสุดของเอไอเอสมาได้
หลังการลาออกของกฤษณัน งามผาติพงษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายการตลาดเอไอเอส คนก่อนหน้าซึ่งปัจจุบันนั่งแท่น ซีอีโอของเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ แทนผู้ก่อตั้ง เครือเมเจอร์อย่างวิชา พูลวรลักษณ์ ผู้บริหาร ของเอไอเอสทั้ง 3 คน ณ เวลานั้น คือทั้งบุญคลี สมประสงค์ และยิ่งลักษณ์ ก็ยังมองไม่เห็นใครในบริษัทที่เก่งพอจะผลักดันให้นั่งแท่นตำแหน่งดังกล่าวแทนเขาผู้นี้ และเลือกที่จะใช้วิธีการปรับโครงสร้างผู้บริหารในระดับที่ต่ำลงมาอีกหลายครั้ง โอนย้ายสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกันไปมาให้เข้าที่ และให้ยิ่งลักษณ์รั้งตำแหน่งรักษาการตำแหน่งนี้เอาไว้ก่อนชั่วคราวนานนับปี
จนกระทั่งวันที่ 8 มีนาคม 2549 หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของชำนาญ ซึ่งเวลานั้นอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ใจความสรุปได้ว่า เขาผู้นี้เป็นผู้ที่ได้รับการทาบทามจากผู้บริหารของเอไอเอสให้เข้ารับตำแหน่งใหม่ นี่เองถือเป็นบทสรุปของความยาวนานหนึ่งปีแห่งความคลุมเครือและปิดคำถามคาใจให้กับใครอีกหลายคน ที่ตั้งตารออยู่ว่าใครที่จะมานั่งเก้าอี้นี้แทนกฤษณัน
"ผมยังนั่งอยู่ที่นี่ อนาคตก็ค่อยว่ากัน" คือคำพูดบางส่วนของเขาที่ถูกตีพิมพ์ในระยะนั้น ซึ่งสามารถตีความให้เข้าใจได้อย่างไม่ยากนัก
ชำนาญเป็นลูกหม้อเก่าแก่ที่ดูแลการตลาดของเดอะมอลล์ กรุ๊ป มาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น นับรวมเวลาที่ชำนาญอยู่กับเดอะมอลล์แล้วนานกว่า 17 ปี จากระยะเวลาของการก่อตั้งเดอะมอลล์ในประเทศไทยทั้งสิ้น 25 ปี
เขาผู้นี้เป็นบุคคลอันดับต้นๆ ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารของกลุ่มเดอะมอลล์ โดยเฉพาะศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานคณะกรรมการ สยามพารากอน และประธานกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้ไปบุกเบิกห้างเดอะมอลล์ในหลายๆ สาขาที่เกิดขึ้นในภายหลัง
ในปี 2532 ชำนาญร่วมงานกับเดอะมอลล์เป็นครั้งแรกด้วยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด เป็นปีเดียวกับที่เดอะมอลล์เปิดเดอะมอลล์ สาขาท่าพระ หรือเดอะมอลล์ 5 ก่อนในอีก 2 ปีต่อมาร่วมบุกเบิกห้างใหม่ย่านงามวงศ์วาน ในนามเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน หรือ เดอะมอลล์ 6
ไปจนถึงเดอะมอลล์ สาขาบางแค เดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ ที่เปิดตัวในปี 2537 และ พิสูจน์ฝีมือกับการทำตลาดที่สูงขึ้นด้วยการเปิดตัว ดิ เอ็มโพเรียม ในปี 2540 และเดอะมอลล์ สาขานครราชสีมา ซึ่งเปิดตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ชำนาญพิสูจน์ฝีมือตนเองจากการเป็นเพียงผู้จัดการฝ่ายการตลาดธรรมดา จนขยับมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้อำนวยการอาวุโส และผู้อำนวยการสายการตลาด โดยปิดฉากผลงานสายการตลาดกับเดอะมอลล์ด้วยผลงานสุดท้ายคือการเปิดตัวสยามพารากอน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก่อนตัดสินใจย้ายมารับตำแหน่ง ใหม่กับเอไอเอส
