ปะหน้าถนอม อังคณะวัฒนา วันนี้คงจะไม่ค่อยจะคุ้นตากันนัก สำหรับผู้ที่เคยพบปะกับเขาในฐานะ
ประธานกรรมการบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
เพราะแทนที่จะมีสีหน้าขาวนวลเหมือนคนนั่งอยู่แต่ในห้องแอร์ ยิ่งช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่มีอะไรให้ทำอย่างนี้แล้ว
ถนอมกลับกลายเป็นคนเข้มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา แต่ความไวและรอบรู้ในสิ่งรอบตัวยังคงเดิม
"ปีนี้เราทุ่มที่ตลาดไทที่เดียว เพราะภาวะอย่างนี้ไปทำอย่างอื่นก็ไม่กระเตื้อง
ผมกับทีมงานก็ต้องมาลงพื้นที่กันด้วย" ถนอมกล่าวถึงสาเหตุที่ผิวเขาเข้มขึ้น
โครงการตลาดไท บนเนื้อที่ 500 ไร่ บริเวณถนนพหลโยธิน กม.42 เป็นศูนย์ค้าส่งและค้าปลีกพืชผลเกษตร
ที่ถนอมจะทำให้มีความครบวงจรในเรื่องของผลิตภัณฑ์เกษตรแห่งแรกของเมืองไทย
เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2538 โดยร่วมทุนกับอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศรวม
4 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด หรือ เทโก้
ซึ่งถนอมรับเป็นประธานกรรมการบริหาร
และนี้เอง เป็นเหตุให้ถนอมต้องเปลี่ยนจากการติดต่อกับ ธ.อ.ส. หรือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์อยู่เป็นประจำ
กลายสภาพมาเป็น "เกษตรกรชั่วคราว" ที่ต้องมีการติดต่อกับ ธ.ก.ส.
แทน
"ผู้จัดการ" เคยเขียนถึงตลาดไทครั้งหนึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ครั้งนั้นเราพูดถึงกลยุทธ์การดึงพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาค้าขายในตลาดไทว่า ผู้ค้าพืชผลเกษตรทั่วภูมิภาคของประเทศจะมารวมตัวกันได้อย่างไร
ซึ่งส่วนหนึ่งนอกจากการวางแผนและดูงานอย่างหนักของทีมบริหารตลาดไท ก็คือโปรโมชั่นด้วยการแจกเงินค่าน้ำมันรถ
ทั้งรถผู้ซื้อและรถผู้ขายที่เข้ามาทำการค้าในตลาดไท และคงเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ดีและยังมีอีกเป็นช่วง
ๆ
"ผมคุ้นกับตลาดมาตั้งแต่เด็ก บ้านผมที่จันทบุรีเดินออกไปไม่กี่ก้าวก็เป็นตลาด
แถมที่บ้านก็มีสวนพวกเงาะ ทุเรียน ทำให้ผมคุ้นเคยกับพวกพ่อค้าแม่ค้าดี โดยมีหลักง่าย
ๆ ให้จำไว้ว่าถ้าคุณจะทำตลาด คุณต้องทำ 4 อย่างนี้ให้ได้ คือ หนึ่งหาคนมาขาย
สองหาคนมาซื้อ สามให้คนขาย ๆ มีกำไร และสี่ให้คนซื้อไปขายมีกำไร เท่านั้นเอง"
คำพูดของถนอม ที่กล่าวจนติดปากอยู่เสมอ ขณะมาเดินชมตลาดไท พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า