ชำนาญจบดีลกับเอไอเอสว่าตัดสินใจจะรับตำแหน่งใหม่ก่อนวันที่กลุ่มชินคอร์ปจะประกาศขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้ง, ธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มบริษัทกุหลาบแก้ว จำนวน 1,487 ล้านหุ้น หรือ 49.6% ของหุ้นทั้งหมด จนมีสิทธิ์เข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer) เอไอเอส ซึ่งชินคอร์ปถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วยเพียง 2 วัน
บ่ายสองโมงครึ่งของวันที่ 23 มกราคม 2549 ขณะที่บุญคลี ปลั่งศิริ และผู้บริหารจากกลุ่มที่เข้าซื้อหุ้นของชินคอร์ปทั้งหมดนั่งบนเวทีแถลงข่าวเพื่อชี้แจงต่อหน้าสื่อมวลชนนับร้อยๆ ชีวิตถึงข่าวการสละหุ้นทั้งหมดออก จากมือของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์
เป็นเวลาเดียวกันกับที่ชำนาญนั่งประชุมอยู่กับสมาคมการตลาด โดยที่คนในวงสนทนาไม่ทราบข่าวการตัดสินใจมารับตำแหน่งในบริษัทที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมและในวงสนทนาในเวลานั้นเลยแม้สักนิด
เขายอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า การตัดสินใจในเวลานั้นปราศจากข้อมูลว่าเอไอเอสจะถูกเข้าครอบงำกิจการจากกลุ่มทุนในสิงคโปร์ แม้จะจบดีลไปแล้ว แต่กว่าจะเข้ารับตำแหน่งก็คือวันที่ 1 มีนาคม 2549 หลังจากนั้นอีก 2 เดือน เขาเองก็รู้สึกกังวลไม่น้อยว่าระหว่างทางจะเกิดความเปลี่ยน แปลงขึ้นในองค์กรที่เขาเพิ่งตัดสินใจมารับ ตำแหน่งใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะตัวเขาเอง ซึ่งแม้จะตกปากรับคำแต่ก็ยังไม่ได้มีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นข้อผูกมัดชัดเจน
การตัดสินใจมาร่วมงานกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศ ด้วยระยะเวลาคาบเกี่ยวกับเกิดเหตุการณ์การประกาศขายหุ้นเพียงสองวัน จนภายหลังบริษัทที่เขาจะต้องทำงานด้วยตกเป็นที่วิพากษ์ของสังคมในวงกว้างย่อมส่งผลกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับวัย 49 ปีของเขาผู้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เขากลับยกให้เหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ข่าวรั่วว่าเขาจะมารับตำแหน่งในเอไอเอส การประกาศขายหุ้นของกลุ่มชินเป็นโอกาสที่ตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
"ชีวิตตอนนั้นสับสนมาก เป็นอะไรที่บอกไม่ได้ อ้ำอึ้ง แต่ก็รับปากไปแล้ว มันเหมือนครั้งหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ หากทางนี้ตอบตกลงรับเรา ก็เหมือนกับพิสูจน์แล้วว่าเราเองก็มีคุณค่า ต่อไปจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ก็ถือว่าน่ามาลอง ส่วนเรื่องขายหุ้น สำหรับผมเฉยๆ นะ กลัวอย่างเดียวว่าหากเขาเปลี่ยน management แล้ว ผมเองอยู่ระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนใจอะไรทั้งสิ้นเพราะถือว่าได้ตัดสินใจลงไปแล้ว" ชำนาญเปิดใจถึงความรู้สึกของเขาในระยะเวลาที่ผ่านมา