แต่ที่ตนมารู้จักและเข้าใจปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริงก็เมื่อครั้งไปทำสวนเกษตร
เพราะเห่อตามแฟชั่นอยู่พักหนึ่ง เมื่อประมาณ 4 ปีก่อนที่บ้านเกิดเมืองจันท์
และให้บังเอิญว่าอยากจะช่วยแก้ปัญหาที่เห็น ด้วยการทำตลาดค้าส่งที่เป็นศูนย์กลางขึ้นมาสักแห่ง
"ตอนนั้นผมร่วมกับคุณสายัณห์ มั่นเหมาะ ทำโครงการบางใหญ่ซิตี้อยู่ด้วย
ก็เลยใช้ที่ด้านหน้า 60 ไร่ ลองทำตลาดค้าส่งที่เป็นศูนย์กลางดู แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะพื้นที่ไม่พอสำหรับตลาดกลางค้าส่ง มันเล็กไป และบางใหญ่ ฯ ก็ไม่ใช่ทำเลที่ออกแบบไว้สำหรับตลาดกลาง
เพราะผู้ค้าที่ไปมาได้สะดวกมีเพียงคนจากฝั่งตะวันตกและใต้ของกรุงเทพฯ เท่านั้น"
ถนอมกล่าว
ขณะเดียวกันแม้จะไม่ประสบความสำเร็จกับตลาดแรก ถนอมก็ยังได้แรงหนุนจากภาครัฐบาล
ที่อยากจะให้ประเทศไทยมีศูนย์ค้าส่งพืชผลเกษตรอย่างแท้จริงขึ้นมาบ้าง ทั้ง
ๆ ที่เป็นเมืองเกษตรกรรมแท้ ๆ
"ผมมองเห็นทางเป็นไปได้ ประมาณปี 2537 ก็ลองหาทำเล ซึ่งมาลงเอยที่นี่เพราะเป็นจุดที่มีวงแหวนรอบนอกตัดผ่าน
ทำให้ผู้ค้าขายมาได้จากทุกภาค ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน หาซื้อที่ได้ 1,000
ไร่ ก็เริ่มลงมือทำ ศึกษาและดูงานทั้งในและต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น ฮอลแลนด์
ทุกที่ที่มีตลาดแบบที่เราต้องการ"
ดังนั้น สัดส่วนพืชผัก ผลไม้ จากตลาดไท ที่ส่งออกไปทั่วประเทศจึงกระจายได้ถึง
85% ที่เหลือกระจายไปในกรุงเทพฯ ประมาณ 25%
"หากคุณสังเกตในแต่ละวัน ประมาณ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป ที่นี่จะมีรถจากทั่วทุกภาคเข้ามาขายและซื้อ
ตอนนี้เฉลี่ยวันละ 10,000 คัน แต่เราเตรียมพื้นที่ให้รับรถได้ 25,000 คัน
วันหนึ่งๆ มีเงินหมุนเวียนจากการซื้อขายหลายร้อยล้าน รถสิบล้อบางคันขนเงินมาซื้อวันละ
1 ล้าน หรืออย่างร้านขายปลาร้าก็ขายได้เฉลี่ยวันละ 1 แสนเศษ หรือ 2 แสนขึ้นถ้าขายดี
"
ถนอมเล่าให้ฟังถึงภาวะการซื้อขายในตลาด และกล่าวเสริมว่าเรื่องเงินที่สะพัดในการซื้อขายทางโครงการก็มีการดูแลป้องกันความปลอดภัยไว้บางส่วนแล้ว
พร้อมกับให้ข้อสังเกตว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ารถคันไหนมาซื้อ คันไหนมาขาย
ก็ดูได้จาก ถ้าเป็นรถผู้ขายสินค้าจะเป็นชนิดเดียวกันทั้งคัน แต่ถ้าเป็นรถผู้ซื้อสินค้าจะคละ
ๆ กันไปหลาย ๆ ชนิด
"วิธีการซื้อขายจะมีตั้งแต่เดินดูตามอาคารแยกประเภทสินค้าอย่างส้ม
สับปะรด แตงโม หรืออาคารผัก ผลไม้รวม ลานรถเร่ หรือตัดซื้อกันท้ายรถผู้ขายที่ขนมาโดยยังไม่ต้องวางแผง