เมื่อครั้งเปิดตัวต่อสื่อมวลชนสายเทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อมวลชนสายตลาดในฐานะผู้บริหารของเอไอเอสอย่างเป็นทางการวันแรกเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เข้าทำงานในบริษัทได้เพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นดูเหมือนชำนาญถูกซักถามถึงความสามารถของเขาในตำแหน่งนี้จากบรรดาสื่อมวลชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายคนมองว่า การที่เขาดูแลตลาด ห้างสรรพสินค้ามาตลอดระยะเวลา 17 ปี ไม่รวมการตลาดในสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ อีก 9 ปี จะเหมาะสมกับตำแหน่งที่ถูกมองมาตลอดว่า ผู้ที่จะมานั่งได้ต้องเชี่ยวชาญและรู้จักเทคโนโลยีไร้สายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่รับตำแหน่งก่อนหน้าที่เป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับเอไอเอสมาตลอดระยะเวลาหลายปี
"ผมเองไม่ได้ผูกติดกับสินค้า แต่ผูกอยู่กับความเป็น marketing หรือการตลาดมากกว่า สมัยที่เรียนต้องทำ internship dubbing company สมัยนั้นผมแบกกระเป๋าไปตามโรงงานขายจาระบีมาแล้ว เจียบ็อกซ์ให้ดูแล้วถึงขายได้ ผมขายปากกา ขายอะไรอีกตั้งมากมายตลอด ระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าการตลาดทำอะไรได้ แต่อย่าได้เปลี่ยนมุมมองที่ว่าคุณต้อง ขาย ต้องตอบสนองลูกค้า จริงๆ แล้วผมกำลังขายของให้กับลูกค้าคนเดิมของผม ลูกค้าของ ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นลูกค้าของผมมาตลอดที่ทำงานที่เดอะมอลล์ ก็มีโทรศัพท์มือถือเหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนตัวสินค้าไปเท่านั้นเอง มันคือคนเดิมเพียงแต่เราเปลี่ยน topic เท่านั้น" ชำนาญตอบ
"โทรศัพท์มีสาระ และคุณค่ามากกว่าการคำนวณว่าคุยไปแล้วกี่นาที" คือความพยายาม ในการทำตลาดให้กับเอไอเอสของชำนาญนับจากนี้เป็นต้นไป
เขาเชื่อว่า การตลาดของเอไอเอสในแนวทางของเขา ต้องเป็นการตลาดที่ง่าย ทั้งความ ง่ายที่จะสัมผัส และรับรู้ แม้จะยอมรับว่าการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เป็นสิ่งที่ยากอย่างปฏิเสธไม่ได้
"สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือผมเชื่อว่าผมจะช่วยให้ที่นี่เกิดแนวความคิดในเชิงกลยุทธ์มากขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผมเชื่อว่าผมช่วยได้ ผมเป็นตัวแทนของลูกค้าที่โง่ที่สุด ทำให้ผมช่วยได้ ไม่ได้ถามเพียงอย่างเดียวว่า คุณทำอันนี้ไปเพราะอะไร"
ชำนาญเพิ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับเอไอเอส หลังจากตัดสินใจนำทีมการตลาด ของเอไอเอสกว่า 300 ชีวิตออกตลาดเป็นหนแรกอย่างที่เอไอเอสไม่เคยทำมาก่อน ในวันเปิดตัวโปรโมชั่นใหม่ "เอาไปเลย" เมื่อสอง เดือนที่ผ่านมา
เขาให้พนักงานแบ่งเป็นกลุ่มและลงสำรวจตลาด 15 เขตในกรุงเทพมหานครทุกสัปดาห์ ไปดูตลาด ไปดูสิ่งที่ทำว่าได้ผลอย่างไร และได้ผลอย่างที่บริษัทต้องการหรือไม่
และหากคาดเดาไม่ผิด เขาคงเป็นผู้บริหารที่นั่งตำแหน่งนี้คนเดียวกระมังที่ออกตัวเมื่อครั้งพบปะพนักงานพร้อมยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันประกาศ kickoff plan ประจำปี ว่า
"ที่นี่ศัพท์แสงเยอะไปหมด อาจจะดูเหมือนผมโง่ๆ หน่อยนะแต่ว่าผมจะพยายาม"
นี่แหละคือผู้บริหารคนใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นเบอร์สามของเอไอเอส ในยุคที่พ้นจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เบอร์สามคนก่อนหน้าและผู้ที่จะมากุมชะตาการตลาดของเอไอเอส นับจากนี้เป็นต้นไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|