บางทีถ้าต้องการเป็นคันรถอย่างส้ม ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกันที่ตลาดจริง แต่สินค้าไม่จำเป็นต้องมา
เขาใช้มือถือสั่งตัดจากแหล่งไปปลายทางได้เลย" ถนอมเล่าง่าย ๆ ถึงการซื้อขาย
วงจรการขายจะเริ่มมาจากเกษตรกรผู้ผลิต ไปสู่พ่อค้าคนกลางท้องถิ่น พ่อค้าคนกลางสู่ตลาดค้าปลีกหรือห้าง
ไปยังผู้บริโภค และถูกสุดที่รถเร่ขายตามบ้าน แต่ถ้ายังอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
การซื้อขายราคาจะไม่ต่างกัน
"พ่อค้าที่มาขาย จะไวมาก ก่อนรถจะถึงลานจอดเขาจะใช้โทรศัพท์มือถือโทรถามกันก่อนแล้วว่า
ราคาสินค้าวันนี้เท่าไร เดินเช็กได้ตั้งแต่หัวแถวจรดปลายแถวราคาจะเท่ากันหมด
กลายเป็นกลไกการกำหนดราคาโดยอัตโนมัติของกลุ่มผู้ค้า ซึ่งสามารถส่งราคาสินค้ากลางโดยเฉลี่ยให้กับกรมการค้าฯ
ได้ ในขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครกำหนดราคากลางพวกนี้ได้" ถนอมกล่าว
และยังเล่าเลยไปถึงวงจรอัตโนมัติของผลไม้ที่จะเลี่ยงกันไปเองให้ฟังว่า
ผลไม้ไทยจะหนีช่วงกัน อย่างส้มแม้จะมีทั้งปี แต่ถ้าสังเกตให้ดี ช่วงที่เงาะ
ทุเรียน มังคุด ออกขาย ส้มจะซาไป เพราะเป็นผลไม้ที่ตรึงไว้ได้นาน เช่นเดียวกับองุ่นที่มีตลอด
แต่หากเป็นช่วงลำใย ลองกอง ลองสาดมาเมื่อไร องุ่นก็จะน้อยลงไปเช่นกัน แล้วส้มกับองุ่นก็จะหลับมาเมื่อสินค้าตัวอื่นค่อย
ๆ หมดฤดูกาลลง
ถึงวันนี้ หากจัดตลาดไทเข้ากลุ่มของการพัฒนาที่ดินด้วยแล้ว ก็คงจะเรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ขายดีที่สุด
สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ ในยุคซบเซาเช่นที่เป็นอยู่นี้ เพราะแม้จะยังไม่เห็นตัวเลขรายได้ที่แน่ชัด
แต่ในระยะยาว "โครงการนี้เก็บกินจนตายก็ไม่หมด"
แต่กระนั้นก็ตาม ผู้บริหารเองกลับยังไม่วางใจ โดยกล่าวกันว่า จะวางใจได้ก็ต่อเมื่อ
สิ่งนี้แล้วเสร็จเสียก่อน ทั้งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของอาคารพาณิชย์ในโครงการ
การขยายพื้นที่อาคารสินค้าต่าง ๆ ให้ครบตามแผนที่กำหนดในพื้นที่ 500 ไร่
การมีโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรที่ครบวงจรเป็นรูปร่างชัดเจน
ที่สำคัญ แผนงานที่จะใช้ "ตลาดไท" เป็นตัวเสริมความเด่นของทำเลให้กับโครงการมินิแฟคตอรี่
ที่จะเกิดในเวลาอันใกล้ ของบริษัทโมเดอร์นโฮม ฯ ที่วางแผนกันไว้คร่าว ๆ สำหรับพื้นที่ติดกันอีก
500 ไร่ ที่ซื้อเผื่อไว้นั้น
จะได้รับการตอบรับอย่างดี เหมือนความสำเร็จที่ "ถนอม อังคณะวัฒนา"
ได้ไปเต็ม ๆ จากตลาดไทหรือไม่ ยังต้องรอดูกันต่อไป